นโยบายพรรคภูมิใจไทย ให้ปลูกกัญชาได้บ้านละ 6 ต้น ตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง ด้วยข้อกฎหมาย ด้วยขั้นตอนการเพิ่งเริ่มต้น และต้องระแวดระวังไม่ให้การปลูกที่หวังจะได้ “คุณ” กลับกลายเป็น “โทษ”
อย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทยในฐานะผู้กุมบังเหียนกระทรวงสาธารณสุข ได้ผลักดันให้ผู้สนใจที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน สามารถยื่นขออนุญาตปลูกได้ โดยปัจจุบันมีการยื่นขออนุญาตกันมากกว่า 100 แห่ง ลองไปตามรอยวิสาหกิจเหล่านี้ดูว่า เขาได้เดินไปข้างหน้า ฝันและก้าวกันไป...ถึงไหนแล้ว
ณัฐวรรธน์ วรพนิตกุล ประธานชุมชนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกและแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์ บ้านทุ่งแพม ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เล่าว่า ก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีเจตนาร่วมกันในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชง ได้เริ่มปลูกกัญชาต้นแรก เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2563 เพื่อใช้ทางการแพทย์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความพร้อมเปิดพื้นที่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการปลูกกัญชาที่ถูกต้อง และเป็นพี่เลี้ยงในการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องวิธีการปลูก เทคนิคการปลูก การก่อสร้างโรงเรือน การขออนุญาต ตลอดจนการสนับสนุนสายพันธุ์กัญชา และพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อผลักดันให้เกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับประโยชน์จากการปลูกกัญชาอย่างสูงสุด ที่นี่มีโรงเรือนระดับ Medical Grade มาตรฐาน GMP ระดับสากล ใช้ระบบ QR CODE ติดตามการใช้งานของกัญชาแต่ละต้น
ธนายุต จิตต์พายัพ ผู้จัดการบริษัทไทยคอนยัค จำกัด ผู้ดูแลศูนย์วิจัยและพัฒนากัญชาทาง การแพทย์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม กล่าวว่า ได้พัฒนาและวิจัยสายพันธุ์ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงในการนำไปใช้ปรุงยาไทย 16 ตำรับมีพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร มี การบริหารจัดการ แบบเกษตรอินทรีย์ปลูกกัญชารุ่นแรก 320 ต้น และจะปลูกให้เต็มพื้นที่ 3,000 ต้น สายพันธุ์กัญชาที่นำมาปลูกมี 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย สายพันธุ์เพชรบุรี ตะนาวศรี หางกระรอกด้ายแดง และหางกระรอกอีสาน พื้นที่ทั้งหมดมีระบบการรักษาความปลอดภัยสูง ผู้ที่เข้า-ออกต้องได้รับอนุญาตเท่านั้น ส่วนการลำเลียงขนส่ง ต้องแจ้งไปยังจังหวัดและตำรวจทางหลวงทุกครั้ง ตามมาตรการรักษาความปลอดภัยของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2563 ได้ปลูกเพิ่มอีก 500 ต้น เพื่อส่งผลผลิตให้กับโรงพยาบาลดอนตูม จ.นครปฐม ซึ่งผลผลิตกัญชาที่วิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งแพมฯ ได้รับการยกย่องว่าเป็นกัญชาที่มีคุณภาพสูง ให้สาร THC และ CBD เหมาะสมสำหรับการปรุงยาและรักษาโรค อีกทั้งยังเป็นกัญชาอินทรีย์ 100% ปลูกภายใต้โรงเรือนระบบปิด และกำลังขออนุญาตในการตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่ ชื่อ กัญชาสายพันธุ์ทุ่งแพม ต้องการจะใช้ชื่อนี้ให้ทุกคนทั่วโลกได้รู้จักในฐานะสถานที่ปลูกกัญชาสายพันธุ์ที่ดี และหวังต่อยอดไปยังตลาดต่างประเทศ
ขณะที่ร้านอาหารเขียวไข่กา ที่กรุงเทพฯ จัดเสิร์ฟเมนูอาหารไทยจากใบกัญชา ประกอบอาหารหลากหลายเมนู อาทิ เมี่ยงกะพงกรอบกัญชาหวาน แกงเขียวหวาน ใบเหลียงผัดไข่ใบกัญชา ไข่เจียวอารมณ์ดี กุ้งทอดสะเดาน้ำปลาหวาน ข้าวยำบูดูใบกัญชา ต้มไก่บ้านมะขามอ่อนใบกัญชา และยำใบกัญชากรอบ
แต่ละเมนูได้นำใบกัญชาจากวิสาหกิจชุมชนฯบ้านทุ่งแพมมาเป็นส่วนประกอบ มีความปลอดภัย ออร์แกนิก 100% และเป็นกัญชาที่มาจากแหล่งที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น.
