แนะแบงก์เพื่อการพัฒนาของรัฐ ปล่อยสินเชื่ออุ้มธุรกิจช่วงโควิด-19 มากขึ้น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แนะแบงก์เพื่อการพัฒนาของรัฐ ปล่อยสินเชื่ออุ้มธุรกิจช่วงโควิด-19 มากขึ้น

Date Time: 8 มิ.ย. 2564 09:19 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • ส.ว. "สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์" อภิปราย พ.ร.ก.ช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ชี้ประเด็นสิ่งที่ควรกำหนดให้ชัดเจน พร้อมแนะธนาคารเพื่อการพัฒนาของรัฐ ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูโควิด-19

Latest


ส.ว. "สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์" อภิปราย พ.ร.ก.ช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ชี้ประเด็นสิ่งที่ควรกำหนดให้ชัดเจน พร้อมแนะธนาคารเพื่อการพัฒนาของรัฐ ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูโควิด-19

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ได้อภิปรายในการประชุมวุฒิสภาวาระการพิจารณาศึกษาเรื่อง พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 เมื่อเร็วๆ นี้ โดยใจความ ทุกครั้งเกิดวิกฤติมาตรการทางการเงินและการคลังจะเป็นมาตรการสำคัญเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ วันนี้ พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นมาตรการทางการเงิน ซึ่งมิได้เป็นภาระทางการคลัง และมิได้เป็นภาระต่อหนี้สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ จะมีแต่เพียงค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์ ค่าธรรมเนียมการจำนอง ที่ได้รับการยกเว้น จะมีเฉพาะการชดเชยบางประการเรื่องการยกเว้นดอกเบี้ยช่วง 6 เดือนแรก การยกเว้นค่าธรรมเนียมและเงินชดใช้ให้กับบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม ซึ่งมีจำนวนไม่มาก

ทั้งนี้ มาตรการทางการเงินดังกล่าว เป็นมาตรการดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในหลักการของธนาคารแห่งประเทศไทยในการกำกับดูแลสถาบันการเงินนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ใช้อำนาจบังคับโดยตรงอย่างเช่นหน่วยงานของรัฐ หรือส่วนราชการอื่นๆ แต่ใช้อำนาจเรียกอำนาจในการชักชวน หรือ เรียกว่า Power of Persuasion โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดหลักเกณฑ์เป็นแนวทางแนะนำธนาคารพาณิชย์ให้ดำเนินการ แต่ธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินเหล่านั้นยังมีกฎเกณฑ์ของตนเองที่ต้องพิจารณาว่า สินเชื่อที่ได้ปล่อยแล้ว เป็นสินเชื่อที่สามารถชำระหนี้คืนให้กับสถาบันการเงินหรือไม่ เพราะท้ายที่สุดแล้วแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับสถาบันการเงิน สถาบันการเงินก็ยังจะต้องกลับมาชำระหนี้ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ดี

มาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรกำหนดแนวทางให้ชัดเจนขึ้นในเรื่องดังต่อไปนี้ ประการแรก มีแนวทางชัดเจนว่า การให้สินเชื่อกับผู้ประกอบธุรกิจครั้งนี้ จะไม่ซ้ำซ้อนกับผู้ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อตาม พ.ร.ก. ฉบับก่อนหน้านี้

ประการที่สอง มีแนวทางชัดเจนพอสมควรที่จะกำหนดได้ว่า ผู้ได้รับประโยชน์ทางการเงินจาก พ.ร.ก.นี้ เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างแท้จริง และทำให้ความช่วยเหลือทางการเงินนี้มุ่งไปสู่ระดับเอสเอ็มอี และระดับเล็กกว่านั้น ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะวิกฤติครั้งนี้ ผู้ได้รับผลกระทบแรงสุดคือ ระดับเอสเอ็มอีและระดับเล็กกว่านั้น

นายสถิตย์ อภิปรายถึงมาตรการเรื่องการโอนทรัพย์ชำระหนี้ต่อว่า ให้ข้อสังเกตไว้ 2 ประการ โดยประการแรกคือ มูลค่าของทรัพย์สินโอนชำระหนี้ควรจะกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินราคาเหมาะสมและยุติธรรม ทั้งกับสถาบันการเงินและลูกหนี้

ประการที่สอง เมื่อลูกหนี้ได้โอนหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันเพื่อการชำระหนี้ไปแล้ว และมีสิทธิ์เช่าทรัพย์สินนั้น ควรจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องค่าเช่าให้เหมาะสม เพราะเจตนารมณ์ของการพักทรัพย์พักหนี้เพื่อจะให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดค่าเช่าในอัตราเหมาะสม

นอกจากนี้ นอกเหนือจากมาตรการทางการเงินผ่านทางธนาคารพาณิชย์แล้ว ยังมีมาตรการกึ่งการคลังกึ่งการเงินอีกมาตรการหนึ่ง ซึ่งเป็นมาตรการดำเนินการผ่านทางสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งที่จริงแล้วสถาบันการเงินเฉพาะกิจคือ ธนาคารเพื่อการพัฒนา เป็นธนาคารที่รัฐตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนา ด้วยเหตุนี้ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเอสเอ็มอี ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า จึงเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่จะส่งเสริมการให้สินเชื่อและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือของธนาคารเพื่อการพัฒนา หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจเหล่านี้ให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการพัฒนาได้มีมาตรการไปบ้างแล้ว เช่น การส่งเสริมสภาพคล่อง การค้ำประกันสินเชื่อ การบรรเทาภาระหนี้สิน เป็นต้น แต่ต้องมีให้มากกว่านี้ เพราะธนาคารเพื่อการพัฒนานี้ จัดตั้งขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์จะให้ภาครัฐได้ใช้เครื่องมือนี้เพื่อการพัฒนา ต่างกับการใช้เครื่องมือผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำกับสถาบันการเงินพาณิชย์ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ของตัวเองและมีหน้าที่ในการดูแลเงินฝากของประชาชน จึงมีกฎเกณฑ์ไม่อาจจะบังคับได้เต็มที่ เพราะเป็นการใช้อำนาจในการชักชวนของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ในกรณีสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้น รัฐบาลให้นโยบายได้เต็มที่ ถ้าสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีความเสียหายเกิดขึ้น ก็ยังสามารถตั้งเป็นบัญชีบริการสาธารณะที่เรียกว่า Public Services Account และขอรับงบประมาณจากรัฐบาลได้เมื่อพิสูจน์ว่าเป็นการกระทำเพื่อการบริการสาธารณะอย่างแท้จริง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