ฟังการแถลงข่าวการจับกุม “ผู้กำกับโจ้” พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ เมื่อคืนวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนอาจจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจ หรือ ไม่สมเหตุสมผล ในหลายประเด็น เช่น อ้างว่าตัวเองทำเป็นครั้งแรก อ้างว่าทำเพื่อประชาชน อ้างว่าถอดกล้องวงจรปิดเพราะตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกล้องเสีย บางคนถึงกับตั้งข้อสังเกตว่ามีการเขียนบทให้เลย...
แต่ในความเป็นจริง “คำอ้าง” ของอดีตตำรวจ ที่วันนี้กลายเป็นของ “ผู้ต้องหา” คดีอุกฉกรรจ์ จะฟังขึ้นหรือไม่ หรือจะมีใครช่วยจริงหรือเปล่า ก็คงต้องรอดูผลในวันข้างหน้า แต่ในวันนี้ก็มีอีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องทรัพย์สิน และที่มาของทรัพย์สิน...ที่มีมากมายหลายร้อยล้าน
ในเรื่องนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายนิวัติไชย เกษมมงคล ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า กรณีผู้กำกับโจ้ มีการเสนอเข้ามาตรวจสอบเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อย่างไรก็ตาม เวลานี้ทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กำลังสืบสวนสอบสวนอยู่ จึงให้ชะลอเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับพฤติกรรมไปก่อน เพื่อให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปตรวจสอบ ซึ่งถ้าตรวจสอบแล้วเห็นว่ามีมูล เราก็จะมาดำเนินการต่อ
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา ป.ป.ช. มีการตรวจสอบกรณี ผู้กำกับโจ้ ไว้บ้างไหม นายนิวัติไชย ระบุว่า ทางนครสวรรค์ได้มีการรวบรวมข้อเท็จจริง และนำเสนอเบื้องต้นไปก่อนแล้ว ส่วนรายละเอียดก็ยังต้องตรวจสอบกันต่อ แต่...กรณีทรัพย์สินต่างๆ ที่ปรากฏทาง ป.ป.ช. ส่วนกลางจะเข้าไปตรวจสอบ
...
ตำรวจทั่วไปที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย ป.ป.ช. มีสิทธิ์เข้าไปตรวจสอบหรือไม่ ว่าที่เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุว่า ถ้าเป็นคดีเรื่องการเงินเรามีอำนาจอยู่แล้ว แต่มันอยู่ที่ว่าอยู่ในเครือข่ายอำนาจหรือไม่ กรณีที่เป็นตำรวจทำคนตายแล้วไม่ได้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่แล้ว (ออกจากราชการ) เราก็ไม่มีอำนาจ แต่กรณีนี้เป็นการจับกุมผู้ต้องหายาเสพติดและมีการซ้อม มีการสอบสวนโดยมิชอบ ถ้าเป็นเคสลักษณะนี้อาจจะยังอยู่ในหน้าที่ ป.ป.ช. และมีการประสานงานกับ สตช. ก็สามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ชะลอเรื่อง “การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ไว้ก่อน
“กรณี “ร่ำรวยผิดปกติ” เรายังเดินหน้าต่อ รวบรวมเอกสารหลักฐานมาดำเนินคดี ที่ผ่านมา เราก็ได้ดำเนินการเอาผิดไปแล้วหลายคน สำหรับข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ ยกตัวอย่าง อดีตอธิบดีกรมสรรพากร เราก็ดำเนินการจัดการไปแล้ว”
เมื่อถามว่า กรณีผู้กำกับโจ้ มีการหลุดรอดมาได้อย่างไร นายนิวัติไชย ตอบว่า เบื้องต้นอาจจะเป็นเพราะไม่มีการร้องเรียนที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพย์สินเข้ามา เพราะส่วนใหญ่แล้วทาง ป.ป.ช. จะดำเนินการตรวจสอบก็ต่อเมื่อมีการร้องเรียนเข้ามาก่อน
ระแคะระคายหรือยังว่า เงินทองมากมายของผู้กำกับโจ้ มาจากไหน นายนิวัติไชย ถึงกับอุทาน โอ้โห...เราขอตรวจสอบข้อมูลก่อน
ปฏิรูปตำรวจ ได้ยินมานาน...ยังค้างเติ่ง
ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในเวลานี้ ก็คือ “ปฏิรูปตำรวจ” ซึ่งถ้าใครติดตามข่าวการเมืองเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ก็อาจจะเคยคุ้นหู ซึ่ง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) และปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา และกำลังผลักดันร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ...
