เขื่อนลำตะคอง โคราช ถูกภัยแล้ง-อากาศร้อนคุกคาม ทำให้น้ำที่กักเก็บไว้แห้งระเหยอย่างรวดเร็ว เหลือน้ำใช้แค่ 30% ด้านอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจง การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งโค้งสุดท้าย ต้องเพียงพอทุกกิจกรรม ขณะที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาเหลือน้ำอีก 46%

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน จากข้อมูลเมื่อ 25 เม.ย. 67 ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 42,673 ล้าน ลบ.ม. (56% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 11,553 ล้าน ลบ.ม. (46% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ตั้งแต่ 1 พ.ย. 66

จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 23,159 ล้าน ลบ.ม. (93%) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 8,337 ล้าน ลบ.ม. (96%) ในส่วนของสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการทำนาปรัง 9.07 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรัง 5.68 ล้านไร่

...

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด และเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชน ตามนโยบายของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการชลประทานนครราชสีมา ได้รายงานสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา ที่หล่อเลี้ยงชาวโคราชถึง 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอเมือง และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ โดยวันนี้ปริมาตรน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำลำตะคองลดระดับลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนตกน้อย และสภาพอากาศร้อนจัดต่อเนื่องมาเกือบ 1 เดือน ทำให้น้ำในอ่างฯ ระเหยอย่างรวดเร็ว ปริมาตรน้ำเก็บกักจึงลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดเหลืออยู่ที่ 111.25 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 35.38% ซึ่งต่างจากปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน ที่มีน้ำเก็บกักอยู่ถึง 204.63 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 65.07%

ขณะนี้ปริมาตรน้ำใช้การได้ มีแค่ 88.53 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น หรือ 30.34% จะต้องระบายน้ำวันละกว่า 259,000 ลูกบาศก์เมตร ส่งจ่ายไปให้ผลิตประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภคใน 5 อำเภอ และรักษาระบบนิเวศลำน้ำ แต่ปี 2567 ตั้งแต่ต้นปี มีฝนตกเติมน้ำลงอ่างฯ แค่ 80.70 มิลลิเมตร หรือ 8.23% ของค่าเฉลี่ย จึงถือว่าสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคองขณะนี้อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด.

...