ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.64 เพิ่มยกแผง และเพิ่มครั้งแรกในรอบ 7 เดือน หลังรัฐผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด แต่กำลังซื้อผู้บริโภคยังไม่ฟื้น เหตุน้ำท่วม–การเมือง–น้ำมันแพงเข้ามาซ้ำเติม ขณะที่ดัชนีหอการค้า ยังกู่ไม่กลับ ร่วงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.64 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวดีขึ้น และเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.64 อยู่ที่ 41.1 เพิ่มจาก 39.6 ในเดือน ส.ค.64 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบัน อยู่ที่ 25.5 เพิ่มจาก 24.3 ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 48.9 เพิ่มจาก 46.7 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 35.5 เพิ่มจาก 33.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางาน อยู่ที่ 37.8 เพิ่มจาก 36.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 50.8 เพิ่มจาก 48.6
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นทุกรายการ มาจากรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการ อนุญาตให้เปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น ประกอบกับการติดเชื้อโควิด-19 ลดลง การฉีดวัคซีนคาดว่าสิ้นปี 64 จะครอบคลุมประชากรได้ 70% อีกทั้งยังมีมาตรการเพิ่มกำลังซื้อ และกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐผ่านโครงการต่างๆ เช่น คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ ม.33-39-40 ฯลฯ ทำให้คนมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น
“แม้ว่าความเชื่อมั่นดีขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้การบริโภค การจับจ่ายซื้อสินค้ากลับมาได้อย่างรวดเร็ว ดัชนีหลายตัวยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 ค่อนข้างมาก ดังนั้น ต้องดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบได้มากกว่านี้หรือไม่ ส่วนประเด็นการเปิดประเทศ ต้องดูว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหน เพราะหากเปิดแต่ละจุด จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในระยะ 2 เดือน ประมาณ 200,000-300,000 คน จะเกิดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้ 10,000-20,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.05-0.1%”
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยสำคัญ คือ สถานการณ์น้ำท่วม จะสามารถคลี่คลายได้เร็วหรือไม่ ราคาน้ำมันในประเทศ ปัญหาการเมืองในประเทศ รวมถึงสถานการณ์โควิดในประเทศ ที่จะบั่นทอนความเชื่อมั่นได้ อย่างไรก็ตาม หากโควิดคลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น น้ำท่วมคลี่คลาย กระจายการฉีดวัคซีนได้เร็วและครบตามเป้าหมาย อัตราการเสียชีวิตน้อยลง จะมีผลต่อความเชื่อมั่น และโอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้อยู่ที่ 1-1.5%
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ที่สำรวจจากสมาชิกหอการค้าไทยทั่วประเทศ เดือน ก.ย.64 อยู่ที่ 19.4 ลดลงจาก 19.8 ในเดือน ส.ค.64 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นลดลงทุกภูมิภาค และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เพราะวิตกกังวลโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา,ผลกระทบจากน้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตร, ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้ายังทรงตัวในระดับสูง, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกชนิด
“ผู้ประกอบการมองว่า กำลังซื้อของประชาชนยังซึมตัวต่อเนื่อง จากปัญหาหนี้ครัวเรือน การจ้างงานที่ยังไม่เต็มที่ นักท่องเที่ยวยังมาไทยไม่เต็มที่ เป็นตัวกัดกร่อนโครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัด แม้จะมีการคลายล็อกดาวน์บ้าง แต่ยังไม่ช่วยให้ภาคธุรกิจมีมุมมองเชิงบวก สินเชื่อก็ยังเข้าไม่ถึง รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใหม่ๆ ที่หวือหวา ต้องรอดูช่วงการหาเสียงเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพราะอาจจะมีผลช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้ 20,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งจะพลิกเศรษฐกิจในช่วงปลายเดือน ต.ค.ถึงปลายเดือน พ.ย.นี้ได้ ปัจจัยนี้เป็นตัวกระตุ้น อาจทำให้เศรษฐกิจคึกคักได้บ้าง”
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐเร่งผ่อนคลายมาตรการให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิม หรือใกล้เคียงเดิม, เร่งจัดหาวัคซีนให้มีเพียงพอ, ออกมาตรการที่รัดกุมรองรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว, จัดเตรียมแผนการกักเก็บน้ำ และระบายน้ำให้สมดุล เป็นต้น.