การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ระลอกแรกในช่วงปี 63 ที่ผ่านมาถือเป็นอีกครั้งที่เศรษฐกิจไทยประสบกับความเสียหายรุนแรง ส่งผลให้รัฐบาลต้องระดมสรรพกำลัง และออกมาตรการทางเศรษฐกิจจำนวนมากเพื่อเยียวยาประชาชน
แต่ยังไม่ทันที่ “เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้” การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งหนักกว่าทั้งความเร็วในการแพร่ระบาด และจำนวนผู้ติดเชื้อ ก็เข้ามาซ้ำเติมความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทยอีกระลอกและหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เรายังจำเป็นต้องคุมเข้มการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไป ความเสียหายก็ยิ่งเพิ่มขึ้น
และเมื่อมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะทรุดตัวลงอีกครั้งหรือไม่ การอัดฉีดเงินของรัฐบาลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รอบใหม่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ชะตาอนาคต
โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ยังคงยึดตามแนวทางของมาตรการเดิม แจกเงินเยียวยา และลดค่าครองชีพ ค่าน้ำ-ค่าไฟให้ครัวเรือน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยยังคงมุ่งเป้าช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเข้าใจง่าย “ทีมเศรษฐกิจ” ขอรวบรวมมาตรการเยียวยาผลกระทบจากวิกฤติไวรัสร้าย มาฉายภาพให้เห็น ดังนี้
เริ่มต้นด้วยมาตรการแรก ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติไปเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยแจกเงินจำนวน 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวมคนละ 7,000 บาท เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบภายใต้โครงการ “เราชนะ” โดยตรวจสอบผู้มีสิทธิได้รับเงินแจกฟรีรอบใหม่ เบื้องต้น 31.1 ล้านคน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.9 ล้านคน กรณีแรก กลุ่มที่ได้รับเงินช่วยเหลืออยู่แล้ว 800 บาทต่อเดือน ตามโครงการเราชนะ จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 675 บาทต่อสัปดาห์ หรือ 2,700 บาทต่อคนต่อเดือน รวมวงเงินต่อคนตลอดโครงการ 5,400 บาท และกรณีที่ 2 ได้รับอยู่แล้ว 700 บาทต่อเดือน ก็จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกคนละ 700 บาทต่อสัปดาห์ หรือ 2,800 บาทต่อคนต่อเดือน รวมตลอดโครงการ จำนวน 5,600 บาท
โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับสิทธิอัตโนมัติ ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่เพื่อรับเงิน “เราชนะ” อีกครั้ง รัฐจะโอนเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ทุกวันศุกร์ จนครบ 7,000 บาท เริ่มศุกร์แรกวันที่ 5 ก.พ.นี้
ส่วนการใช้จ่ายเงินนั้น ได้มอบหมายให้ธนาคารกรุงไทย พัฒนาแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เพื่อรับชำระค่าใช้จ่ายจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีแอปฯ “เป๋าตัง” โดยถือบัตรไปยังร้านค้าที่มีป้าย “เราชนะ-คนละครึ่ง” ก็จะใช้จ่ายได้ อย่างไรก็ตาม เงินส่วนนี้ไม่สามารถกดเป็นเงินสดได้
ขณะที่กลุ่มที่ 2 ที่มีสิทธิได้รับเงินจากโครงการเราชนะ คือ กลุ่มคนที่ได้รับสิทธิคนละครึ่ง 15 ล้านคนเดิม แต่ก่อนที่จะมีสิทธิได้รับเงินจะต้องผ่านด่านคัดกรองคุณสมบัติอย่างเข้มข้น เพื่อคัดผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงสเปกออกไป
เช่น อายุไม่ครบ 18 ปี ไม่มีสัญชาติไทย มีประกันสังคมมาตรา 33 เป็นข้าราชการ พนักงานลูกจ้างหน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือผู้รับบำนาญ เบี้ยหวัดจากส่วนราชการ กรณีเหล่านี้หมดสิทธิ หรือหากเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินในฐานภาษีเกินปีละ 300,000 บาท มีรายได้ประจำเกินเดือนละ 25,000 บาท หรือมีเงินฝากทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ก็หมดสิทธิ์เช่นกัน โดยเบื้องต้นคาดว่ากลุ่มนี้จะไม่ได้รับเงิน “เราชนะ” หรือคัดออกราว 4 ล้านคน