สันทัด เดชเกิด “หมอพื้นบ้าน” ที่ได้รับการรับรองจากสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบริหารและพัฒนาเกษตร ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีชันธ์ กล่าวว่า แต่เดิมมีความตั้งใจรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นเพื่อปลูกพืชสมุนไพร และพืชผลทางการเกษตร ส่วนหนึ่งเพื่อจะนำมาใช้ในการรักษาช่วยเหลือ รักษาผู้ป่วย ตามหน้าที่และยังเป็นคนผลักดันให้เกิดธรรมนูญชุมชนในการปลูกพืชกระท่อม ของ ต.ช้างแรก จึงมีแนวคิดต่อยอดปลูกพืชกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และงานวิจัย
ในกลุ่มได้ดำเนินการยื่นขออนุญาตปลูกพืชกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และงานวิจัย มีการออกแบบและทำการก่อสร้างโรงเรือนที่มีรั้วรอบขอบชิด และเตรียมการลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU ภายใต้โครงการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และงานวิจัย กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนคร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และพร้อมจะยื่นเรื่องขออนุญาตปลูกกัญชาต่อคณะกรรมการอาหารและยา ภายในเดือน เม.ย.นี้
“เบื้องต้นจะใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท เพื่อใช้ถมดินปรับพื้นที่ และก่อสร้างโรงเรือนแบบกรีนเฮาส์ บนเนื้อที่ 400 ตารางเมตร ดำเนินการด้านเอกสารต่างๆ โดยสาระสำคัญของ MOU คือ ผลผลิตที่ได้ในส่วนที่เป็นช่อดอกและเมล็ด ซึ่งยังคงถูกจัดเป็นยาเสพติดจะต้องถูกส่งมอบให้กับทางมหาวิทยาลัย และในส่วนที่เหลือจะสามารถขายให้กับบริษัทผลิตยา ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แต่ในส่วนของราก ลำต้น และใบ ที่ไม่ได้ถูกจัดเป็นยาเสพติด มีร้านอาหารในพื้นที่บางส่วนได้มีการติดต่อมาเพื่อขอซื้อไว้ล่วงหน้าแล้ว”
สันทัด ระบุว่า ตนเป็นหมอพื้นบ้าน และเป็นผู้ที่ผลักดันให้เกิดธรรมนูญชุมชนในการปลูกพืชกระท่อม มีการนำพืชสมุนไพรต่างๆมาใช้ปรุงยาพื้นบ้าน เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้สนใจ ตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่และในจังหวัดทราบว่า ได้เตรียมการปลูกกัญชาทางการแพทย์และงานวิจัยเป็นแห่งเเรกของจังหวัด จึงเข้ามาสอบถามจำนวนมาก ถึงขั้นตอนการดำเนินการให้ถูกกฎหมาย ในอนาคตหากเริ่มมีการปลูกแล้ว ตั้งใจจะให้สถานที่แห่งนี้เป็นต้นแบบให้กับผู้ที่สนใจเป็นสถานศึกษาดูงานแบบครบวงจร
นอกจากนี้ จุดเด่นที่ตั้งของโรงเรือน อยู่ริมถนนเพชรเกษม ฝั่งขาขึ้นกรุงเทพฯ หลัก กม. ที่ 400 เป็นเส้นทางหลักของผู้เดินทางหรือนักท่องเที่ยว ขึ้นล่อง 14 จังหวัดภาคใต้ สามารถมองเห็นได้เด่นชัด จึงเตรียมปรับปรุงพื้นที่รอบๆ เป็นจุดพักรถ จุดเช็กอิน มีการออกแบบรั้วที่เป็นลักษณะตาข่ายที่สามารถกันนักท่องเที่ยวไม่ให้เข้าไปภายในโรงเรือนแต่สามารถถ่ายรูป หรือเซลฟี่จากด้านนอกกับต้นกัญชาได้อย่างชัดเจน
“รวมทั้งจะมีการสร้างร้านกาแฟและร้านอาหารเล็กๆ ที่นำส่วนประกอบของกัญชา ราก ลำต้น ใบ มาเป็นวัตถุดิบในการปรุง อาหารและเครื่องดื่ม ให้บริการแก่คนในพื้นที่และกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมทั้งตั้งใจให้เป็นจุดเรียนรู้ต่อยอดให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ที่สนใจจะปลูกกัญชาทางการแพทย์และงานวิจัย โดยมุ่งเน้นสร้างรายได้คืนกลับสู่ชุมชนในทุกมิติ เบื้องต้นคำนวณรายได้ไว้คร่าวๆจากผลผลิตต่อรอบการปลูก 1 รอบ ใช้ระยะเวลา 6 เดือน น่าจะมีรายได้ยังไม่หักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 4 ล้านบาท”.
ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า การพัฒนาและขับเคลื่อนงานนโยบายด้านกัญชาทางการแพทย์ของอภัยภูเบศร เริ่มต้นตั้งแต่ มิ.ย.2562 ในรูปแบบครบวงจร คือ ปลูก ผลิต และจ่ายใช้ในผู้ป่วย รวมทั้งทำโครงการ “กัญชาอภัยภูเบศรโมเดล” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยและสถาบันการแพทย์
“ได้วางการพัฒนาอย่างเป็นระบบ สู่การใช้ประโยชน์ครบทุกมิติ ประกอบด้วย การพัฒนาในส่วนต้นน้ำ การจัดการ วัตถุดิบกัญชาที่มีคุณภาพ และทำงานร่วมกับวิสาหกิจเพื่อสังคม ศึกษาการปลูกกัญชา 3 ระบบ ได้แก่ ระบบปิด กึ่งปิด และระบบเปิด ในปัจจุบัน พบว่าระบบปิดน่าจะไม่มีความคุ้มค่าสำหรับเกษตรกรประเทศไทย เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงมาก ต้องลงทุนโรงเรือนและวัสดุต่างๆในราคาสูง อีกทั้งยังใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง”
การศึกษาสายพันธุ์ มี 2 สายพันธุ์หลักๆ คือ กัญชาสายพันธุ์ไทย หรือพันธุ์หางกระรอก ปลูกในระบบกลางแจ้ง ใช้ทุกส่วนในการทำยา สารสำคัญหลักที่ใช้คือ THC หรือ Tetrahydro-cannabinol เรียกกันทั่วไปว่า สารเมา
อีกสายพันธุ์คือ ชาลอตแองเจิล ปลูกในระบบกึ่งเปิดกึ่งปิด เน้นใช้ดอกทำยา ใช้ประโยชน์จากสาร CBD หรือ cannabidiol เป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท คือ ไม่ทำให้เมา สายพันธุ์นี้เน้นสาร CBD เป็นหลัก จำเป็นต้องปลูกในระบบกึ่งเปิดกึ่งปิด หรือกรีนเฮาส์ เพื่อให้ควบคุมเรื่องแสงและอุณหภูมิได้ง่าย และดีต่อการเจริญเติบโต ให้ได้สารสำคัญ ตัวยาที่มีคุณภาพ
การพัฒนาในส่วนกลางน้ำ ได้พัฒนากระบวนการสกัด และผลิต ปัจจุบันมียา 4 ตำรับที่ได้รับอนุญาตให้ผลิต และกระจายไปในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เกือบ 300 แห่ง ได้แก่ ยาสารสกัด THC 1.7% (สั่งจ่ายโดยแพทย์แผนปัจจุบัน) ยาแคปซูลศุขไสยาศน์ (สั่งจ่ายโดยแพทย์แผนไทย) ยาน้ำมันกัญชาทั้ง 5 ชนิดรับประทาน และชนิดทาภายนอก (สั่งจ่ายโดยแพทย์แผนไทย) ส่วนปลายน้ำ เราเป็นโรงพยาบาลแรกของประเทศที่เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ มีแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยทำงานด้วยกัน
นอกจากนี้ ได้พัฒนาการใช้ประโยชน์จากส่วนที่พ้นจากการเป็นยาเสพติดของกัญชาด้วย คือ การใช้เป็นอาหาร เครื่องดื่ม เช่น ลูกประคบ น้ำมัน เครื่องสำอาง บาล์มหรือยาหม่อง เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบให้กับผู้ประกอบการใช้ศึกษาเป็นแนวทางในการต่อยอดต่อไป รวมถึงการพัฒนา ต้นแบบ สปา กัญชาไทย ที่มีการประยุกต์การใช้กัญชากับภูมิปัญญาไทย ในรูปแบบของการส่งเสริมสุขภาพแบบสปา ได้มีการจัดการอบรมเป็นคอร์สระยะสั้น ตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มผู้เข้าอบรมที่เราได้กำหนดไว้ เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบการร้านอาหาร สปา และระดับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อนำไปสู่การใช้อย่างยั่งยืนและเกิดการสร้างมูลค่า กระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศได้.
