เศรษฐพุฒิ แจงสภาละเอียดยิบ ย้ำจำเป็นต้องออก พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ 3.5 แสนล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐพุฒิ แจงสภาละเอียดยิบ ย้ำจำเป็นต้องออก พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ 3.5 แสนล้าน

Date Time: 28 พ.ค. 2564 10:40 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ แจงสภาละเอียดยิบ จำเป็นต้องออก พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ 3.5 แสนล้าน ย้ำไม่ได้เป็นการกู้เงินของรัฐบาล และไม่ได้เป็นหนี้สาธารณะ แต่เป็น พ.ร.ก. ที่ให้อำนาจ ธปท. เป็นการชั่วคราว

Latest


เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ แจงสภาละเอียดยิบ จำเป็นต้องออก พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ 3.5 แสนล้าน ย้ำไม่ได้เป็นการกู้เงินของรัฐบาล และไม่ได้เป็นหนี้สาธารณะ แต่เป็น พ.ร.ก. ที่ให้อำนาจ ธปท. เป็นการชั่วคราว

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 หรือ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ จะช่วยเติมเต็มความช่วยเหลือให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

โดยกลไกของมาตรการช่วยเหลือตาม พ.ร.ก. นี้ ถูกออกแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจได้จริงสอดคล้องกับสถานการณ์ ผ่านการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดย ธปท. ยังคงทำงานร่วมกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งผลักดันให้ธุรกิจได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น และทันการณ์

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา การระบาดของโควิด-19 เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง เศรษฐกิจหดตัวถึงร้อยละ 6.1 เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ธปท. ร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงออกมาตรการทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจ ภายใต้ พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ซึ่งในขณะนั้นเน้นการเยียวยาระยะสั้นและเร่งด่วน เพราะประเมินว่าสถานการณ์ระบาดแม้จะส่งผลรุนแรง แต่จะคลี่คลายได้ในระยะเวลาไม่นาน

แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูง มาตรการเดิมที่มีอยู่จึงยังไม่เพียงพอ อีกทั้งการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขใน พ.ร.ก. ซอฟต์โลนเดิม ให้รองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทำได้ยากและใช้เวลานาน ธปท. และกระทรวงการคลัง เห็นความจำเป็นเร่งด่วน ในการออก พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ นี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ต่อเนื่องจาก พ.ร.ก. ซอฟต์โลนฉบับเดิม พร้อมปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น รวมทั้งมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อรองรับตามสถานการณ์ในระยะข้างหน้าหากจำเป็น

ทั้งนี้ การออกแบบมาตรการใน พ.ร.ก. ฟื้นฟูฉบับนี้ มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกหนี้ได้หลากหลายกลุ่ม และทันต่อเหตุการณ์ ธปท. จึงประสานความร่วมมือและหารือกับผู้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนของลูกหนี้ ผ่านสมาคมต่างๆ เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรมไทย และส่วนของเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงได้หารือและรับประเด็นต่างๆ จากคณะกรรมาธิการหลายชุด จนได้ข้อตกลงในมาตรการที่ตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่าย ประกอบด้วย มาตรการมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูวงเงิน 250,000 ล้านบาท เพื่อเติมสภาพคล่องใหม่และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อปลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน

มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขและกลไกจากมาตรการซอฟต์โลนเดิม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่รุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด รวมถึงเอื้อให้ธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ดังนี้

1. ปรับวงเงินสินเชื่อให้สูงขึ้นจากร้อยละ 20 ของยอดคงค้างสินเชื่อที่เบิกใช้ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องมากขึ้นในการรองรับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น

2. ปลดเงื่อนไขให้ครอบคลุมธุรกิจในวงกว้างขึ้น โดย SMEs กลุ่มที่เดิมไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อมาก่อน สามารถมาขอสินเชื่อฟื้นฟูได้

3. ขยายระยะเวลากู้ยืมให้ยาวขึ้น จาก 2 ปี เป็น 5 ปี ตามสถานการณ์ที่ยืดเยื้อกว่าเดิม โดยคาดว่าระยะเวลา 5 ปี จะเพียงพอให้เศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ

4. อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตามระยะเวลาสินเชื่อที่ยาวขึ้น และสะท้อนความเสี่ยงในปัจจุบัน แต่เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี โดยดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีแรกจะอยู่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี และลูกหนี้จะได้รับยกเว้นค่าดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อบรรเทาภาระ

5. ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยให้มีกลไกการค้ำประกันผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ที่มีสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายเพิ่มขึ้น จากกลไก บสย. ปกติที่ร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยออกแบบให้กลุ่ม SMEs รายเล็ก ได้รับการค้ำประกันในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่น ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงได้มากขึ้น

สำหรับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นกลไกใหม่ ที่ถูกออกแบบมาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและยืดเยื้อ ต้องใช้เวลานานกว่ากลุ่มอื่นๆ ในการฟื้นตัว แต่ยังมีภาระหนี้ในการผ่อนชำระ ไม่สามารถใช้กลไกการปรับโครงสร้างหนี้ปกติได้ และมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันอยู่กับสถาบันการเงิน

