เก็บตก รมช.ไชยา เยี่ยมชม ประทีปฟาร์ม ที่ อ.ปากช่อง มีวัวกว่า 800 ตัว นำหลักการและแนวคิดการทำสมาร์ทฟาร์ม หวังนำมาปรับใช้กับเกษตรกรในความดูแลของ อ.ส.ค. ทั้งเรื่อง Zero Waste การสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเลี้ยงวัว การพัฒนาและดูแลแม่วัวให้ได้น้ำนมคุณภาพ

ในระหว่างที่ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เยี่ยมชมการบริหารฟาร์มโคนมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer) ณ ประทีปฟาร์ม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อนำหลักคิดแบบเอกชนไปปรับใช้กับเกษตรกรโคนมที่อยู่ภายใต้การดูแลของ อ.ส.ค. โดยประทีปฟาร์มมีการจัดการดูแลผลผลิตจากโคนมทั้งระบบแบบลดการเกิดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) และสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม อาทิ แม่วัวปลดระวาง สามารถเป็นเนื้อที่แทรกไขมันอย่างดี มูลวัวนำมาแยกกากจัดทำเป็นปุ๋ย เป็นต้น

...

ซึ่งโคนมแต่ละตัว ได้ให้อาหารหยาบคุณภาพดี และมีหลักคิดในการปูพื้นยางรองรับน้ำหนัก ให้โคนมมีสุขภาพดี ส่งผลให้สามารถผลิตน้ำนมได้วันละ 16 กิโลกรัม/ตัว/วัน ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานที่ อ.ส.ค. กำหนดไว้ที่ 12 กิโลกรัม/ตัว/วัน

นายประทีป แก้วนันท์ เจ้าของประทีปฟาร์ม ฟาร์มโคนมที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ประทีปฟาร์มเวลานี้ มีโคนมเลี้ยงไว้กว่า 800 ตัว โดยเป็นแม่โคที่รีดนมได้กว่า 300 ตัว แต่ละวันจะมีการรีดนม 2 ครั้ง เช้าและเย็น สามารถรีดนมได้วันละประมาณ 4-5 ตัน โดยทางฟาร์มมีการหมุนเวียนวัวตลอดเวลา ทั้งวัวที่ตั้งท้อง แม่วัวคลอดใหม่ และวัวนม วัวสาว เพราะวัวแต่ละตัวมีอายุในการรีดนม คือ ท้องได้ประมาณ 7-10 ครั้ง ก็ต้องเปลี่ยนหาตัวใหม่ทดแทน เพื่อคงประสิทธิภาพในการรีดนม

สำหรับโคนมที่เลี้ยง เป็นพันธุ์ที่ผสมผสานสายพันธุ์ต่างประเทศมาจนทำให้กลายเป็นวัวนมขาวดำที่เหมาะกับภูมิอากาศของประเทศไทย ให้น้ำนมเยอะและมีคุณภาพ แต่การที่จะมีน้ำนมคุณภาพได้ อาหารก็ต้องให้วัวได้พอดี พอเหมาะทางฟาร์มจึงนำระบบสมาร์ทฟาร์มเข้ามาช่วยมอนิเตอร์ บริหารการดูแลวัวในคอก โดยใช้ IoT (Internet of Thing) ที่คอวัวแต่ละตัวจะมีอุปกรณ์คล้ายสมาร์ทวอชต์ เพื่อเก็บข้อมูล การกินอาหาร การนอน และการเดิน และอุณหภูมิร่างกาย ตรงนี้มาช่วยลดการใช้แรงงานคนเดินดูแลวัวในคอก ลดค่าใช้จ่ายไปได้ และทำให้การบริหารจัดการคอกดีขึ้น เพราะเรารู้หมดวัวกินเยอะไหม วัวซึม วัวไม่กินแสดงว่าป่วย แยกออกมาดูแล หรือช่วงวัวติดสัดพร้อมผสม อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยน เราก็รู้ได้หมด

...

การกินอาหารของวัวมีความสำคัญต่อการผลิตน้ำนม เพราะกว่าจะได้วัวนมสายพันธุ์ที่เหมาะสมลำบากมาก วัวนมจึงเป็นของล้ำค่าหากอาหารให้ถึงเพียงพอ วัวจะมีสุขภาพดีให้น้ำนมเยอะ แต่ถ้าอาหารไม่เพียงพอ วัวจะให้น้ำนมคุณภาพ แต่ก็จะไปดึงสารอาหารจากร่างการตัวเอง จนทำให้วัวผอมจนร่างกายทนไม่ไหววัวจะไม่มีน้ำนม ที่ผ่านมา เกษตรกรรายย่อยที่โดนต้นทุนอาหารสัตว์สูง ก็จะเจอปัญหาอย่างนี้ การเลี้ยงวัวนม ไม่ใช่มีวัวเยอะแล้วประสบความสำเร็จ หรือดูเท่ แต่ต้องไปต่อได้อย่างยั่งยืน คนรุ่นใหม่เห็นความลำบาก เห็นความเหนื่อยก็ไม่อยากมาทำต่อ แต่เราพยายามทำให้เห็นว่า วิธีการมันมีอยู่ มันไปต่อแบบยั่งยืนได้

นอกจากน้ำนมดิบที่ได้จากแม่วัวในแต่ละวัน ทางฟาร์มยังยังมีผลิตภัณฑ์อีกอย่างที่ได้จากการเลี้ยงัววนั่น คือ ขี้วัว อย่าลืมว่าวัวแต่ละตัวกินเท่าไร ขี้ก็ออกมาเท่านั้น โดยแต่ละวันเรามีขี้วัวมากถึง 15 ตันดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราจึงสร้างโรงหมักปุ๋ยคอก โดยนำขี้วัวมาใส่บ่อหมัก เพื่อแยกกากแยกน้ำ ใช้สารอีเอ็มช่วยลดกลิ่น แล้วกากที่ได้ก็นำไปปั่น อัดเม็ดเป็นปุ๋ยคอกมูลวัว ทำออกมาจำหน่ายได้อีก ถุงละ 15 บาท เรียกได้ว่าเลี้ยงวัวไม่สูญเปล่าเรายังได้ขี้วัวมาเป็นรายได้เสริม โดยปุ๋ยคอกนี้มีคุณสมบัติช่วยบำรุงดินดีมาก ให้แร่ธาตุที่จำเป็นในการเพาะปลูก เหมาะสำหรับนำไปใช้ปลูกต้นไม้ ผลไม้ในสวนทดแทนปุ๋ยเคมีราคาแพงได้เลย

...

"เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เป็นอาชีพที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงเล็งเห็นว่าจะช่วยให้ชาวไทยได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่า ทั้งยังช่วยให้เกษตรกรไทยได้มีอาชีพที่มั่นคง จึงขอฝากให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมช่วยกันส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมให้มากขึ้น เราสามารถยึดอาชีพนี้เป็นช่องทางการสร้างอาชีพ และรายได้ ในอนาคตคาดว่าการจัดการให้การจำหน่ายน้ำนมดิบมีราคาที่เป็นธรรมจะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เลิกกิจการไป กลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้ง" รมช.ไชยา กล่าวทิ้งท้าย.

...