ส่วนที่สอบผ่านคุณสมบัติทั้งหมด จะได้รับข้อความจากรัฐบาลว่า คุณได้รับสิทธิรับเงินเราชนะ และจะได้รับเงินโอนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สัปดาห์ละ 1,000 บาท รวม 7 ครั้ง เป็นเงิน 7,000 บาทต่อคน โดยโอนเงินให้ผ่าน “G-Wallet” ทุกวันพฤหัสบดีจนครบ 7,000 บาท เริ่มพฤหัสบดีแรกวันที่ 18 ก.พ.64
ขณะที่ กลุ่มที่ 3 กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่ไม่มีข้อมูลใดๆ ไม่มีทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ไม่มีแอปฯ “เป๋าตัง” หากต้องการขอใช้สิทธิรับเงินเยียวยา “เราชนะ” 7,000 บาท ให้ยื่นลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เราชนะ หรือหากไม่สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ได้ ให้ติดต่อสาขาของธนาคารกรุงไทย และธนาคารที่รัฐบาลจะมอบหมาย เพื่อช่วยลงทะเบียนให้ ซึ่งลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ.64 นี้
ทั้งนี้ หลังจากลงทะเบียนและผ่านการคัดกรองแล้ว จะมีความชัดเจนว่า จะใช้วิธีใดจ่ายเงินเยียวยา “เราชนะ” ให้ รัฐบาลยืนยันว่า คนกลุ่มนี้ ได้รับสิทธิแน่นอน แม้จะไม่มีโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนก็ตาม
เพราะรัฐบาลต้องการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ไม่ต้องการถูกครหาว่า “เกาไม่ถูกที่คัน-แก้ปัญหาไม่ตรงจุด-คนที่สมควรได้ กลับไม่ได้-คนที่ไม่สมควรได้ แต่กลับได้รับสิทธิ”
ขณะเดียวกัน รัฐยังคงเดินหน้าโครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้เป็นอย่างดี มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบราว 50,000 ล้านบาท โดยจากการเปิดโครงการไปแล้ว 2 เฟส มีผู้ร่วมโครงการ 15 ล้านคน ส่วนจะเปิดเฟส3 ต่อ หรือไม่?? กระทรวงคลังขอประเมินการใช้จ่ายผ่านโครงการนี้ หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาในวันที่ 31 มี.ค. 64 ก่อนว่ามีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร โดยมีแนวโน้มสูงที่รัฐจะต่อเฟส 3 เพราะได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก
ปัจจุบันมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง 1 ล้านร้านค้า และหาบเร่แผงลอยอีก 130,000 ร้าน ส่วนร้านธงฟ้าประชารัฐ ที่มีอยู่ 92,000 แห่งทั่วประเทศ สามารถใช้จ่ายได้เช่นเดิม แต่สำหรับร้านค้า และผู้ประกอบการทั่วไป ที่มีเงื่อนไขตรงตามที่รัฐกำหนด สามารถเข้าร่วมโครงการ “เราชนะ” ได้ โดยลงทะเบียนเช่นเดียวกับ “คนละครึ่ง”
นอกจากมาตรการเยียวยาด้วยการให้เงินช่วยเหลือแล้ว รัฐบาลยังมีมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ซึ่งคาดว่า จะทำให้ประชาชนประหยัดเงินได้ 9,000 ล้านบาท
โดยจะลดเงินที่ต้องจ่ายค่าน้ำประปาให้ 10% เป็นเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าประปา เดือน ก.พ. และ มี.ค.64 สำหรับที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก 6.76 ล้านรายทั่วประเทศ คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 395 ล้านบาท
ส่วนมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า จะลดให้สำหรับใบแจ้งหนี้เดือน ก.พ. และ มี.ค.64 เช่นกัน โดยกลุ่มใช้น้อยกว่า 150 หน่วย ใช้ฟรี 90 หน่วยแรกทุกราย และกลุ่มใช้เกิน 150 หน่วย แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีใช้ไฟน้อยกว่าหรือเท่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน ธ.ค. 2563 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยใช้ไฟฟ้าจริง 2.กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าเดือน ธ.ค. หากใช้ไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือน ธ.ค. ส่วนกรณีใช้มากกว่า 500 หน่วย แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือน ธ.ค. บวกด้วยหน่วยที่เกินในอัตราร้อยละ 50 และกรณีมากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือน ธ.ค.2563 บวกด้วยไฟที่ใช้เกินในอัตราร้อยละ 70 และสำหรับกิจการขนาดเล็ก ฟรี 50 หน่วยแรกทุกราย จำนวน 1.74 ล้านราย วงเงิน 800 ล้านบาท