เช่น กลุ่มธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากนักท่องเที่ยวที่ลดลงมาก แต่จะกลับมาเปิดกิจการได้ เมื่อกิจกรรมเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ โดยลูกหนี้ที่เข้าโครงการจะสามารถโอนทรัพย์สินไปไว้ที่สถาบันการเงินเพื่อหยุดภาระการชำระหนี้ โดยมีสิทธิมาเช่าทรัพย์สินกลับเพื่อทำธุรกิจ และสามารถซื้อสินทรัพย์คืนเป็นรายแรกด้วยราคาที่เป็นธรรม

โดยกลไกนี้จะบรรเทาปัญหาของลูกหนี้ได้ใน 3 ด้าน 1. ช่วยหยุดภาระการชำระหนี้ของลูกหนี้ 2. ช่วยให้ลูกหนี้หลีกเลี่ยงการขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำ ในช่วงที่ความเสี่ยงสูง หรือที่เรียกกันว่า fire sale และ 3. เปิดโอกาสให้ลูกหนี้กลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง หลังสถานการณ์คลี่คลาย

นอกจากนี้ เพื่อดูแลให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ได้ออกแบบกลไกการกำหนดราคาซื้อคืนให้เหมาะสม ตรงไปตรงมา และให้ตกลงกันไว้ก่อน รวมทั้ง ธปท. ได้กำหนดให้มีมาตรฐานของสัญญาตีโอนทรัพย์ และให้สถาบันการเงินทุกรายต้องส่งสัญญาดังกล่าวมาให้ ธปท. พิจารณาก่อนเข้าร่วมโครงการด้วย มาตรการฟื้นฟูนี้ อาจไม่เหมาะกับทุกกลุ่มลูกหนี้ จึงต้องพิจารณาควบคู่ไปกับมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ด้วย

หลังจากที่ ธปท. ได้เริ่มเปิดให้สถาบันการเงินยื่นคำขอรับสภาพคล่อง เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 64 ที่ผ่านมา มีการเข้ามาขอรับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูล ณ วันที่ 24 พ.ค. 64 มียอดสินเชื่อฟื้นฟูที่ปล่อยแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 15,855 ล้านบาท เป็นลูกหนี้จำนวน 6,611 ราย คิดเป็นยอดสินเชื่อเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 ล้านบาทต่อราย ซึ่งถือได้ว่าสินเชื่อกระจายลงไปยัง SMEs ขนาดเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีวงเงินสินเชื่อเดิม ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ถึงร้อยละ 62 โดยส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจการพาณิชย์ รองลงมา คือ ภาคบริการ และพบว่าจากผู้ได้รับสินเชื่อทั้งหมด กว่าร้อยละ 64 เป็นธุรกิจที่อยู่ในต่างจังหวัด

ยอดการปล่อยสินเชื่อในช่วงแรกนี้ ยังค่อยเป็นค่อยไปตามที่คาดไว้ ว่าจะมีการเบิกใช้สินเชื่อเป็น 3 ระยะ โดยในระยะแรกนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจของกลุ่ม SMEs เป้าหมายที่เป็น SMEs ขนาดเล็ก ยังถูกกระทบจากการระบาด สินเชื่อส่วนใหญ่จึงเป็นสินเชื่อหมุนเวียนและมูลค่าไม่สูง

ในระยะถัดไป เมื่อเศรษฐกิจ เริ่มฟื้นตัวได้ ธุรกิจจะต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติมในการปรับปรุงกิจการเพื่อเตรียม ความพร้อม และสุดท้าย เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาสู่ระดับปกติ ก็จะต้องใช้สินเชื่อเพื่อขยายหรือปรับเปลี่ยนธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นเหตุผลที่ทำให้ พ.ร.ก. นี้ กำหนดระยะเวลาการมาขอสินเชื่อได้ยาวถึง 2 ปี

นอกจากนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินต่างๆ ในการช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยที่เป็นคู่ค้าของตน ให้สามารถเข้าถึงสภาพคล่องจากมาตรการนี้เพิ่มเติม โดยให้ข้อมูลที่จำเป็นในการพิจารณาสินเชื่อ เช่น ประวัติและยอดขายในอดีตของคู่ค้า เพื่อให้สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงของธุรกิจได้ง่ายขึ้น ซึ่ง ธปท. จะสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดใหญ่อื่นๆ เร่งดำเนินการในแนวทางเช่นเดียวกันนี้ เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพของมาตรการ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้รายย่อยเข้าถึงความช่วยเหลือได้มากขึ้นอีก

สำหรับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นโครงการใหม่ ต้องใช้เวลาหารือรายละเอียดเป็นรายกรณี โดยปัจจุบัน มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 910 ล้านบาท จากลูกหนี้ 4 ราย โดยส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจโรงแรม และลูกหนี้หลายรายอยู่ระหว่างการหารือ กับสถาบันการเงิน