นิพนธ์ พันธเกียรติไพศาล ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรก้าวหน้า อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ประมาณเดือน ต.ค.2562 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ได้จัดทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างโรงพยาบาลคูเมืองกับโรงพยาบาลและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ จำนวน 7 แห่ง เพื่อปลูกกัญชา และเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลทุกแห่งครบทั้ง 23 อำเภอ ใน จ.บุรีรัมย์
“ผมคิดว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิบัติ นโยบายกัญชากัญชงนี้ หน่วย-งานรัฐในจังหวัดบุรีรัมย์เป็นพี่เลี้ยงพาวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดเราเดินหน้าเพื่อพัฒนาต่อยอด บุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่มีความพิเศษ เรามีผู้ใหญ่ของจังหวัดที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลรวมถึงความกล้าที่จะลงมือทำ คงเป็นใครไม่ได้นอกจากท่านเนวิน ชิดชอบ พันธุ์บุรีรัมย์”
มหกรรมกัญชาเพื่อการแพทย์ที่จัดขึ้นในปี 2562 ประสบความสำเร็จอย่างมากมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 150,000 คน สร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่กว่าหลายสิบล้านบาท สะท้อนความสนใจของประชาชนอย่างดี ถึงแม้ว่าจะถูกพิษโควิดแต่พอมีงานมหกรรมกัญชากัญชง 360 องศาในเดือน ม.ค.2564 รวมไปถึงการปลดล็อกใบ ต้น รากกัญชา จากยาเสพติด ได้เกิดกระแสความตื่นตัวไปทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม การรวมตัวกันระหว่างวิสาหกิจชุมชน จำเป็นต้องมีการสร้างมาตรฐานการผลิตเป็นเครือข่าย การสร้างราคากลางให้เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นจะต่างคนต่างปลูก ต่างขาย เกิดการตัดราคากัน สุดท้ายก็จะเหลือรอดแต่วิสาหกิจกลุ่มใหญ่
ตลาดกัญชาและกัญชงนั้นมีมูลค่ามหาศาล ถ้ามองแบบเร็วๆ ตลาดเครื่องดื่มและอาหารมีมูลค่าสูงถึง 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ผู้คนให้ความสนใจในสุขภาพมากขึ้น ทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิตต่างก็ทราบถึงความมหัศจรรย์ของสาร CBD ในกัญชา และกัญชง เราต้องปลูกให้ได้มาตรฐาน คุณภาพสูง สร้างแบรนด์ให้มีความน่าเชื่อถือ จึงจะหลุดจากกับดักที่เดิมๆเหมือนข้าว มัน อ้อย และยางพารา
“ในใจคิดอยู่แล้วว่าหลังจากนี้ต้องทำเรื่องการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และนักท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ มีมากถึง 17 ล้านคน ในปี 2560-2562 มีการใช้จ่ายกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี เกิดการจ้างงานเกือบ 600,000 คน มองปรากฏการณ์ระบาดของโควิดเป็นด้านบวก และยิ่งได้เปรียบตรงที่ประเทศไทยเราปลดล็อกกัญชาเป็นประเทศแรกในเอเชีย นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อยู่ในภาวะต้องการออกท่องเที่ยว ดูแลสุขภาพ พักผ่อน คลายเครียด และนอนหลับ ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่กลุ่มนี้เลือก”
ส่วนระบบการรองรับนักท่องเที่ยว ด้วยความที่กัญชายังเป็นพืชที่ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัย การทำการท่องเที่ยวเชิง Cannabis Farm Tour คงต้องรอความชัดเจนจาก อย. แต่แน่นอนหากรัฐยังสนับสนุนกัญชาและกัญชง และมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป.
ทีมเศรษฐกิจ