นักวิชาการประมง ม.แม่โจ้ เสนอใช้ “ไซยาไนด์” ยาแรงปราบปลาหมอคางดำให้สิ้นซาก เป็นอาวุธสุดท้ายปกป้องแหล่งน้ำภาคเหนือก่อนปลาไทยสูญพันธุ์ เผยได้แต่คุ้มเสีย แต่ต้องศึกษาการใช้ที่เหมาะสม ชี้สารพิษสลายตามธรรมชาติได้เอง พร้อมหนุนชาวบ้านเพิ่มปลานักล่าในลุ่มน้ำยม สกัดปลาเอเลี่ยนขึ้นเหนือ
นายอภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวถึงกรณีปลาหมอคางดำแพร่กระจายในแหล่งน้ำของไทยกว่า 16 จังหวัด ขณะนี้ ว่า รู้สึกเป็นห่วงต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่แพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในพื้นที่ทางภาคใต้ โดยมาตรการที่นำมาใช้กำจัด ไม่ว่าจะเป็นการส่งนากและปลานักล่าไปจัดการ จับมาทำเมนูอาหาร แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ หรือทำน้ำหมักชีวภาพ อาจไม่ทันการณ์ เนื่องจากปลาหมอคางดำเกิดง่ายตายยาก และยังอึดทน ปรับสภาพอยู่ได้ในทุกสภาพน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำเน่า ทำให้แพร่พันธุ์ได้เร็วเหมือนกองทัพปิศาจที่คืบคลานแบบไม่มีที่สิ้นสุด
...
อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงฯ ม.แม่โจ้ กล่าวต่อว่า ขณะที่การแพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ หากยังควบคุมไม่ได้โดยเร็ว มีความเสี่ยงที่ปลาหมอคางดำจะยึดเต็มพื้นที่แม่น้ำและแหล่งน้ำทั่วทั้งประเทศไทย ทั้งจากการเคลื่อนย้ายจากคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การแจกลูกพันธุ์ปลา ที่อาจจะมีลูกปลาหมอคางดำเล็ดลอดเนียนติดไปด้วย หากชาวบ้านหรือเกษตรกรไม่รู้ว่าเป็นปลาอะไร มีโอกาสที่จะเกิดการขยายพันธุ์แบบข้ามกระโดดไปยังภูมิภาคอื่น ทั้งภาคอีสาน และภาคเหนือ
นายอภินันท์ กล่าวอีกว่า ที่น่าห่วงคือการแพร่พันธ์ุตามธรรมชาติ โดยการเคลื่อนตัวจากภาคใต้ ขึ้นไปพื้นที่ตอนบนของประเทศ จากพื้นที่ปากแม่น้ำขึ้นไปแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก มีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะพื้นที่ริมตลิ่งที่น้ำไหลไม่แรง พวกมันจะค่อยๆ ขยับคืบคลานขึ้นไป หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ เชื่อว่าอีกไม่นานฝูงปลาหมอคางดำจะขยายขึ้นไปยังเมืองริมน้ำเจ้าพระยาอย่าง จ.ชัยนาท และ จ.นครสวรรค์ ต้นสายของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างแน่นอน
“หากสถานการณ์เกินเยียวยา การใช้สารไซยาไนด์อาจเป็นมาตรการสุดท้ายที่จำเป็นต้องนำมาใช้ เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ วิธีนี้อาจดูโหดร้ายแต่เด็ดขาดและสามารถทำได้จริง แต่ต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เช่น ต้องเป็นพื้นที่ที่ระบาดหนัก มีการบล็อกพื้นที่ต้นน้ำปลายน้ำ และต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขควบคุมเฉพาะ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม วิธีนี้อาจต้องยอมแลกกับชีวิตปลาไทย และปลาพื้นเมืองท้องถิ่นที่จะตายไปพร้อมกัน แต่ไม่น่าห่วง เพราะเราสามารถฟื้นฟูเติมปลาไทยกลับลงไปใหม่ได้ไม่ยาก” อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงฯ ม.แม่โจ้ กล่าว
...
นายอภินันท์ กล่าวถึงข้อกังวลในเรื่องของสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำว่า เรื่องสารตกค้างปนเปื้อนไม่น่าห่วง เพราะโครงสร้างทางเคมีของสารไซยาไนด์ เป็นพันธะประจุลบ และพบได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว และจะไม่มีการตกค้าง เพียงแต่จะต้องมีการศึกษาเรื่องปริมาณที่เหมาะสมกับพื้นที่แหล่งน้ำที่จะดำเนินการ และระยะเวลาปลอดภัยที่จะกลับเข้าไปฟื้นฟูปลาไทยครั้งใหม่ นี่เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะลดความเสียหายให้กับภาคการเกษตร ภาคเศรษฐกิจ ระบบนิเวศและทรัพยากรแหล่งน้ำได้อย่างเห็นผล
...
อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงฯ ม.แม่โจ้ กล่าวด้วยว่า นอกจากการใช้วิธีโหดยาแรงแล้ว ยังมีอีกวิธีที่ป้องกันการรุกรานของปลาหมอคางดำได้ คือ การทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ ทำให้ปลาไทยเจ้าถิ่นมีอยู่เต็มพื้นที่ทุกลุ่มน้ำ เมื่อแหล่งน้ำสมบูรณ์จะทำให้มีปลานักล่าเต็มพื้นที่ จะทำให้ปลาหมอคางดำไม่สามารถเข้าไปยึดพื้นที่ได้ โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ทำโครงการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร และการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยส่งเสริมการสร้างโรงเพาะฟักในแต่ละท้องถิ่นในลุ่มแม่น้ำยม ให้ประชาชนได้เพาะเลี้ยง สร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับปลาของแต่ละท้องถิ่น เมื่อปลาไทยเจ้าถิ่นมีจำนวนมากพอ ก็เป็นเหมือนกองทหารเฝ้าด่านหน้า ที่จะป้องกันสกัดกั้นไม่ให้ปลาต่างถิ่นรุกล้ำเข้ามาจนเกิดปัญหาเหมือนเช่นปลาหมอคางดำในตอนนี้ โดยโครงการเพาะปลาท้องถิ่นในลุ่มแม่น้ำยม จะเป็นโครงการต้นแบบที่จะขยายผลไปยังทุกลุ่มน้ำในประเทศไทยในอนาคต.
...