ขณะที่มาตรการช่วยเหลือค่าอินเตอร์เน็ต ซึ่งภาครัฐและผู้ประกอบการโทรคมนาคม ได้ประกันออกแพ็กเกจมือถือรายเดือนราคาถูก 79 บาท ใช้งานได้ 30 วัน เพิ่มความเร็วเน็ตบ้านไม่ต่ำกว่า 100/100 เมกะบิต (Mbps) ไปจนถึงวันที่ 14 มี.ค.64 เพื่อสนองนโยบายทำงานที่บ้าน
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.วันที่ 26 ม.ค.นี้ ช่วยเหลือทั้งนายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตนในระบบตามมาตรา 33 โดยเสนอให้ลดเงินสมทบประกันสังคมในส่วนลูกจ้างลงเหลือ 0.5% ในเดือน ก.พ.-มี.ค. เพื่อช่วยลูกจ้างในระบบประกันสังคม 12 ล้านคนให้มีเงินในกระเป๋ามากขึ้น แม้จะทำให้เงินส่วนนี้หายไป 20,000 ล้านบาท ส่วนนายจ้างยังนำส่ง 3% เช่นเดิม จากเดิมที่ ครม.เห็นชอบปรับลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 3% ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จ่าย 278 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (ม.ค.- มี.ค.64)
ส่วนกรณีการว่างงานจากเหตุสุดวิสัยนั้น ล่าสุด ครม.ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. โดยกำหนดให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย และหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เป็นผลกระทบให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น
มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่ แต่ภายใน 1 ปีปฏิทิน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีนี้ ทุกครั้งรวมกันไม่เกิน 90 วัน
อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่า เงินทดแทนกรณีว่างงานครั้งนี้ที่ให้ 50% ของค่าจ้างรายวัน ต่ำกว่าที่ให้ในอัตรา 62% ในช่วงการแพร่ระบาดรอบแรก อีกทั้งการช่วยเหลือในรอบแรก ช่วยเหลือลูกจ้างที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจากทั้งกรณีที่รัฐสั่งปิด และนายจ้างปิดกิจการเองเป็นการชั่วคราวอันเนื่องจากการระบาด แต่ในรอบนี้ ช่วยเหลือเฉพาะลูกจ้างที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจากกรณีที่กิจการที่ถูกหน่วยงานรัฐสั่งปิดเท่านั้น
ดังนั้น ในรอบนี้ลูกจ้างธุรกิจโรงแรมที่จำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราวเอง โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ทั้งพัทยา ชลบุรี ระยอง ไม่ได้รับเงินชดเชย ยกเว้น จ.จันทบุรี และกาญจนบุรี ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ปิดกิจการ
สำหรับมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน และสินเชื่อ กระทรวงการคลัง สั่งการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 7 แห่ง ดำเนินการพักเงินต้น-ดอกเบี้ย ยืดหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เพิ่มเติม โดยลูกหนี้ต้องเข้าไปปรึกษาธนาคารเจ้าหนี้เอง เนื่องจากมูลหนี้ และความต้องการช่วยเหลือแต่ละรายไม่เหมือนกัน
ส่วนการเสริมสภาพคล่อง ธนาคารออมสินได้ขยายระยะเวลาการยื่นคำขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และสินเชื่อฉุกเฉินรายละ 10,000 บาท และสินเชื่อเสริมพลังฐานราก 50,000 บาท สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ออกไปจนถึง 30 มิ.ย.64 ขณะที่ ธ.ก.ส. ขยายเวลายื่นคำขอโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.64 เช่นกัน ทั้งสินเชื่อฉุกเฉิน สินเชื่อเพียงพอเลี้ยงชีพ สินเชื่อ “นิวเจนรักบ้านเกิด” และสินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่
ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดจากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.63 เป็น 30 มิ.ย.64 นอกจากนั้น ยังให้ชะลอการชำระหนี้ของลูกหนี้เอสเอ็มอี ที่กู้เงินจากโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 500,000 ล้านบาท (ซอฟต์โลน) ของ ธปท. ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทออกไปด้วย
โดยธนาคารพาณิชย์ได้ขยายเวลาตามคำสั่ง ธปท.แล้ว ภายใต้ 4 แนวทาง คือ 1.ยืดเวลาการชำระหนี้ หรือปรับหนี้เป็นหนี้ระยะยาวเพื่อลดวงเงินผ่อนส่งรายเดือน สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยลดดอกเบี้ย ให้เหลือจ่ายไม่เกิน 12% สำหรับบัตรเครดิต และไม่เกิน 22% สำหรับสินเชื่อบุคคล 2.ลดวงเงินผ่อนรายเดือนอย่างน้อย 30% และคิดดอกเบี้ยลดลงเหลือไม่เกิน 22% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
3.เลื่อนการชำระค่างวดเงินต้นและดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในทุกวงเงินสินเชื่อออกไป 3 เดือน หรือขยายเวลาการชำระหนี้จากถือว่าดีกว่าเกณฑ์เดิม ที่กำหนดสินเชื่อช่วยเหลือเฉพาะสินเชื่อมอเตอร์ไซค์วงเงินไม่เกิน 35,000 บาท และสินเชื่อรถยนต์ไม่เกิน 250,000 บาท และ 4.สินเชื่อบ้านในทุกวงเงิน สามารถเลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ 3 เดือน หรือลดวงเงินผ่อนชำระตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากเดิมกำหนดวงเงินสินเชื่อที่ช่วยเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาให้สินเชื่อใหม่ โดยลูกหนี้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง หรือให้นายจ้างหรือเจ้าของกิจการ สมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้
อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การให้ความช่วยเหลือโครงการสินเชื่อซอฟต์โลน ยังคงเป็นประเด็นต้องแก้ไข เพื่อให้ลูกหนี้เอสเอ็มอี ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น หลังจากที่เปิดโครงการมา 9 เดือน โดยมียอดคงค้าง ณ วันที่ 11 ม.ค.64 เพียง 123,431 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับซอฟต์โลน 73,960 รายเท่านั้น
โดยปัญหาเกี่ยวกับเกณฑ์ของซอฟต์โลน ที่อาจจะแก้ไข คือการกำหนดเงื่อนไขที่ให้ลูกหนี้ ที่จะสามารถกู้เงินจากโครงการซอฟต์โลนได้นั้น ต้องเป็นลูกหนี้เดิม มีวงเงินสินเชื่อ หรือเครดิตไลน์กับธนาคารเจ้าหนี้ จึงจะกู้สินเชื่อซอฟต์โลนได้ไม่เกิน 20% ของวงเงินสินเชื่อเดิม และต้องไม่เกิน 500 ล้านบาท
ซึ่งเงื่อนไขนี้ ทำให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ยังไม่เคยเป็น “ลูกหนี้” ของธนาคารพาณิชย์ใดๆ ไม่สามารถขอกู้เงินซอฟต์โลนได้ ทั้งที่จำเป็นต้องได้รับเงินกู้ ขณะเดียวกัน วงเงินที่ให้กู้เพิ่ม 20% อาจน้อยเกินไปในช่วงวิกฤติ เช่นนี้
นอกจากนี้ ยังอาจต้องแก้ไขประเด็นอัตราดอกเบี้ย ที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ได้ในอัตรา 2% ต่อปี ซึ่งในฝั่งลูกหนี้มองว่าสูงเกินไป ควรลดลงอีก เพื่อจูงใจให้เกิดการกู้ยืม ในขณะที่ฝั่งธนาคารพาณิชย์ กลับต้องการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เช่น 5% ต่อปีเพื่อให้คุ้มความเสี่ยงและจูงใจที่จะให้กู้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกรณีการชดเชยความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน ที่เดิมรัฐจะชดเชยให้ 70% กรณีหนี้ที่เสียนั้นมีเงินต้นไม่เกิน 50 ล้านบาท และชดเชย 60% กรณีเงินต้นสูงกว่านั้น ซึ่งมีเสียงเรียกร้องขอให้เพิ่มวงเงินชดเชยเป็น 80% จากทุกวงเงิน
โดยขณะนี้ ภาคเอกชน กระทรวงการคลัง ธปท. และผู้ที่เกี่ยวข้อง กำลังพยายามหาทางปรับเกณฑ์ พ.ร.บ.ซอฟต์โลนครั้งใหญ่ เพื่อให้สามารถเสริมสภาพคล่องประคองธุรกิจเอสเอ็มอีได้อย่างแท้จริง.
ทีมเศรษฐกิจ