ในเวลาที่กระแสสังคมกำลังให้ความสนใจกับคดีความที่เชื่อมโยงกับเหล่าคนเด่น คนดังในประเทศ สิ่งที่เรามักได้ยินจนคุ้นติดหู คือ...
"ไม่ต้องกังวล หลักฐานแน่นขนาดนี้ เอาผิดผู้ต้องหาได้แน่นอน ขอให้สังคมไว้วางใจ"
แต่ในความเป็นจริง คือ หลายต่อหลายคดีที่ผ่านมา "หลักฐานที่ว่าแน่นนักแน่นหนา" ดังที่ว่านี้ มักปรากฏขึ้นให้สาธารณชนได้ยิน ได้ฟัง หรือได้เห็น เฉพาะในช่วงที่กำลังเป็นกระแสแรงๆ ในสังคมเท่านั้น
แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ คดีดังหลายคดีที่เริ่มซบซาไปจากความสนใจของสาธารณชน "หลักฐานอันแน่นหนา" ที่เราเคยได้ยิน ได้ฟัง หรือได้เห็นก่อนหน้านี้ มักจะค่อยๆ ย่อยสลาย หายตัวไปอย่างช้าๆ จนกระทั่งกลายเป็นคำหยอกล้อที่แสนคุ้นชินว่า...ทั้งหมดนั้นมันเป็นเพียง "หลักฐานนอกสำนวน" จนกระทั่งทำให้ผู้ต้องหาในคดีดังๆ บางคน "หลุดรอด" ไปอย่างไม่น่าเชื่อ จนสร้างความ "กังขา" ให้กับสาธารณชน
มันเป็นเพราะเหตุใดกัน...การปรุงต้มยำ เมื่อคราวที่กระแสสังคมกำลังแรงๆ มีการใส่พริก ขิง ข่า มะนาว ตะไคร้ หรืออะไรๆ ที่ร้อนแรงใส่ไปโชว์แขกกันหมด แต่พอเวลาผ่านไป ปรุงไป ปรุงมา จาก "ต้มยำ" เหตุใดจึงค่อยๆ กลายเป็น "แกงจืดแบบจืดสนิท" เมื่อส่งขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นอัยการหรือศาลไปได้นะ?
เครื่องปรุง เมื่อตอนโชว์แขก มันหายไปไหนหมดเวลาจะส่งเสิร์ฟ?
...
คำถามในทำนองที่ว่านี้จะเกิดขึ้นได้กับคดีดังที่สาธารณชนกำลังให้ความสนใจเกาะติดกันในเวลานี้ อย่างคดี "ผู้กำกับโจ้" ได้หรือไม่? และหากเราไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก...
อะไรคือความรัดกุมมากที่สุดในแง่การรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อป้องกันจุดอ่อนที่อาจเกิดขึ้นในคดีสะเทือนสังคมล่าสุดนี้บ้าง?
วันนี้ เราค่อยๆ ไปร่วมกันสังเคราะห์กันทีละประเด็น!
ประเด็นที่ 1 สิ่งที่ปรากฏในคลิปทำให้คนไทยรู้อะไร?
ข้อมูลเบื้องต้น
ภาพที่ปรากฏในคลิป คือ มีคนกลุ่มหนึ่งไปรุมทำร้ายชายคนหนึ่ง จนกระทั่งทำให้เกิดการเสียชีวิต
อะไรคือ สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควรต้องทำให้ความจริงปรากฏ?
ข้อที่ 1 "ชาย" ที่ถูกคนกลุ่มนั้นทำร้ายในคลิปคือใคร และมีอะไรที่พิสูจน์ได้ว่า ตรงกับเหยื่อของเหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้?
เหตุใดจึงต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า "ชาย" ที่ถูกกลุ่มคนทำร้ายในคลิปคือใคร?
คำตอบ เพราะหากพิสูจน์ได้ จะนำไปสู่การเชื่อมต่อไปยังผลสรุปสุดท้ายที่ว่า ชายคนนั้นเสียชีวิตเพราะการกระทำของคนกลุ่มนั้น ตามที่ปรากฏในคลิปหรือไม่?
ข้อที่ 2 ห้วงระยะเวลาการเกิดเหตุและเสียชีวิต?
ห้วงระยะเวลาที่ปรากฏเหตุการณ์ในคลิป และห้วงระยะเวลาการเสียชีวิต สำคัญอย่างไร?
