ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีคอร์รัปชันไทยเดือน ธ.ค.60 คาดจะกลับมารุนแรงสุดรอบ 3 ปี ระบุปี 61 เงินใต้โต๊ะที่เอกชนจ่ายแตะสูงสุดเฉียด 200,000 ล้านบาท หรืออยู่ที่ 5-15% ของมูลค่าโครงการ สร้างความเสียหายต่อจีดีพี 0.41-1.23% “ให้ สินบน-เอื้อพวกพ้อง-ทุจริตเชิงนโยบาย” สาเหตุสำคัญคอร์รัปชันไม่ยอมตาย
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยว่า จากการสำรวจเมื่อเดือน ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา ในกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม คือ ประชาชน ผู้ประกอบการภาคเอกชน และข้าราชการ ภาครัฐ จำนวน 2,400 ตัวอย่าง พบว่า ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมีสูงขึ้น 37% และเมื่อคาดการณ์ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในปี 2561 สูงขึ้น 48% สาเหตุสำคัญในการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากกฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลพินิจที่เอื้อต่อการทุจริตถึง 18.8% รองลงมาเป็นเรื่องของกระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก 15.6% และความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบ 14.7%
ขณะที่รูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยที่เกิดขึ้นบ่อย คือ การให้สินบน ของกำนัลหรือรางวัลต่างๆ 19.6% การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก 16.2% และการทุจริตเชิงนโยบาย โดยดำรงตำแหน่งทางการเมือง 13.8% และส่วนใหญ่เห็นว่าเรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก แม้รัฐบาลได้ทำการทุจริตแต่มีผลงานและเป็นประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องที่ส่วนใหญ่รับไม่ได้ เท่ากับการให้สินบนแก่รัฐเป็นเรื่องที่เสียหายมาก ที่ได้จากการสำรวจจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง
ส่วนประสิทธิภาพการต่อต้านคอร์รัปชันในหน่วยงานที่ดูแลพบว่า มีประสิทธิภาพดีขึ้น และความเชื่อมั่นในหน่วยงานต่างๆ เช่น สมาคมธุรกิจ ผู้ประกอบการ ประชาชน สื่อมวลชน หน่วยงานรัฐ ในการต่อต้านการทุจริตนั้นอยู่ในระดับเกิน 50% ถือว่าดีขึ้น สะท้อนว่าส่วนใหญ่พร้อมให้ความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน ขณะที่สิ่งสำคัญที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา คือ การเสริมสร้างจิตสำนึก จริยธรรม และค่านิยมความซื่อสัตย์ การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด มีมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาด และปรับปรุงกฎระเบียบในการประมูลงานการจัดซื้อจัดจ้าง สัมปทาน
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจเดือน ธ.ค.2560 พบว่า เปอร์เซ็นต์เงินเพิ่มพิเศษที่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐ จะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ นักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญาเฉลี่ย 5-15% เท่ากับว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในปี 2561 ประมาณ 66,271-198,814 ล้านบาท สร้างความเสียหายต่อจีดีพี 0.41-1.23% และหากพิจารณาในส่วนงบประมาณการทุจริตจะสร้างความเสียหายเฉลี่ย 2.29-6.86% ต่องบประมาณรายจ่าย ตรงกันข้ามหากมีการลดการเรียกเงินสินบนทุกๆ 1% ส่งผลให้เงินจากการคอร์รัปชันลดลง 10,000 ล้านบาท
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์คอร์รัปชันไทยเดือน ธ.ค.2560 เทียบกับเดือน มิ.ย.2560 พบว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยแย่ลง จากคะแนน 53 คะแนน เหลือ 52 คะแนน
“พบว่าในขณะนี้ปัญหาคอร์รัปชัน เริ่มกลับมาจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และประเมินว่าจะรุนแรงมากที่สุดในรอบ 3 ปี จากกรณีที่จะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลต่อเนื่อง ที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนพยายามหาช่องว่างในการจ่ายใต้โต๊ะ โดยผลสำรวจพบว่าเดือน ธ.ค.2560 เปอร์เซ็นต์การจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ หรือ การจ่ายใต้โต๊ะของเอกชนแก่หน่วยงานรัฐ และนักการเมืองเพื่อให้ได้งาน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 5-15% ของมูลค่างบประมาณลงทุน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยการจ่ายเงินใต้โต๊ะเท่ากับก่อนหน้าที่มีการทำรัฐประหารในปี 2557 การเรียกเงินสินบนเฉลี่ย 5-15% จะทำให้เกิดความเสียหาย 100,000-200,000 ล้านบาท ส่วนสถานการณ์คอร์รัปชันในการสำรวจครั้งต่อไปลดลงหรือเพิ่มขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะจริงจังและเป็นแบบอย่างให้ประชาชนเห็นได้หรือไม่”
ส่วนกรณีนาฬิกาหรูที่สังคมให้ความสนใจจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันหรือไม่ นายธนวรรธน์กล่าวว่า ผลการสำรวจไม่ได้เจาะจงประเด็นนี้ และผลโพลไม่ได้ชี้เรื่องนี้ออกมา แต่เมื่อมีประเด็นต่างๆ ประชาชนสามารถสัมผัสได้ และมีมุมมองสะท้อนออกมาได้ โดยสิ่งสำคัญคือรัฐบาลมีความจริงจังกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชันแค่ไหน.