แต่เนื่องจากการเข้าร่วมโครงการจะต้องมีการเจรจาเงื่อนไขและรายละเอียดเป็นรายกรณี ทำให้ต้องใช้เวลามากกว่าสินเชื่อฟื้นฟูในการได้ข้อสรุป ทั้งนี้ เมื่อลูกหนี้และเจ้าหนี้มีความเข้าใจและคุ้นเคยกับมาตรการมากขึ้น รวมทั้งเมื่อการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะช่วยลดต้นทุนการโอนทรัพย์สินมีผลบังคับใช้แล้ว การเข้าร่วมโครงการนี้จะเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง

ส่วนข้อกังวลว่าการใช้ระบบธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อภายใต้มาตรการนี้ อาจทำให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก ขอชี้แจงว่าประเด็นสำคัญคงไม่ใช่แค่การเข้าถึงเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมไปถึงว่า การช่วยเหลือนั้นเร็วและตรงจุดหรือไม่ ไปสู่ผู้ที่เดือดร้อนแต่มีโอกาสกลับมาทำธุรกิจได้หรือไม่

เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากจนเกินไปกับประเทศในอนาคต ซึ่งผู้จัดสรรสินเชื่อที่จะตอบโจทย์ดังกล่าว จำเป็นต้องรู้จักลูกหนี้ และมีข้อมูล เข้าใจธุรกิจ ประเมินความเสี่ยงเป็น ดังนั้น สถาบันการเงินจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะที่สุดในสภาวะปัจจุบัน เทียบกับการใช้กลไกของภาครัฐ ที่มีความชำนาญและความคุ้นเคยกับธุรกิจไม่เท่ากับสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ตาม การพึ่งพากลไกของสถาบันการเงินอย่างเดียวไม่เพียงพอ พ.ร.ก. นี้ จึงได้ออกแบบให้เพิ่มกลไกสภาพคล่องจาก ธปท. และการค้ำประกันจาก บสย. ข้างต้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ที่เสี่ยงได้มากขึ้น นอกจากนั้น ธปท. ติดตามและดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ซึ่ง ธปท. ได้ออกประกาศและกฎเกณฑ์เป็นแนวปฏิบัติให้กับสถาบันการเงิน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.ก. ด้วย

ทั้งนี้ ในการดำเนินมาตรการ ธปท. ให้ความสำคัญกับการเร่งผลักดันให้ธุรกิจได้รับความช่วยเหลือมากขึ้นและทันการณ์ โดยโจทย์ใหญ่ของมาตรการนี้ คือ การช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบธุรกิจจากปัญหาโควิด 19 ให้ได้มากที่สุด นอกจากการออกแบบกลไกความช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ความเดือดร้อนแล้ว

ที่สำคัญ คือ การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของมาตรการ ที่ผ่านมา ธปท. จึงได้ติดตามและประเมินผลการขอสินเชื่ออย่างใกล้ชิด รวมทั้งเร่งรัดให้สถาบันการเงินแต่ละแห่ง มีมาตรการช่วยเหลือเชิงรุกที่เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละรายตามผลกระทบและความเดือดร้อนของลูกหนี้ และเร่งสื่อสารรายละเอียดของมาตรการไปยังสาขาอย่างเข้มข้น เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจและสามารถให้บริการแก่ลูกหนี้ได้อย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน ธปท. ได้สื่อสารกับกลุ่มลูกหนี้ผ่านสมาคมต่างๆ และสื่อมวลชนทุกแขนง รวมทั้งจัดให้มี call center เฉพาะกิจ เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดของมาตรการ อีกทางหนึ่งด้วย

จากการหารือกับสถาบันการเงินล่าสุด จะสามารถปล่อยสินเชื่อจากมาตรการใน 6 เดือนจากนี้ ได้กว่า 1 แสนล้านบาท และหากการให้ความช่วยเหลือไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ธปท. ก็พร้อมที่จะเพิ่มกลไกในการผลักดันให้สถาบันการเงินดำเนินการได้เร็วยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น หากสถานการณ์การระบาดต่างไปจากที่คาดไว้ พ.ร.ก. นี้ก็ได้ให้ความยืดหยุ่นในการปรับปรุงเงื่อนไขให้สอดคล้อง หรือดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมหากจำเป็น

"วงเงิน 350,000 ล้านบาท ตาม พ.ร.ก. ฟื้นฟูฉบับนี้ ไม่ได้เป็นการกู้เงินของรัฐบาล และไม่ได้เป็นหนี้สาธารณะ แต่เป็น พ.ร.ก. ที่ให้อำนาจ ธปท. เป็นการชั่วคราว ให้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องในระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจ ให้กระจายตัวไปยังผู้ที่ต้องการได้ตรงจุดมากขึ้น เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ธปท. จะได้รับสภาพคล่องเหล่านั้นกลับคืนมา ส่วนที่รัฐบาลรับภาระจะมีเฉพาะดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก และความเสียหายที่ร่วมรับภาระกับสถาบันการเงินผ่านกลไก บสย. ในกรณีที่ลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสีย จึงเป็นการออกแบบกลไกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้ให้ได้มากที่สุด โดยไม่สร้างภาระการคลังให้กับรัฐบาลมากจนเกินควร" ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