เครดิตภาพ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
นายกฯ เป็นประธานเปิดปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง PM 2.5 พื้นที่ภาคเหนือ ปี 67 ชี้ การทำฝนหลวงช่วยทำให้เกิดฝน ดัดแปรสภาพอากาศ เกิดการเคลื่อนตัวของกระแสอากาศไหลขึ้นจากชั้นที่ปิดกั้น ทำให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศ
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางมายังท่าอากาศยานทหารกองบิน 41 จ.เชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง PM 2.5 บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ประจำปี 2567 เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี จะมีปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างหนัก จึงมีการนำยุทโธปกรณ์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รวมถึงแนวทางการทำฝนหลวง มาช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว
ปีนี้ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ภาคเหนือ 15 จังหวัด และหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน นำเครื่องบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขนาดใหญ่ 2 ลำ ขนาดกลาง 4 ลำ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์พ่นละอองน้ำสู่ชั้นบรรยากาศ เครื่องบินขนาดเล็ก 4 ลำ ประจำการที่จังหวัดเชียงใหม่
...
ปฏิบัติการฝนหลวงจะช่วยทำให้มีฝนตกในพื้นที่ที่ต้องการ เพื่อเร่งกระบวนการธรรมชาติ ทำให้เกิดเป็นเม็ดน้ำที่จะพัฒนาตัวเป็นเม็ดฝน ตกลงมาเป็นน้ำฝน และช่วยดัดแปรสภาพอากาศ ให้มีช่องในการเคลื่อนตัวของกระแสอากาศไหลขึ้นจากชั้นอากาศที่ปิดกั้นอยู่ในพื้นที่ที่ต้องการ ช่วยเร่งกระบวนการธรรมชาติ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 ลงได้ นอกจากนี้ยังมีเฮลิคอปเตอร์อีก 1 ลำ พร้อมชุดกระเช้าตักและโปรยน้ำดับไฟป่า ที่ร่วมปฏิบัติภารกิจร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 และจังหวัดเชียงใหม่ ในการทิ้งน้ำดับไฟป่าในพื้นที่สูงชัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินไม่สามารถเดินเท้าเข้าไปถึงได้ด้วย
ที่ผ่านมากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทำการวิจัยและทดสอบการประยุกต์ใช้อากาศยานสำหรับพ่นละอองน้ำแรงดันสูง เพื่อควบคุมและบรรเทาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ระดับความสูง 5,000-6,000 ฟุต หรือประมาณ 1,700-2,000 เมตร โดยใช้ท่อโปรยติดตั้งบนอากาศยานชนิด CASA และ CN-235 และติดเครื่องพ่นสเปรย์ฉีดน้ำแรงดันสูง พร้อมกับบรรจุถังน้ำ 3 ถัง ที่สามารถบรรจุน้ำปริมาตรรวมกว่า 2,000 ลิตร ใช้แรงดันในการส่งน้ำไปยังหัวฉีด 12 หัว ที่ติดตั้งอยู่ใต้เครื่องบิน พบว่าการกระจายตัวของละอองน้ำที่ภาคพื้นหัวฉีดสามารถพ่นได้ระยะไกลสูงสุดถึง 10 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 100 ตารางเมตร โดยจะปล่อยละอองน้ำเป็นระยะเวลา 40 นาทีต่อรอบการปฏิบัติ วิธีดังกล่าวจะสามารถลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้ในระดับหนึ่ง และสามารถเพิ่มความชื้น ช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในอากาศควบคู่ไปกับการปฏิบัติการฝนหลวง.
...