เนื่องจากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในคลิป ไม่ได้มีการระบุถึงวันและเวลาที่แน่ชัด
ด้วยเหตุนี้จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้ต้องหาอาจจะอาศัยช่องโหว่ตรงจุดนี้สอดแทรก "อะไรบางอย่าง" ที่ไม่สอดคล้องกับสาเหตุของการเสียชีวิตของเหยื่อ
ยกตัวอย่างเช่น ยอมรับว่าได้กระทำการดังที่ปรากฏลงไปในคลิปจริง แต่...เป็นเหตุการที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการเสียชีวิตถึง 3 วัน ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับการกระทำที่เกิดขึ้นในคลิปก็เป็นได้ เป็นต้น
ประเด็นที่ 2 ผลสรุปรายงานการชันสูตรพลิกศพ สามารถฟันธงถึงสาเหตุการเสียชีวิตได้หรือไม่?
การทำรายงานสรุปผลการชันสูตรศพ มีความสำคัญอย่างไร?
"คดีผู้กำกับโจ้" มีความคล้ายคลึงกับคดีของ "จอร์จ ฟลอยด์" หนุ่มผิวสีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ ใช้เข่ายันบริเวณต้นคอจนเสียชีวิต คือ เบื้องต้นแม้จะมีคลิปที่บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเอาไว้ได้จนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วทั้งโลก
...
แต่กระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานก่อนนำสู่การพิจารณาของศาล กลับค่อนข้างแปลกประหลาด หากใครจำได้ ในคดีของ "จอร์จ ฟลอยด์" แพทย์เมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา ที่ทำการชันสูตรศพให้ความเห็นว่า "รอยช้ำที่ต้นคอไม่เป็นเหตุที่ทำให้ถึงแก่ความตาย"
แต่เมื่อทางครอบครัวหนุ่มผิวสีไม่เชื่อในผลการชันสูตรดังกล่าว และได้ตัดสินใจจ้างแพทย์นิติเวชโรงพยาบาลเอกชนมาทำการชันสูตรศพใหม่ทั้งหมด ผลลัพธ์ที่ได้ คือ รายงานผลการชันสูตรศพที่มีการระบุอย่างชัดเจนว่า "การกดที่ลำคอ ทำให้เกิดการขาดอากาศหายใจจนกระทั่งเสียชีวิต"
ซึ่งการสรุปผลการชันสูตรศพของนิติเวชโรงพยาบาลเอกชนนี้เอง ที่นำไปสู่การพิจารณาลงโทษจำคุกตำรวจที่ก่อเหตุสังหาร "จอร์จ ฟลอยด์" ได้สำเร็จ
ผลลัพธ์หนึ่ง ไม่ชี้ชัดฟันธงและไปไม่ถึงเหตุแห่งการเสียชีวิต
ส่วนอีกผลลัพธ์หนึ่ง สามารถฟันธงได้อย่างชัดเจนว่าผู้ตายเสียชีวิตเพราะอะไร
พอมองภาพออกแล้วใช่ไหมว่า...ในคดีผู้กำกับโจ้ควรมีผลสรุปรายงานการชันสูตรศพอย่างไร?
ประเด็นที่ 3 มีหลักฐานชี้ขาด ที่สามารถตัดประเด็นเสียชีวิตเพราะเสพยาเกินขนาดได้แล้วหรือยัง?
...
สิ่งที่ "เรา" รู้ในตอนนี้ คือ หนังสือรับรองการตายแรกของเหยื่อมีข้อสันนิษฐานว่า เสียชีวิตเพราะเสพยาเกินขนาด เราควรวิเคราะห์เรื่องนี้อย่างไร?
ก่อนจะไปกันต่อ เบื้องต้นแม้หนังสือรับรองการตายจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสำนวนการชันสูตรพลิกศพ แต่การเขียนหนังสือรับรองการตาย ก็มักจะอาศัยข้อมูลที่ได้จากการผ่าศพในเบื้องต้น
เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นไปได้สูงมากว่าอาจจะสอดคล้องกับการเขียนหนังสือชันสูตรพลิกศพ เพราะอาศัยฐานข้อมูลรากเหง้าเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ ข้อสันนิษฐานในหนังสือรับรองการตายว่า เสียชีวิตเพราะเสพยาเกินขนาด ทำให้อาจมีความเป็นไปได้ว่า ลักษณะการตายของเหยื่อที่เข้ากันได้กับการขาดอากาศหายใจ "อาจยังมีน้อย" หรือ "มี แต่อาจยังไม่เด่นชัด" จนยังไม่สามารถสรุปไปในทางนั้นได้
และประเด็นนี้ คือ ประเด็นสำคัญที่สาธารณชนกำลังให้ความสนใจและกังวลอยู่คราวเดียวกัน เพราะมันอาจแปลความได้ว่า...
