“พิพัฒน์” เผยหลัง “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” กำหนดเพิ่มเวลาให้อยู่ในจังหวัดจาก 7 วันเป็น 14 วัน ส่งผลให้ต่างชาติ ที่ตั้งใจมา ลดฮวบทันที 50% พร้อมนำ 5 สมาคม เข้าพบ “สุพัฒนพงษ์-อาคม” ขอนำเงินกู้ 1 หมื่นล้านบาท ตั้งกองทุนฟื้นและพัฒนาท่องเที่ยว เพื่อให้กู้กรณีพิเศษ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ให้ผู้ประกอบการค้ำไขว้กันเอง
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) มีมติเปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ วันที่ 1 ก.ค.นี้ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว โดยยืดระยะเวลาการอยู่ในจังหวัดภูเก็ต โดยไม่ต้องกักตัวจาก 7 วัน เป็น 14 วัน ถึงจะออกไปจังหวัดอื่นได้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เตรียมเข้ามาในเดือน ก.ค.นี้ลดลงไปครึ่งหนึ่ง
จากเป้าหมาย 29,700 คนทันที ซึ่งตนจะรอให้ทดลองไปก่อน 1 เดือน เพื่อดูผลว่ามีการติดเชื้อจากคนที่เดินทางเข้ามาหรือไม่ หากสำเร็จด้วยดีไม่มีคนติดเชื้อ จะเสนอให้พิจารณาระยะเวลาอยู่ในภูเก็ตเหลือ 7 วัน แล้วออกไปพื้นที่อื่นได้ และจะประกาศให้ทั่วโลกได้เห็นว่าภูเก็ตเป็นพื้นที่สีเขียว ที่คนมาท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาได้
“ผู้ที่มีผลการตรวจหาเชื้อจากประเทศต้นทางเป็นลบ เมื่อมาถึงภูเก็ตเพื่อท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว ตามมติ ศบศ.จะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ (swab) ในวันที่ 0, 6 และ 12 ด้วย และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เตรียมประสานหน่วยงานความมั่นคง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตำรวจท่องเที่ยว กรมเจ้าท่า คุมเข้มเพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังอยู่ในพื้นที่ไม่ครบ 14 วัน ลักลอบออกจากภูเก็ตไปยังพื้นที่อื่นๆ”
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า เดือน ก.ค.นี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตที่ยืนยันมาแล้ว 2 กลุ่ม คือ สหรัฐฯ ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ และปลายเดือน ก.ค. คือกลุ่มทหารเรือจากอังกฤษ ซึ่งเข้ามาในภูมิภาคเพื่อทำการซ้อมรบและมาแวะพักที่ภูเก็ตอีก 400-500 คน ประมาณ 1 สัปดาห์ ขณะที่นักท่องเที่ยวจากยุโรปและทวีปอเมริกาจะมีทยอยเข้ามาต่อเนื่อง ส่วนประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ ยังไม่อนุญาตให้เข้ามาในไทย ต้องรอให้สถานการณ์ในประเทศเหล่านี้คลี่คลายลงก่อน
สำหรับนักท่องเที่ยวไทยเบื้องต้นจะต้องฉีดวัคซีนครบก่อน จึงจะสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตได้ โดยซิโนแวค ต้องฉีด 2 โดส แอสตราเซเนกา ฉีด 1 โดส แต่ถ้าใครยังไม่ฉีดจะต้องสวอบเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดก่อนทุกราย
นายพิพัฒน์กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับ 5 สมาคม ประกอบด้วย 1.สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว 2.สมาคมโรงแรมไทย 3.สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ 4.สมาคมสปาไทย 5.สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย ได้ข้อสรุปว่าจะนำทั้ง 5 สมาคมเข้าพบนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เพื่อขอให้พิจารณานำเงินกู้ 10,000 ล้านบาท จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 500,000 ล้านบาท มาตั้งเป็นกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาท่องเที่ยว
โดยให้กู้ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ และให้ผู้ประกอบธุรกิจค้ำไขว้กัน เพราะถ้ามีสินทรัพย์ปกติ ก็คงไม่มาเข้าช่องทางนี้
ขณะที่ข้อเสนอช่วยค่าจ้างพนักงาน เพื่อรักษาการจ้างงานและช่วยสภาพคล่อง โดยขอสนับสนุน 50% ของค่าจ้างพนักงาน หรือไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท ได้ขอให้ 5 สมาคมไปหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งได้หารือกับคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน โดยได้หารือกันในเรื่องนี้แล้วว่าจะใช้เงินกู้โควิดก้อนใหม่มาดำเนินการ ส่วนการนำเงินกองทุนประกันสังคมมาใช้ในกรณีนี้ต้องใช้กับผู้ประกอบการที่ปิดกิจการชั่วคราว จากผลกระทบของโควิด-19 เท่านั้น.