ผู้ว่าธปท.แนะรัฐกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้าน แก้เศรษฐกิจ ไม่ต้องห่วงหนี้สาธารณะ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ผู้ว่าธปท.แนะรัฐกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้าน แก้เศรษฐกิจ ไม่ต้องห่วงหนี้สาธารณะ

Date Time: 16 ส.ค. 2564 19:59 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • ผู้ว่าธปท.แนะรัฐบาล ควรกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้าน แก้เศรษฐกิจไทยที่กำลังเป็นหลุมลึก ไม่ต้องห่วงหนี้สาธารณะที่จะพุ่งไปแตะ 70% ในปี 67 เพราะจะลดลงตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการจัดเก็บภาษี

Latest


ผู้ว่าธปท.แนะรัฐบาล ควรกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้าน แก้เศรษฐกิจไทยที่กำลังเป็นหลุมลึก ไม่ต้องห่วงหนี้สาธารณะที่จะพุ่งไปแตะ 70% ในปี 67 เพราะจะลดลงตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการจัดเก็บภาษี

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 64 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง ธุรกิจ และประชาชนต้องปรับตัวอย่างมาก ซึ่งมีธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการ และประชาชนถูกเลิกจ้าง ปัญหาที่ชัดเจน คือ รายได้ที่หายไป และจะหายไปเป็นเวลานาน โดยที่ผ่านมา เราเห็น 4 อาการของเศรษฐกิจไทย

1. โควิด 19 สร้าง หลุมรายได้ ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย โดยในช่วงปี 2563-2564 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท จากนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7.0 แสนล้านบาท มองไปข้างหน้า การจ้างงานคงฟื้นตัวไม่เร็วและรายได้จากการจ้างงานในปี 2565 คาดว่าจะหายไปอีกราว 8.0 แสนล้านบาท ซึ่งหมายถึงในปี 2563-2565 "หลุมรายได้"  อาจมีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาท

2. การจ้างงานถูกกระทบรุนแรง โดยเฉพาะกิจการในภาคบริการและกิจการที่มีสายป่านสั้น โดยข้อมูลการจ้างงานในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ สะท้อนความเปราะบางสูง ได้แก่

- ผู้ว่างงาน/เสมือนว่างงาน (ผู้มีงานทำไม่ถึง 4 ชม.1 ต่อวัน) อยู่ที่ 3.0 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคน ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดกว่า 1 ล้านคน

- ผู้ว่างงานระยะยาว (เกิน 1 ปี) 1.7 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว

- ตัวเลขผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนอยู่ที่ 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดถึง 8.5 หมื่นคน

- แรงงานย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาที่เพิ่มขึ้นจากภาคบริการ/อุตสาหกรรมในเมือง กลับไปยังภาคเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำกว่า ล่าสุดอยู่ที่ 1.6 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีในช่วงก่อนโควิดที่ 5 แสนคนมาก

3. การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่เท่าเทียม หรือ K-shaped แม้จะมีภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่ฟื้นตัวเกินระดับก่อนโควิดแล้วถึงเกือบร้อยละ 20 จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่สถานการณ์เบากว่าไทย แต่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกนี้ จ้างงานเพียงร้อยละ 8 ทำให้ผู้ได้ประโยชน์มีน้อย เทียบกับแรงงานในภาคบริการที่มีสูงถึงร้อยละ 52 ที่ส่วนใหญ่ยังเดือดร้อน โดยรวมจึงยังทำให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนยังเปราะบาง

4. ไทยถูกกระทบจากโควิด 19 หนักกว่าและจะฟื้นช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในเอเชีย คือ ร้อยละ 11.5 ของ GDP ทำให้ทั้งปี 2563 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ 6.1 เทียบกับร้อยละ 4.9 ที่เป็นค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชีย

ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลา 3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ขณะที่เอเชียโดยรวมใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ GDP ของไทยยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดร้อยละ 4.6 ขณะที่เอเชียโดยรวมฟื้นเหนือระดับก่อนโควิดแล้ว

ขณะเดียวกัน ผมมองว่าปัญหาของวิกฤติครั้งนี้มาจาก 3 ด้าน คือ 1. ปัญหาด้านสาธารณสุขที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤต 2.ปัญหาด้านรายได้ ที่เป็นปัญหาหลักและจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างหากไม่ได้รับการเยียวยาที่ทันการณ์ และ3. ปัญหาภาระหนี้ ซึ่งเป็นผลพวงของรายได้ที่หายไป ซึ่งในการแก้ไขทั้ง 3 ปัญหาหัวใจ คือ การแก้ไขตามอาการ

ด้านแรก โควิดเป็นวิกฤติที่เริ่มต้นจากระบบสาธารณสุข การแก้ปัญหา ตามอาการ  จึงต้องอาศัยเครื่องมือด้านสาธารณสุข ที่สำคัญ คือ วัคซีน และมาตรการควบคุมการระบาด วัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็นเครื่องมือหลักที่จะทำให้การระบาดหยุดลงยั่งยืน

ในระหว่างที่สังคมไทยยังไม่ได้รับวัคซีนมากพอ เราจำเป็นต้องใช้มาตรการด้านสาธารณสุขต่าง ๆ คุมการระบาด เพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามรุนแรงขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีต้นทุนด้านเศรษฐกิจสูง เพราะเป็นการจำกัดการเคลื่อนที่ของคน ซึ่งกระทบการดำเนินธุรกิจรุนแรง จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบด้านสาธารณสุขกับเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ

ที่สำคัญ ต้องเร่งรัดมาตรการตรวจและแยกการติดเชื้อในครัวเรือนให้ครอบคลุมและทันการณ์ รวมถึงการตรวจคัดกรองก่อนการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม หากพบการติดเชื้อ อาจต้องใช้มาตรการควบคุม หรือ lockdown เฉพาะพื้นที่อย่างเข้มข้นในระยะเวลาจำกัดให้ได้ทันท่วงที

ด้านที่สอง ในระหว่างที่สังคมไทยรอการเกิดภูมิคุ้มกันที่มากพอจากการฉีดวัคซีน ภาครัฐจะมีบทบาทในการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจและครัวเรือน และดูแล หลุมรายได้ ที่คาดว่าจะใหญ่ถึง 1.8 ล้านล้านบาทตลอดปี 2563-2564 โดยเฉพาะในช่วงที่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน อีกทั้งการใช้จ่ายของประชาชนยังจะหมุนเวียนไปสู่ธุรกิจต่าง ๆ ให้ดำเนินต่อไป รักษาการจ้างงานไว้ได้ และไม่ต้องมีภาระหนี้สินล้นพ้นตัว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ โดยในปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวในทุกด้านจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 เว้นแต่การใช้จ่ายภาครัฐด้านเดียวที่ยังขยายตัวได้ และช่วยพยุงการบริโภคของภาคเอกชนได้อย่างมาก โดยหากไม่มีมาตรการเงินโอนช่วยเหลือจากภาครัฐ ผลกระทบจากโควิดต่อการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะรุนแรงขึ้นมาก จากที่หดตัวร้อยละ 1.0 อาจสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.3 ได้ นอกจากนี้ การช่วยเยียวยารายได้ ทำให้ความจำเป็นในการก่อหนี้ของประชาชนและภาคธุรกิจลดลงได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดของรายได้ที่จะหายไป ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท ระหว่างปี 2563-2565 เม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลังเพื่อช่วยให้รายได้และฐานะทางการเงินของประชาชนและ SMEs กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด และลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งในเบื้องต้น เม็ดเงินจากภาครัฐที่เติมเข้าไปในระบบควรมีอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นประมาณ 7% ของ GDP

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะช่วยให้ GDP กลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม โดยในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของ GDP ในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว

ทั้งนี้ เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก เมื่อเทียบกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม และพบว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2574 จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5%

ดังนั้นหากรัฐบาลไม่เร่งพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตยืดเยื้อ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP แม้จะเพิ่มขึ้นช้า แต่จากการประมาณการ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงและปรับลดลงได้ไม่มากนักในระยะยาว

"ถ้าดูภาพรวมเสถียรภาพการคลัง และตามสมมติฐานก็ยังมองว่าสมเหตุสมผล เพราะเสี่ยงน้อยกว่าการไม่ได้ทำอะไรเลย และอาจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ถ้าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จาก 50% วิ่งขึ้นไปที่ 70% ในปี 2567 เศรษฐกิจก็ไม่ได้ลำบากอะไร ยังรับรองได้ สภาพคล่องในระบบก็ยังมีอยู่เป็นการกู้ยืมในประเทศ แม้จะมีผลเรื่องการขาดดุลเงินสะพัด แต่ก็ไม่ได้เรื่องที่น่ากังวล ตอนนี้หากดูดอกเบี้ยกู้ระยะยาว 10 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่ถึง 1.6% ซึ่งเทียบกับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.6% จึงมองว่าเป็นยาที่จำเป็น และเหมาะสมกับสภาวะ แต่ท้ายที่สุดแล้ว การกู้ต้องมีแผนที่ชัดเจน เพื่อให้ระยะยาวเพื่อให้การคลังกลับสู่สภาวะเข้มแข็งกว่าเดิม"

  • หนี้สาธารณะ คือ หนี้ของประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ กำหนดไว้ว่า เป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังกู้ยืม รวมทั้งหนี้รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่รัฐเป็นผู้ค้ำประกัน โดย คำจำกัดความของคำว่าหนี้สาธารณะของไทยนั้นค่อนข้างกว้าง แต่เวลาไปเทียบกับต่างประเทศ เขาจะมองแคบกว่านั้น คือ ตัดหนี้รัฐวิสาหกิจออก ซึ่งหนี้ที่ไม่เป็นภาระของรัฐจะไม่ถูกนำมาเทียบ แต่ถ้าเป็นของเมืองไทยจะเป็นลักษณะ Conservative หรือ อนุรักษนิยม (อ่านต่อทั้งหมดที่นี่)

Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