นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2/64 ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 ที่ติดลบถึง 12.1% เป็นการปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 2.6% ของไตรมาส 1/64 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/64 ขยายตัวจากไตรมาสแรก 0.4% ซึ่งในทางเทคนิคเศรษฐกิจไทยยังขยายตัว และยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่เริ่มมีโมเมนตัมของการขยายตัวที่ลดลง จากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อรวมครึ่งแรกของปี 64 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2% ขณะที่ตลอดปี 64 คาดขยายตัว 0.7-1.2% แม้ลดลงจาก 1.5-2.5% ในการประมาณการครั้งก่อน แต่ถือเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆจากการติดลบ 6.1% ในปี 63
“การคาดการณ์เศรษฐกิจปี 64 ขยายตัว 0.7-1.2% มีค่ากลางที่ 1% นั้น การบริโภคเอกชนอยู่ที่ 1.1% การอุปโภครัฐ ขยายตัว 4.3% การลงทุนเอกชน ขยายตัว 4.7% การลงทุนรัฐ ขยายตัว 8.7% มูลค่าส่งออก ขยายตัว 16.3% เงินเฟ้อ 1-1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัด ติดลบ 2% และคาดมีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 120,000 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยปีนี้ 150,000 คน ลดลงจาก 500,000 คนในการประมาณการครั้งก่อน”
สำหรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้ขยายตัว 1% อยู่บนสมมติฐานที่การแพร่ระบาดผ่านจุดสูงสุดในไตรมาส 3 และผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ไตรมาส 4 รวมถึงควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ฐานการผลิต และการระบาดในประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ของโลกไม่รุนแรงขึ้นจนถึงขั้นล็อกดาวน์ แต่หากไม่สามารถคุมการระบาดได้ในไตรมาส 3 ไม่สามารถผ่อนคลายมาตรการ และทยอยเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในไตรมาส 4 รวมถึงการระบาดในต่างประเทศรุนแรงมากขึ้น มีแนวโน้มที่ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตต่ำกว่า 0.7% แต่หากคุมการระบาดได้เร็วขึ้น ผ่อนคลายได้เร็วขึ้น เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้มากขึ้น ก็มีโอกาสเติบโตได้มากกว่า 1.2% แต่ สศช.ขอยึดกรณีฐานที่ 1%
นายดนุชากล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจไทยในปี 64 ต้องควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว, รักษาเสถียรภาพทางการเมืองไม่ให้ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีความเปราะบาง และระวังความผันผวนทางเศรษฐกิจ ที่จะเพิ่มขึ้นตามความรุนแรงและการระบาดภายในประเทศ.