ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดรอบ 11 เดือน ขณะที่ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เริ่มขยับเพราะอานิสงส์ระดมฉีดวัคซีน กังวลเศรษฐกิจจะฟื้นแต่แรงงานขาดแคลน 4 แสนคน วอนรัฐบาลไฟเขียวให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวแบบถูกกฎหมาย หารือกกร.วันนี้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯอยู่ที่ระดับ 82.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.3 เทียบกับเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ค.2563 โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ยังไม่คลี่คลายและยังเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ส.อ.ท.จะเสนอให้ กกร.หารือถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยภายหลังจากที่รัฐบาลเร่งมาตรการนำเข้าวัคซีนและฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น รวมถึงมาตรการต่างๆที่จะส่งผลต่อการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวม
“ภาคเอกชนยังเห็นว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังเป็นกลไกสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนโดยรวม ยิ่งเร็วจะยิ่งส่งผลดี ซึ่งสะท้อนผ่านดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.ที่ลดลงมาก แต่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ที่ได้เริ่มปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 92.8 จากระดับ 91.8 เมื่อเดือน เม.ย.เพราะได้รับปัจจัยสนับสนุน จากความคืบหน้าในการกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และการขยายตัวของการส่งออก”
ขณะเดียวกัน แม้ภาคการส่งออกของประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่ดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐฯ จีน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือ ที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรม ยานยนต์และไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ฯ รวมไปถึงล่าสุดการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ซึ่งตามตัวเลขของกระทรวงแรงงานระบุไว้ว่า เกิดการขาดแคลนแรงงาน 400,000 คน โดยเฉพาะส่วนใหญ่เป็นงานที่คนไทยไม่ยอมทำ อาทิ ก่อสร้าง ประมง ฯลฯ จึงต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก จึงเห็นว่ารัฐบาลควรเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทย โดยถูกกฎหมายเพราะอยู่ภายใต้บันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศต้นทางเพิ่มขึ้น
“ส.อ.ท.ขอสนับสนุนให้มีการนำเข้าแบบถูกกฎหมาย โดยรัฐบาลต้องมีระบบการคัดกรองโควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะจ่ายเงินในส่วนนี้อยู่แล้วไม่มีปัญหา เพื่อให้ภาคการผลิตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เช่นนั้นก็จะเกิดกระบวนการลักลอบเข้ามาที่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย”
สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯเดือน พ.ค. สมาชิก ส.อ.ท.ที่ตอบแบบสอบถามได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้รับไปพิจารณา ได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเร่งกระจายวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็วที่สุด 2.ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี เป็นต้น.