ข้าวไทยต่ำสุดรอบ 10 ปี น้ำท่าดีผลผลิตนาปีทะลุ 26 ล้านตัน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ข้าวไทยต่ำสุดรอบ 10 ปี น้ำท่าดีผลผลิตนาปีทะลุ 26 ล้านตัน

Date Time: 13 ก.ย. 2564 06:20 น.

Summary

  • ผู้ส่งออกข้าวชี้ ข้าวไทยตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี ปีนี้ส่งออกพลาดเป้า 6 ล้านตัน หนำซ้ำยังขาดแคลนเรือ-ตู้คอนเทนเนอร์-จับกังขนข้าว ด้านสมาคมโรงงานน้ำตาล ต่ออายุรับประกันราคาอีก 1 ปี

Latest

ลุยสอบโรงแรม-อสังหา-คลังสินค้าเพียบ กลุ่มเสี่ยงนอมินี 2.68 หมื่นราย

ผู้ส่งออกข้าวชี้ ข้าวไทยตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี ปีนี้ส่งออกพลาดเป้า 6 ล้านตัน หนำซ้ำยังขาดแคลนเรือ-ตู้คอนเทนเนอร์-จับกังขนข้าว ด้านสมาคมโรงงานน้ำตาล ต่ออายุรับประกันราคาอีก 1 ปี เคาะแล้วรับซื้ออ้อยสดตันละ 1 พันบาท ด้านราคายางพาราสดใสพุ่งพรวดทะลุ 60 บาทต่อกิโล

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ข้าวไทยขณะนี้ทั้งราคาและการส่งออกตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยราคาข้าวขาว 5% ลดเหลือตันละ 404 เหรียญสหรัฐฯเท่านั้น แม้ยังสูงกว่าคู่แข่งอย่างอินเดียที่ขายที่ตันละ 370 เหรียญฯ แต่ถูกกว่าข้าวเวียดนามที่ขายตันละ 407 เหรียญฯ ซึ่งไม่บ่อยนักที่ข้าวไทยจะราคาถูกกว่าเวียดนาม และใกล้เคียงกับอินเดีย เพราะปกติข้าวไทยจะต้องแพงกว่าเวียดนามตันละ 60 เหรียญฯ และสูงกว่าอินเดียตันละ 100 เหรียญฯ

ส่วนราคาข้าวหอมมะลิลดลงมากเช่นกัน จากเคยขายได้ถึงตันละ 1,300-1,400 เหรียญฯ ขณะนี้เหลือตันละ 700-713 เหรียญฯ เพราะมีข้าวหอมเวียดนามที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับข้าวหอมไทยออกมาแข่งขันและขายเพียงตัน 568-572 เหรียญฯ ทำให้ข้าวหอมมะลิไทยต้องปรับลดตามไม่เช่นนั้นจะขายไม่ได้ประกอบกับผลจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ราคาข้าวไทยถูกลงด้วย โดยทุก 1 บาทที่อ่อนค่าลง ทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยถูกกว่าเดิมตันละ 15-16 เหรียญฯ และตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาทอ่อนค่าแล้ว 2 บาท จาก 31 บาทเศษมาเป็น 33 บาท/เหรียญฯ จึงยิ่งทำให้ข้าวไทยถูกลงเกือบตันละ 30 เหรียญฯ อีกทั้งยังคาดว่าปีนี้ผลผลิตข้าวไทยจะมากกว่าปีก่อน โดยข้าวเปลือกนาปีน่าจะสูงถึง 26 ล้านตัน เพราะน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ซึ่งก็อาจทำให้ราคาลดลงได้ตามกลไกตลาด

“หากไทยอยากจะกลับไปเป็นผู้นำในการส่งออกข้าว จะต้องทุ่มวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ให้หลากหลาย เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น มากกว่าการทำโครงการประกันรายได้ หรือจำนำข้าว เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าการอุดหนุนสินค้าเกษตรเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้ข้าวไทยราคาดีขึ้นหรือมีผลผลิตเพิ่มเลย”

นอกจากนี้ การส่งออกข้าวไทยยังลดลงมาก โดยในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปีนี้ ส่งออกได้เพียง 2.59 ล้านตัน มูลค่า 1,608.4 ล้านเหรียญฯ โดยปริมาณลดลง 22.36% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมูลค่าลดลง 30.07% อย่างไรก็ตาม การที่ราคาข้าวไทยถูกลงจะส่งผลดีให้การส่งออกในช่วง 4-5 เดือนสุดท้ายของปีดีขึ้น เพราะราคาข้าวไทยแข่งกับคู่แข่งได้แล้ว โดยประเมินว่า ในช่วงที่เหลือของปีน่าจะส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 600,000 ตัน ซึ่งจะทำให้ทั้งปี 64 ส่งออกได้ราว 5.8 ล้านตัน ใกล้เคียงเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ 6 ล้านตัน และไทยจะกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลกอันดับที่ 3 รองจากอินเดียและเวียดนาม

“ผู้ส่งออกข้าวยังมีปัญหาขาดแคลนเรือขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้การขนส่งล่าช้า และยังขาดแคลนแรงงานในการขนกระสอบข้าวลงเรือ และจัดเรียงกระสอบในเรือ เพราะแรงงานส่วนใหญ่เป็นต่างด้าว และติดโควิด-19 จำนวนมาก และยังมีบางส่วนหนีโควิดกลับประเทศและยังไม่กลับมา”

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC กล่าวว่า สมาคมได้ประกาศต่ออายุการรับประกันราคารับซื้ออ้อยสด เข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2565/66 ที่จะเปิดหีบในเดือน ธ.ค.2565 ที่ราคาขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับค่าความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และหากราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจะพิจารณาปรับราคาอ้อยเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับทิศทางราคา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ชาวไร่ และวางแผนขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มผลผลิตอ้อยมากขึ้น คาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีถัดไปเพิ่มเป็น 100 ล้านตัน

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ราคายางพาราอยู่ที่ประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานราคายางพาราจะเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์ผลผลิตยางลดลง จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานที่เข้ากรีดยางในเมืองไทย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมายังกลับเข้ามาเมืองไทยไม่ได้ การขนส่งมีปัญหา แรงงานในโรงงานแปรรูปยางพาราติดโควิด ส่งผลให้โรงงานผลิตไม่สามารถเปิดไลน์การผลิตได้ตามปกติ ส่งผลให้กำลังการผลิตลดลง การรับซื้อยางพาราก็ลดลงด้วย

ทั้งนี้เป้าหมายราคายางพาราระยะแรกคือ 60 บาทต่อ กก. ถือว่าผ่านเป้าหมายแรกได้แล้ว แต่โครงการชดเชยรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารายังต้องมีไว้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร หากวันไหนราคายางพาราตกต่ำกว่าราคา 60 บาท รัฐบาลก็ต้องชดเชยให้เกษตรกร แต่แนวโน้มราคายางพาราคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการชดเชยราคาที่ประกันไว้ให้กับชาวสวนยางพาราต่อไป

ขณะที่นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อราคายางพารา คือ สภาพอากาศในปีนี้กระทบประเทศผู้ผลิตยางหลัก อาทิ เวียดนามเจอสถานการณ์น้ำท่วม อินโดนีเซียเกิดโรคใบร่วง ช่วงนี้ไทยและเพื่อนบ้านก็กำลังเกิดมรสุมฝนตกหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผู้ผลิตยางลดลงประมาณ 500,000 ตัน ขณะที่ประเทศผู้ใช้ยางหลักอย่างจีนที่มีความต้องการยางพาราเพิ่มขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