“กรมทางหลวง” ทุ่ม 2.5 แสนล้าน ก่อสร้าง “มอเตอร์เวย์” 5 เส้นทางฟื้นเศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“กรมทางหลวง” ทุ่ม 2.5 แสนล้าน ก่อสร้าง “มอเตอร์เวย์” 5 เส้นทางฟื้นเศรษฐกิจ

Date Time: 28 ต.ค. 2564 06:30 น.

Summary

  • “กรมทางหลวง” เทหมดหน้าตัก อัดงบลงทุน 2.5 แสนล้านบาท ผุดโครงข่ายมอเตอร์เวย์ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯปริมณฑล ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางของประชาชนในหลายๆพื้นที่ทั่วประเทศ

Latest

ราคาที่แนวรถไฟฟ้าขยับขึ้น ธอส. ชี้ส่งสัญญาณธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัว

“กรมทางหลวง” เทหมดหน้าตัก อัดงบลงทุน 2.5 แสนล้านบาท ผุดโครงข่ายมอเตอร์เวย์ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯปริมณฑล ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางของประชาชนในหลายๆพื้นที่ทั่วประเทศ เดินหน้าสร้างมอเตอร์เวย์ป้ายแดงอีก 5 เส้นทาง มั่นใจโครงการก่อสร้างทั้งหมดนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

นายธนศักดิ์ วงศ์ธนากิจเจริญ ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง เปิดเผยแผนลงทุนพัฒนาโครงข่ายทางหลวง พิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ให้เห็นกันว่า การลงทุนมอเตอร์เวย์ยังเป็นโครงการหลักที่จะต้องเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และย่นระยะเวลาเดินทางจากส่วนกลางออกไปยังต่างจังหวัด และอยู่ในแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี (ปี 2560- 2579) ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยแบ่งได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่

เร่งรัด 3 โครงการเปิดใช้ปี 66

ส่วนแรกการเร่งรัดติดตาม โครงการลงทุนไปแล้ว ให้เสร็จได้ตามแผนที่กำหนด ที่ปัจจุบันมี 3 โครงการ ระยะทางรวม 317 กิโลเมตร (กม.) ได้แก่ โครงการ M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. มูลค่า 62,453 ล้านบาท ปัจจุบัน ก่อสร้างก้าวหน้า 63% งานระบบ และการดำเนินงานวางระบบและบำรุงรักษา (O&M) รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Gross Cost) หรือการที่ภาครัฐจัดเก็บรายได้ทั้งหมดและชดเชยค่าตอบแทนให้บริษัทเอกชนตามค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงาน ที่ได้ลงนามสัญญาไปแล้วเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา และจะเปิดให้บริการในปี 2566 และเริ่มเก็บค่าโดยสารปี 2567

ขณะที่โครงการ M6 บางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. มูลค่า 81,121 ล้านบาท ขณะนี้งานโยธาก่อสร้างก้าวหน้าแล้ว 95% ส่วนงานระบบ และ O&M รูปแบบ PPP Gross Cost ลงนามสัญญาไปแล้วเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

เริ่มส่งมอบพื้นที่และเริ่มงานเดือน ธ.ค. คาดจะเปิดบริการปี 2566 และเริ่มเก็บค่าโดยสารได้ปี 2567 โครงการ M82 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. มูลค่า 32,220 ล้านบาท งานโยธาช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ก่อสร้างก้าวหน้าไปแล้ว 51% งานโยธาช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว เริ่มก่อสร้างปลายปีนี้ โดยใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางเพื่อดำเนินการ ส่วนงานระบบทั้งโครงการ พร้อม O&M ที่อยู่ระหว่างสรุปรูปแบบร่วมลงทุน และคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในปี 2568

