ธปท.ประเมินภาพความเสียหายจากล็อกดาวน์ กรณีแย่ที่สุด กระทบเศรษฐกิจไทย -2% ยอมรับภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นล่าช้า จากการจัดหาและกระจายวัคซีนที่ล่าช้าเตือนมาตรการการเงิน-การคลังต้องเตรียมพร้อมขั้นสูงสุด ขณะที่แบงก์กสิกรไทยและไทยพาณิชย์ มองกรณีเลวร้ายเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ทำการประเมิน “ส่องเศรษฐกิจไทยในวิกฤติโควิด” เนื่องจากโควิด สายพันธุ์เดลตา กลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศ ไทย และส่งผลให้การควบคุมการแพร่ระบาดยากขึ้น ประสิทธิภาพของวัคซีนที่เรามีสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ลดลง จำนวนวัคซีนที่คาดว่าจะจัดหาได้ต่ำกว่าที่คาด และเป็นภาระกับระบบสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จากการล็อกดาวน์รอบล่าสุดนี้ ธปท.ได้ประเมินภาพความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งพบว่า ความเสียหายเกิดขึ้นทั้งในด้านกว้างและด้านลึก โดยด้านลึกพบว่า ความเสียหายจากการระบาดในระลอกที่ 2 และ 3 ทำให้เศรษฐกิจดิ่งลงไปใกล้เคียงกับความเสียหายในการล็อกดาวน์ครั้งแรกแล้ว แต่ที่น่ากังวลคือ กราฟยังปักหัวลงได้อีก ขณะที่ด้านความกว้างผลความเสียหายของมาตรการล็อกดาวน์ ถึงแม้ว่าในครั้งนี้จะล็อกดาวน์ในพื้นที่ 13 จังหวัด แต่พื้นที่ส่วนอื่นของประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายลดลงเช่นเดียวกับพื้นที่ล็อกดาวน์
“จากการสำรวจนักวิเคราะห์ ประชาชนและภาคธุรกิจ โดยภาคครัวเรือนมองว่า กว่าที่จะกลับมาใช้ชีวิตปกติน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 65 ขณะที่ภาคธุรกิจยังมีความหวังที่จะกลับมาเปิดให้บริการเป็นปกติในไตรมาสแรกของปี 65 ขณะที่ประเมินจากสถานการณ์วัคซีนในขณะนี้ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่เดิมคาดว่าจะเกิดขึ้นในสิ้นปีนี้น่าจะล่าช้าออกไป และยังไม่ชัดเจนว่า จะสามารถสร้างภูมิ คุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นในปีหน้าได้หรือไม่”
น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า ธปท.ประเมินภาพความเสียหายจากการล็อกดาวน์ และความไม่แน่นอนที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงสูงขึ้นในอนาคต ใน 3 กรณีคือ กรณีที่ดีที่สุด โดยคาดว่า หากมาตรการล็อกดาวน์ ดำเนินการได้ดี และส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงประมาณ 40% และสามารถควบคุมได้ภายในเดือน ส.ค. โดยไม่เกิดการระบาดรอบใหม่ เศรษฐกิจไทยจะได้รับความเสียหายจากการล็อกดาวน์ หรือส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลดลง -0.8% ขณะที่กรณีที่แย่ที่สุดคือ การระบาดยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสามารถควบคุมให้การระบาดลดลงเพียง 20% แต่ยังสามารถควบคุมได้ภายในช่วงสิ้นปีนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง 2%
ส่วนค่ากลางที่ ธปท.คาดว่าจะเกิดขึ้นได้มากที่สุดในขณะนี้ การล็อกดาวน์จะกระทบเศรษฐกิจ ให้หดตัวลง 1.2% อย่างไรก็ตาม ยังนำตัวเลขความเสียหายมาหักลบจากการขยายตัวในขณะนี้ไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยบวกที่จะมาจากมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมของภาครัฐ และการส่งออกที่ดีขึ้น โดย ธปท.จะนำการประเมินความเสียหายนี้ไปรวมในการ ประมาณการเศรษฐกิจครั้งหน้า ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อการขยายตัวตามประมาณการเดิมแน่นอน
“ขณะนี้ยังมีความผันผวนและไม่แน่นอนสูงมาก เพราะการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้า ทำให้สามารถกลับมาระบาดได้ใหม่ หากความเร็วในการจัดหาและกระจายวัคซีนไม่เร็วพอ หรือการ์ดตก ทำให้ ธปท.ไม่ได้ประเมินภาพในกรณีเลวร้าย เพราะสถานการณ์ยังสามารถพัฒนาไปได้อีก โดยมองว่า มาตรการทั้งการเงินและการคลัง อาจจะไม่เพียงพอที่จะรับมือกรณีเลวร้ายได้ ทำให้ต้องเตรียมความพร้อมทั้งมาตรการการเงินและการคลังให้มากที่สุด”
ด้านนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “แนวโน้มเศรษฐกิจโลกต่อการกลับมาของ Covid-19” ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้ มีโอกาสติดลบ หากโควิด-19 กลายพันธุ์กลับมาระบาดรุนแรงมากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และประเทศสหรัฐฯ ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ และมีผล กระทบต่อการส่งออกของไทย แต่หากสถานการณ์การระบาดไม่รุนแรง จีดีพีของไทยปีนี้จะเติบโตได้ที่ 1% แต่ต้องมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพฉีดให้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และต้องมียาบำบัดรักษาที่เพียงพอ โดยประเมินว่าการท่องเที่ยวของประเทศ ไทยประเมินว่าจะฟื้นตัวครึ่งปีหลังของปี 65
ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินเศรษฐกิจปีนี้ ว่าจะเติบโตเหลือ 0.9% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 1.9% ตามการระบาดโควิด-19 ที่ปรับแย่ลงมากกว่าที่คาด ทั้งนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไทยลดลง การบริโภคที่มีความเสียหายเพิ่มขึ้น ภาคเอกชนที่จะได้รับผลกระทบจากการปิดแคมป์คนงาน โดยแม้คาดว่าภาครัฐจะมีเม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจมากกว่าที่เคยคาด แต่ก็ยังจะไม่เพียงพอ โดยกรณีเลวร้ายเศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัวที่ -0.4%.