บางที อาจจะยังหา "ข้อมูลหรือหลักฐานจากศพที่ชัดเจน เพื่อชี้ชัดเรื่องการเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจไม่ได้ ใช่หรือไม่?"
ทำให้ประเด็นนี้ สาธารณชนจึงควรต้องมีการติดตามผลการชันสูตรพลิกศพอย่างเป็นทางการอย่างใกล้ชิดต่อไป!
...
แล้ว...สภาพศพที่เสียชีวิตจากภาวะขาดอากาศหายใจ (Asphyxia) ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคลิปสุดอื้อฉาว น่าจะเข้าข่ายในกรณีใด?
คำตอบ มีความเป็นไปได้ 2 กรณี คือ 1.หากผู้ตายถูกเอาถุงพลาสติกแนบจนชิดจมูก ทำให้หายใจเข้าออกไม่ได้ จะถือว่าเป็นกรณี Smothering แต่ถ้ามีผ่อนหนักผ่อนเบาให้หายใจเข้าออกจมูกได้ จะเป็นกรณีที่ 2 ที่เรียก Suffocation
โดยในกรณี Suffocation คือ การที่อากาศที่หายใจเข้าไปมีระดับออกซิเจนลดลงจนเสียชีวิต เช่น อยู่ในถ้ำ หรือถูกถุงครอบหัวแบบที่หายใจเข้าออกได้ โดยการตายแบบนี้ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกตามเปลือกตา หรือตามใบหน้า ทำให้ยากแก่การพิสูจน์
ส่วน Smothering คือ การปิดปาก ปิดจมูก ทำให้หายใจไม่ได้ อันนี้จะพบจุดเลือดออกที่เยื่อบุตามากขึ้นกว่ากรณี Suffocation
ขณะที่สภาพศพในบริเวณอื่นๆ ของร่างกายที่พอสังเกตได้ คือ อาจจะมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง ใบหน้าคล้ำแดง ริมฝีปากม่วงคล้ำ
ซึ่งทั้งหมดนั้นมันช่าง "บังเอิญ" เสียเหลือเกินว่ามีความใกล้เคียงกับ "สภาพศพที่เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาด" (Overdose) เสียด้วย
ด้วยเหตุนี้การค้นหาหลักฐานเพื่อตัดประเด็น "การเสพยาเกินขนาด" ให้ขาดออกไปอย่างชัดเจน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากเกิดจับพลัดจับผลู จู่ๆ วันใดวันหนึ่งมีการกล่าวอ้างขึ้นมาเฉยๆ ว่า "ผู้ตายมีประวัติติดยาเสพติด" บางที...อะไรๆ ที่สาธารณชนคิดไว้ในตอนนี้ อาจไม่เป็นไปอย่างที่คิดในบั้นปลาย?
แล้วอะไรคือสิ่งที่จะสามารถแยกสาเหตุการตาย ระหว่างภาวะขาดอากาศหายใจ กับเสพยาเกินขนาดได้อย่างเด่นชัด?
คำตอบ ผลการตรวจเลือดผู้ตาย
จากข้อมูลเบื้องต้น ในชั้นแรกที่ผู้ต้องหาพยายามอ้างว่า การเสียชีวิตของผู้ตายเป็นเพราะเสพยาเกินขนาด จนเกิดอาการช็อกและหมดสติ จากนั้นผู้ต้องหาได้นำตัวผู้ตายไปส่งโรงพยาบาล 2 แห่ง
คำถามแรก คือ ผลการตรวจเลือดของผู้ตายออกมาเป็นอย่างไร?
คำถามที่สอง คือ มีการอายัดเลือดผู้ตายเพื่อใช้ประกอบสำนวนคดีแล้วหรือยัง?
เพราะหากว่ายังไม่ได้ทำการอายัดเลือดผู้ตายเอาไว้ จนถึงวันนี้ (30 ส.ค. 64) ทั้ง 2 โรงพยาบาลน่าจะทิ้งเลือดของผู้ตายไปแล้ว เพราะน่าจะเลยระยะเวลาตามขั้นตอนการเก็บเลือดคนไข้ ที่ปกติจะไม่เกิน 2-3 วันไปแล้ว
อ่อ...นั่นรวมถึงผลการตรวจปัสสาวะผู้ตาย จากทั้ง 2 โรงพยาบาลด้วยนะ!
ประเด็นที่ 4 การชันสูตรพลิกศพครบถ้วนตามนัย มาตรา 150 หรือไม่?