มอเตอร์เวย์ป้ายแดง 5 เส้นทาง

ถัดมาเป็นโครงการมอเตอร์เวย์สายใหม่ ที่กรมทางหลวง ได้บรรจุในแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (ปี 2560-2579) ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอขออนุมัติโครงการ ในรูปแบบร่วมทุนแบบ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) มีทั้งหมด 5 โครงการ วงเงินลงทุน 250,000 ล้านบาท จะเริ่มทยอยลงทุนได้ปี 2565-2570 ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า และทำให้เกิดการจ้างงานได้เพิ่ม มีรายละเอียด ดังนี้

1.มอเตอร์เวย์วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก (M9) วงเงินลงทุน 79,060 ล้านบาท ระยะทางรวม 37 กม. แบ่งเป็นช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง กำลังขออนุมัติรูปแบบร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ส่วนช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ดำเนินการออกแบบเสร็จแล้ว จะเริ่มก่อสร้างระหว่างปี 2566-2568, 2.ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 27,800 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมสรุปผลศึกษาเพื่อเสนอขออนุมัติรูปแบบร่วมทุน PPP คาดว่าจะเสนอรูปแบบลงทุนให้คณะกรรมการ PPP ได้ในปีนี้ โดยมีแผนก่อสร้างในปี 2566-2569, 3.มอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ (M8) ระยะทาง 119 กม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับปรุงรูปแบบและขอบเขตการดำเนินโครงการตามมติของคณะกรรมการ PPP คาดแล้วเสร็จกลางปีหน้า เริ่มก่อสร้างในปี 2566 แล้วเสร็จปี 2567

4.มอเตอร์เวย์ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ (M7) ระยะทาง 18.50 กม. วงเงินลงทุน 29,550 ล้านบาท ขณะนี้ได้ศึกษารูปแบบ PPP และรายละเอียดเสร็จแล้ว แต่อยู่ระหว่างการแก้ไขรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 5 .มอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย (M84) ระยะทาง 62.60 กม. วงเงินลงทุน 40,787 ล้านบาท ปัจจุบันศึกษารูปแบบการร่วมลงทุน PPP เสร็จแล้ว มีแผนดำเนินงานก่อสร้างระหว่างปี 2567-2570

ลงทุนพีพีพีพัฒนาที่พักริมทาง

ขณะเดียวกัน แผนงานสุดท้ายเป็นการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาที่พักริมทาง จำนวน 5 เส้นทาง โดยมีทั้งจุดพักรถ สถานที่บริการทางหลวง และศูนย์บริการทางหลวง เส้นทางแรก คือ M7-1 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง โดยช่วงกรุงเทพฯ-ชลบุรี ได้เปิดให้บริการแล้ว ทั้งจุดพักรถลาดกระบัง กม.21+700 และสถานที่บริการทางหลวงบางปะกง กม.49+300

ขณะที่เส้นทาง M7-2 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงชลบุรี-พัทยา เปิดให้บริการแล้วจุดพักรถหนองรี กม.72+500 ส่วนที่ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา กม.93+750 อยู่ระหว่างเสนอขอรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน คาดเปิดบริการได้ปี 2567

ถัดมาเป็นเส้นทาง M7-3 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง โดยช่วงพัทยา-มาบตาพุด จุดพักรถมาบ ประชัน กม.119+20 ได้ออกแบบเสร็จแล้ว และจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมบริหารเชิงพาณิชย์ ส่วนอีกจุดสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง กม.137+800 อยู่ระหว่างเสนอขอรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน คาดเปิดใช้ได้ปี 2567 ส่วนเส้นทาง M6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา กำลังจัดทำผลการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน คาดว่า จะเปิดบริการได้ปี 2566 และเส้นทาง M 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี กำลังจัดทำผลการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน คาดเปิดบริการได้ในปี 2566

“แผนการลงทุนมอเตอร์เวย์ทั้งหมดของกรมทางหลวง เชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้าให้กลับมาขยายตัวได้ ตลอดจนช่วยยกระดับศักยภาพ ระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