นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบาย การกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ มีความคืบหน้าดังนี้ โครงการสมัครใจปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจากเดิมในช่วงโควิดครั้งแรกเดือน ก.ค.63 มีลูกหนี้ที่เข้ามาตรการสูงสุด 12.5 ล้านบัญชี ล่าสุดเดือน ก.ค.64 มีลูกหนี้เหลือภายใต้มาตรการ 5.12 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.35 ล้านล้านบาท โดยลูกหนี้ที่กลับมาผ่อนชำระได้มากที่สุด คือ สินเชื่อบ้าน และเช่าซื้อ ขณะที่มาตรการพักหนี้ จนถึงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีลูกหนี้สมัครใจพักหนี้ 3 ล้านบัญชี ส่วนการให้สินเชื่อเพิ่มเติม ณ 20 ก.ย.64 ธปท.ได้อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว 106,156 ล้านบาท คิดเป็นลูกหนี้ 34,538 ราย โครงการพักทรัพย์พักหนี้ มีมูลค่าสินทรัพย์ที่ตีโอน 15,167 ล้านบาทจาก 106 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรม โรงงานสปา โรงงานแปรรูป และโรงพยาบาล
“แม้จะทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังมีมาตรการที่ได้ผลน้อยกว่าที่คาด เช่น การส่งเสริมการรวมหนี้ ซึ่ง ธปท. สนับสนุนให้ลูกหนี้ที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันรวมกับสินเชื่อกับหนี้ที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ เพื่อใช้หลักประกันร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาลูกหนี้กังวลการเสียหลักประกัน และมีหนี้อยู่ต่างธนาคาร”
นางสาวสุวรรณีกล่าวต่อว่า ในช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้ ธปท. เตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการรวมหนี้ (Debt consolidation) โดยพยายามแก้ไขจุดอ่อนของมาตรการเดิม เช่น จะห้ามสถาบันการเงินคิดค่าธรรมเนียมชำระเงินกู้คืนก่อนครบกำหนด (Prepayment Fee) รวมถึงลดเกณฑ์การจัดชั้นของสถาบันการเงินเพิ่มเติม และเร่งให้ความรู้ทางการเงินเพิ่มเติมกับลูกหนี้ในเรื่องการเสียหลักประกันเพื่อให้เกิดการรวมหนี้มากขึ้น รวมทั้งจะอนุญาตให้รวมหนี้ข้ามแบงก์ และนอนแบงก์ได้ด้วย
“เมื่อรวมหนี้กันแล้วจะถือว่าเป็นหนี้ที่มีหลักประกันทั้งก้อน ซึ่งจะทำให้การคิดดอกเบี้ยลดลงตามความเสี่ยงที่ลดลง จากเช่น เพดานหนี้บัตรเครดิต อยู่ที่ 16% สินเชื่อบุคคล 25% สินเชื่อจำนำ ทะเบียน 24% และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 33% หากมีการรวมหนี้แล้ว ธปท.จะมีการกำหนดกรอบการคิดดอกเบี้ย ซึ่งจะเหลือไม่เกิน 10%”.