พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ได้นำเรื่องปัญหาหนี้สินของประชาชนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้รับทราบ และมองเห็นถึงปัญหาของประเทศ ถ้าประชาชนมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการแก้ไขหนี้นอกระบบที่ต้องเข้มงวดมากขึ้น โดยการแก้ปัญหาหนี้ต้องให้ครอบคลุมทั้งระบบ ตอนนี้ที่ร้อนใจมากที่สุดคือหนี้ของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ. 3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 27.7 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี หนี้สินอื่นๆอีก 51.2 ล้านบัญชี
โดยการแก้ปัญหามาตรการระยะสั้นจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ภายใน 6 เดือน เน้นการลดภาระดอกเบี้ยของประชาชนและสินเชื่อรายย่อย ฟิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ครู ข้าราชการ สหกรณ์ คุ้มครองความเป็นธรรมให้ผู้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียน หาแนวทางการไกล่เกลี่ยหนี้สินเพื่อลดการดำเนินคดี เช่น หนี้ กยศ. หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หนี้สหกรณ์ เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย จัดให้มีซอฟต์โลนสำหรับเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) การเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและโรงรับจำนอง
ส่วนมาตรการระยะยาวคือการเร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง การให้ความช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่ คนเกษียณ ออกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย ค่าเดินทางขนส่งมวลชนในราคาถูก การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อการดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงินเพื่อชะลอการฟ้อง ดูแลการฟื้นฟูหนี้รายบุคคล ที่มีเจ้าหนี้หลายราย เป็นต้น
“ส่วนของหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันนั้นมีข้อมูลว่า ก่อนปี 2557 มีอัตราเพิ่มขึ้นเดือนละ 88,000 ล้านบาท แต่จากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีการเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 50,000 ล้านบาท นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯมอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ไปดำเนินการ โดยอาจมีการตั้งคณะทำงานย่อยเป็นกลุ่มในการแก้ไขปัญหาหนี้ประเภทต่างๆ แล้วเสนอแนวทางมาให้ ครม.พิจารณาออกเป็นมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินประชาชนต่อไป.