หลังจากมีพายุฤดูร้อนพัดผ่าน ทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องหลายวันติดต่อกัน เกษตรกรบ้านโนนศิลา เริ่มลงนา ไถพรวนดินเตรียมหว่านเมล็ดพันธุ์ โดยจะปลูกข้าวหอมมะลิ กข15 ก่อน โดยใช้วิธีนาหว่านที่ใช้น้ำน้อย แต่ได้ผลดี ประหยัดต้นทุน ประหยัดค่าจ้างแรงงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จังหวัดบึงกาฬ หลังมีพายุฤดูร้อนพัดเข้ามาในพื้นที่ ทำให้มีฝนตกติดต่อกัน 3 วัน น้ำฝนช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นดิน ฝนตกกระจายทั่วทั้งจังหวัด ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวนาที่ปลูกข้าว และพี่น้องชาวสวนยางพารา โดยเฉพาะนาข้าว เป็นโอกาสเหมาะ ทำให้เกษตรกรบ้านโนนศิลา หมู่ที่ 4 ต.ไคสี อ.เมือง จ.บึงกาฬ ที่ยึดอาชีพทำนา เริ่มลงนา ไถพรวนดินเตรียมหว่านเมล็ดพันธุ์ โดยในปีนี้เกษตรกรเริ่มปลูกข้าวหอมมะลิ กข15 ก่อน เป็นการเปิดฤดูก่อนที่จะหว่านข้าวเหนียว ในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง ต้นกล้าก็จะเติบโตพอดี
...
แต่ปัจจุบันปัญหาภาวะโลกร้อนทำให้ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล บางปีแห้งแล้ง บางปีก็น้ำท่วม หลายคนที่เคยทำนาดำ ก็เปลี่ยนมาทำนาหว่าน ที่ต้องการน้ำน้อยกว่า และมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้นกว่านาดำ และยังเป็นการลดต้นทุนการปลูกข้าว ให้ร่นระยะเวลา และลดต้นทุนการปลูกข้าวนาปี และใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ ทำให้การทำนาไม่ยุ่งยากอีกต่อไป ไถพรวนดิน หวานเมล็ดพันธุ์ ไถปั่นกลบเพื่อป้องกันเมล็ดข้าวหายไปกับน้ำ เพียง 1-2 วันก็แล้วเสร็จ ค่าใช้จ่ายก็ประมาณไร่ละ 700 บาท
ต่างจากการทำนาดำ ที่ต้องว่าจ้างแรงงานชาวบ้าน ในราคาวันละ 350-450 บาท/คน พร้อมกับเลี้ยงอาหารกลางวัน ทำให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายในการทำนาเพิ่มขึ้นไปอีก เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬจึงหันมาทำนาแบบหว่าน ที่ประหยัดต้นทุน ประหยัดค่าจ้างแรงงาน แต่นาหว่านนั้นมีข้อดี คือ ใช้น้ำน้อย ได้ต้นข้าวมาก แต่มีข้อเสีย คือ ต้นข้าวมีพื้นที่ให้เจริญเติบโตน้อย แต่ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลของเกษตรกร.