ททท.ประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 2564 ถือเป็นจุดต่ำสุดของการท่องเที่ยวไทย จากเป้า 3 ล้านคน ต่างชาติน่าจะเหลือแค่ 1 ล้านคน ส่วนคนไทยเที่ยวในประเทศจากเป้า 120 ล้านคน/ครั้ง เหลือ 60 ล้านคน/ครั้ง รายได้รวมอยู่ที่ 328,758 ล้านบาท เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด เคยมีรายได้แตะ 3 ล้านล้านบาท หวังฟื้นแบบ V Shape
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานสัมมนาบางกอกโพสต์ ฟอรั่ม 2021 ว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในปี 2564 น่าจะเป็นจุดต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวของประเทศไทย หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนักมาตลอดทั้งปี โดย ททท.ประเมินล่าสุดพบว่ารายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งปีนี้จะลดต่ำสุดเหลือเพียง 328,758 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยแค่ 60 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ 320,500 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 100,000 คน รายได้ 8,258 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้จะมีคนไทยเที่ยวในประเทศ 120 ล้านคน/ครั้ง ก่อนปรับลดลงเหลือ 100 ล้านคน/ครั้ง เมื่อเดือน มิ.ย.2564 และนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 3 ล้านคน ก่อนจะปรับลดลงเหลือ 1.2 ล้านคน ในเดือน มิ.ย. ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 2.99 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.92 ล้านคน สร้างรายได้ 1.91 ล้านล้านบาท และคนไทยเที่ยวในประเทศ 172 ล้านคน/ครั้ง รายได้ 1.08 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นับว่ามีข่าวดีในข่าวร้าย คือ ประเทศไทยน่าจะผ่านจุดต่ำที่สุดของการท่องเที่ยวแล้ว และคงต้องทำใจกับตัวเลขที่เกิดขึ้น ส่วนในปี 2565 การท่องเที่ยวน่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 ส่วนในปี 2566 ประเมินว่า การท่องเที่ยวน่าจะกลับมาได้ประมาณ 80% จากปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนมีการระบาดของโรคโควิด-19 แต่การกลับมานั้นจะไม่ได้เป็นไปในรูปแบบเดิม เพราะการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปตามบริบท และเทรนด์การเดินทางที่เปลี่ยนไป ทั้งจากเรื่องโรคระบาด และเทคโนโลยี โดยต่อไปเราจะไม่ได้เห็นการเดินทางเข้ามามาก เช่น ในปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเข้ามาลดลงครึ่งหนึ่งจากปี 2562 หรือประมาณ 20 ล้านคนเท่านั้น แต่รายได้ยังคงใกล้เคียงกับเดิม ซึ่งเท่ากับว่าต้องเจาะตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพให้มากขึ้น
ผู้ว่าการ ททท.กล่าวว่า แม้ตัวเลขในปี 2564 จะถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่ก็มีช่องทางในการสร้างโอกาสใหม่เกิดขึ้นได้ เพื่อให้การท่องเที่ยวฟื้นกลับมาโตได้อย่างยั่งยืน เบื้องต้น ททท.ได้กำหนดทิศทางการดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้การท่องเที่ยวพลิกกลับมาได้ในลักษณะของวีเชพ (V Shape) หรือการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น ภายใต้แผนลุกให้เร็ว ก้าวให้ไว และวางรากฐานการส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และมีมูลค่าสูง โดยเฉพาะในปี 2565 ที่รัฐบาลประกาศให้เป็น “ปีท่องเที่ยวไทย 2565 อะเมซิ่ง ยิ่งกว่าเดิม” หรือ “Visit Thailand Year 2022”
สำหรับแนวทางการพลิกฟื้นมีเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งทำ เริ่มจากการสนับสนุนผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กลับมาประกอบธุรกิจได้ตามศักยภาพ ทั้งการจัดหาวัคซีนให้กับบุคลากร การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อุปทาน การเสริมสภาพคล่อง และการเสริมทักษะให้ผู้ประกอบการ ต่อมาคือ การกระตุ้นการเดินทางในประเทศให้ถี่ขึ้น จากเดิมที่เฉลี่ย 1 คนเที่ยวปีละไม่ถึง 3 ครั้ง ให้เพิ่มความถี่มากขึ้น เช่นเดียวกับการทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ การสร้างความเชื่อมันด้านความปลอดภัยและภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย และการปรับเปลี่ยนการท่องเที่ยวสู่รูปแบบใหม่ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัล และการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบด้วย.