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ระบุว่า ในกรณีที่เกิดการเสียชีวิตในระหว่างการถูกควบคุมตัว หรืออยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องมีผู้เข้าร่วมชันสูตรพลิกศพ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย 1.พนักงานสอบสวน, 2.แพทย์นิติเวช, 3.พนักงานอัยการ, 4.ปลัดอำเภอ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมและคานอำนาจ "พนักงานสอบสวน"
แต่ในทางปฏิบัติ ณ ปัจจุบัน พบว่า มีความพยายามตีความกฎหมายมาตรานี้ "แบบแปลกๆ" เช่น ให้ถือว่าการเสียชีวิตที่เข้าข่ายตามมาตรา 150 ต้องเป็นการเสียชีวิต ณ ตรงจุดที่มีการควบคุมตัวเท่านั้น
แต่หากเป็นกรณีบาดเจ็บสาหัสในระหว่างการควบคุมตัว แต่ยังไม่เสียชีวิต แล้วในเวลาต่อมาเกิดไปเสียชีวิตในโรงพยาบาล เช่น กรณีเจ้าหน้าที่กำลังเข้าทำการจับกุมแล้วผู้ต้องหาเกิดหมดสติขาดอากาศหายใจ จากนั้นไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ให้ถือว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 150 ทำให้เหลือผู้ชันสูตรพลิกศพเพียง 2 ฝ่าย คือ ตำรวจ และแพทย์นิติเวชเท่านั้น
คำถามคือ ผู้ตายในคดีผู้กำกับโจ้นี้ ถือเป็นการเสียชีวิตในระหว่างการถูกควบคุมตัวตามมาตรา 150 หรือไม่? และในการชันสูตรพลิกศพมีผู้เข้าร่วมกี่ฝ่ายกันแน่?
ซึ่งในประเด็นนี้ สาธารณชนเองก็คงอยากรู้ "ความจริง" ด้วยเช่นกันว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?
เพราะหากทำผิดกฎหมายขึ้นมา นอกจากการชันสูตรพลิกศพก่อนหน้านี้จะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้ต้องมีการชันสูตรพลิกศพใหม่แล้ว พนักงานสอบสวนก็อาจถูกดำเนินคดีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ได้อีกด้วย
แล้วประเด็นนี้แก้ไขได้หรือไม่?
ก็อาจจะได้นะ...แต่คงต้องไปตามทั้ง 4 ฝ่ายมาช่วยกันจุดธูปชันสูตรพลิกศพกับโกศเถ้ากระดูกผู้ตาย ที่เพิ่งทำการฌาปนกิจไปแล้วเนี่ยล่ะสิ?
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง เชื่อได้เลยว่า "อารมณ์ที่กำลังขุ่นมัว" ของประชาชนจากหลายๆ คดีคนดัง ที่ทำให้สังคมเกิดความกังขามาเนิ่นนาน รวมถึงการแสดงที่สุดแสนจะไม่เนียนตาในการแถลงข่าวล่าสุด คงไม่อาจทำใจให้ทนนิ่งเฉยกับความล้มเหลวซ้ำซากของผู้ที่ควรจะพิทักษ์ความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อีกต่อไป
"ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะตัดนิ้วร้ายทิ้งไปจริงๆ เพื่อธำรงองค์กรไว้ให้เป็นที่พึ่งของประชาชน"
บางทีข้อเรียกร้องนี้ อาจคือสิ่งที่ "ประชาชน" อยากได้ยิน "คำตอบ" จากปากท่าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มากกว่าเพียงแค่คำพูด "เราจับคนร้ายได้แล้ว" หรือ "นิ้วไหนร้ายก็แค่ตัดทิ้ง" ก็เป็นได้.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Varanya Phae-araya
ข่าวน่าสนใจ:
- ร่ำรวยผิดปกติ? ลุยสอบ ผกก.โจ้ ปฏิรูปตำรวจไม่เกิด โครงสร้างประเทศไม่เปลี่ยน
- ถุงคลุมหัว รีดทรัพย์แก๊งยาไม่กล้าปากโป้ง ผกก.โจ้ ชะล่าใจ โลภ ตายน้ำตื้น?
- เมื่อ Sex Content กล้างัดข้อ Payment Company?
- ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีน BIBP ของ "ซิโนฟาร์ม" ประสิทธิภาพ-อัตราไม่พึงประสงค์
- เหตุผลหนุน-ต้าน-ไขว้ ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 กับผลลัพท์ที่แตกต่าง