คมนาคม เดินหน้าเต็มกำลังสร้าง "รถไฟไทยจีน" เชื่อมโยงลุ่มน้ำโขง-อาเซียน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คมนาคม เดินหน้าเต็มกำลังสร้าง "รถไฟไทยจีน" เชื่อมโยงลุ่มน้ำโขง-อาเซียน

Date Time: 25 มิ.ย. 2564 19:16 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • คมนาคม เดินหน้าเต็มกำลังสร้างรถไฟไทยจีน มั่นใจส่งเสริมความเชื่อมโยงอนุภูมิภาค ลุ่มน้ำโขง-อาเซียน พร้อมได้ข้อสรุปรถไฟไทยจีนช่วงทับซ้อนรถไฟ 3 สนามบินช่วง บางซื่อ-ดอนเมือง สรุปให้ CP สร้าง

คมนาคม เดินหน้าเต็มกำลังสร้างรถไฟไทยจีน มั่นใจส่งเสริมความเชื่อมโยงอนุภูมิภาค ลุ่มน้ำโขง-อาเซียน พร้อมได้ข้อสรุปรถไฟไทยจีนช่วงทับซ้อน รถไฟ 3 สนามบินช่วง บางซื่อ-ดอนเมือง สรุปให้ CP สร้าง

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 64 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการประชุมุคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย–จีน ครั้งที่ 29 ว่า ในการประชุมครั้งนี้ฝ่ายไทยได้แจ้งความก้าวหน้างานโยธาระยะแรกสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ฝ่ายจีน รับทราบความก้าวหน้างานโยธาระยะแรกในช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งงานโยธาส่วนใหญ่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว

โดยฝ่ายไทยได้จัดตั้งสำนักงานบริหารโครงการเพื่อเร่งรัดการดำเนินการ ทั้งสองฝ่ายจะใช้ความพยายามอย่างสูงสุดเพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงาน ขณะเดียวกันทางฝ่ายจีนรับทราบความก้าวหน้าของโครงการช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ข้อสรุปสำหรับงานออกแบบรายละเอียดแล้ว โดยผลการศึกษาใกล้ที่จะแล้วเสร็จ ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายจีนจัดหาที่ปรึกษาตรวจสอบแบบ ฝ่ายจีนเห็นว่างานบริการที่ปรึกษาควรดำเนินการในรูปแบบ การลงนามในสัญญาบริการที่ปรึกษา ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งสองฝ่ายจะหารือในประเด็นดังกล่าวต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานงานโยธาและระบบไฟฟ้าและเครื่องกล

นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการเชื่อมทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ โดยฝ่ายไทยเสนอให้มีการประชุมไตรภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อหารือเกี่ยวกับเส้นทางการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือกับฝ่ายลาวเพื่อผลักดันให้มีการประชุมระดับคณะทำงานสามฝ่ายและจัดการประชุมทุกเดือนเพื่อให้มีความคืบหน้าในการเชื่อมโยงต่อไป

ขณะเดียวกัน ได้มีการหารือร่วมกันถึงช่วงทับซ้อนของการก่อสร้างระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน กับโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ซึ่งช่วงดังกล่าวจะต้องมีการใช้ทางวิ่งและโครงสร้างร่วมกัน โดยทางฝ่ายจีนจะพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้กระทบต่อการปฏิบัติตามสัญญา 2.3 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะปรับงานออกแบบ ส่วนการก่อสร้างที่ทับซ้อนให้เป็นความรับผิดชอบของ กลุ่มบริษัทที่ชนะการประกวดราคา คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร กลุ่ม CP สร้าง 3 สนามบิน

สร้างส่วนต่อขยายรถไฟชานเมือง สายสีแดง 4 ทิศทางรอบกรุงเทพฯไปปริมณฑล

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า หลังจากได้หารือกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงแนวทางการพัฒนาก่อสร้าง โครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมือง สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยกระทรวงคมนาคมยืนยันว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. มีแผนที่จะก่อสร้างส่วนต่อขยายเพิ่มเติมทั้ง 4 ส่วนต่อขยายประกอบด้วย

1. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงรังสิต - ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) วงเงินโครงการ 6,570 ล้านบาท

2. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา) วงเงิน 10,200 ล้านบาท

3. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช) วงเงิน 6,640 ล้านบาท

4. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ - หัวหมาก) วงเงิน 44,100 ล้านบาท

เบื้องต้นได้ให้นโยบาย รฟท.ปรับแผนการก่อสร้างในโครงการใหม่แยกการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานออกมาประกวดราคา จากเดิม รฟท.จะเปิดลงทุนในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ซึ่งจะทำให้ รฟท.สามารถเปิดประกวดราคาก่อสร้างได้ภายในสิ้นปี 64 นี้ คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างในต้นปี 65 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 68

โดยในระหว่างการก่อสร้างรฟท.จะได้จัดรถไฟดีเซลรางเดินรถเชื่อมต่อระหว่างสถานีรังสิตไปถึงสถานีเชียงรากน้อย เพื่อรองรับการเดินทางไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปก่อน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือน ธ.ค. 64 นอกจากนั้นกรมทางหลวง (ทล.) ได้พิจารณาปรับปรุงโครงข่ายถนนบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเบื้องต้นแล้ว รวมทั้งมีแผนการพัฒนาในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายถนนและการคมนาคม บริเวณพื้นที่รังสิต เป็นไปด้วยความสะดวก ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในภาพรวม จึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม บริเวณพื้นที่รังสิต เพื่อพิจารณาผลักดันการดำเนินการไปสู่เป้าหมายดังกล่าวต่อไป

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ปรับปรุงเส้นทางการเดินรถเพื่อรองรับพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แล้ว ท้ังนี้ เนื่องจากมีนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากมาใช้บริการของมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะปรับแนวเส้นทางเข้าไป ในมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลธรรมศาสตร์โดยตรงด้วย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