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า ทุกครั้งที่คนพูดถึง “การปฏิรูปตำรวจ” ก็ต่อเมื่อมีตำรวจบางคนกระทำอะไรเสียหายต่อทางสังคม เฉกเช่นเดียวกับ “ผู้กำกับโจ้” โดยเฉพาะประเด็น การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ กลั่นแกล้ง จับกุมตรวจค้นมิชอบ หรือตำรวจไปทำหน้าที่ควบคุมฝูงชน คนพูดขึ้นเพราะคนไม่พอใจ ต้องปฏิรูป..
สำหรับการจะปฏิรูปตำรวจจริงๆ นั้น เราต้องย้อนดูว่า ตำรวจในปัจจุบันนี้มันตอบสนองความต้องการของประชาชนตามภารกิจหน้าที่ คือ รักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม คือ การป้องกันปราบปรามอาชญากรรม แต่ในความเป็นจริง ตำรวจต้องทำหน้าที่ครอบจักรวาล โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นพันฉบับ คิดว่าตำรวจทำหน้าที่ไหวไหม ตำรวจต้องไปจับเรื่องป่าไม้ ภาษีอากร และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะตำรวจมีอำนาจจับกุมตาม ป.วิฯ อาญา สืบสวน จับกุม ผู้กระทำความผิดที่มีโทษทางอาญาทุกฉบับ
...
“ฉะนั้นที่ผ่านมา เราพยายามเสนอใน กมธ. เพื่อขอให้พิจารณาอำนาจหน้าที่ พยายามตีกรอบให้เล็กลง เช่น “บ่อนการพนัน” ตาม พ.ร.บ.การพนันฯ ในการเปิดสถานบริการ รมว.มหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ ฝ่ายปกครองเป็นผู้ออกใบอนุญาต แต่ทำไมเวลาจับ ตำรวจต้องไปจับ หรือพอมีฝ่ายปกครองมาจับ ทำไมต้องย้ายตำรวจ..ตัดเลยได้ไหม ไม่ต้องให้ตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องจับกุมปราบปรามเลยได้ไหม” พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ตั้งคำถาม
กลับกัน เวลาจะแต่งตั้งโยกย้าย กลับใช้เรื่องสถานที่บริการเหล่านี้มาจัดเกรด บอกเป็นแหล่งดีๆ แหล่งผลประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องอาชญากรรมพื้นฐานที่เกี่ยวกับทุกข์สุขชาวบ้าน ให้เวลาเต็มที่เพื่อดูแลป้องกันอะไรที่เกี่ยวกับชีวิต ร่างกายไปเลย ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ทั้งหลาย ดูแค่สิ่งเหล่านี้
อดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม สรุปว่า “ปัญหาของตำรวจในเวลานี้คืองานล้นมือ ทำงานจิปาถะ ทำให้ภารกิจหลักคือ การปราบปราม ดูแลความสงบเรียบร้อย ด้อยลงไป
ประเด็นปฏิรูปหลักๆ คือ โครงสร้างและหน้าที่ อยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง. ประกอบด้วย
...
1. ให้มีการกําหนดระยะเวลาดําเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า และมีกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ รวมตลอดทั้งการสร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม
2. ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวน กับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กําหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจน เพื่อมิให้คดีขาดอายุความ และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา รวมทั้งกําหนดให้การสอบสวนต้องใช้ประโยชน์จาก นิติวิทยาศาสตร์ และจัดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่มีอิสระจากกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก
3. เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ให้มุ่งอํานวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว
4. ดําเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับ หน้าที่ อํานาจ และภารกิจของตํารวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ของข้าราชการตํารวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตํารวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง และโยกย้าย และการพิจารณาบําเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคํานึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตํารวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพ และภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน”
...
ปฏิรูปตำรวจ สอดคล้องกับ โครงสร้างประเทศ
นี่คือเนื้อหาที่ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่...การปฏิรูปโครงสร้าง ใช่ว่า อยากเปลี่ยนก็เปลี่ยนได้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ อธิบายว่า เพราะโครงสร้างตำรวจของทุกประเทศ มักจะสอดคล้องกับระบบการปกครองประเทศ ซึ่งมีการปกครองที่แตกต่างกัน ประเทศไทยมีรัฐเดียว แบ่งเป็นจังหวัดต่างๆ ส่วนภูมิภาคและนครบาล ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ มีหลายรัฐ อังกฤษก็มีการปกครองอีกแบบ ฉะนั้น การปฏิรูปโครงสร้างจะให้บอกว่าเอาแบบประเทศนั้น ประเทศนี้มาใช้ ทำไม่ได้ เพราะมีโครงสร้างแตกต่างกัน
คนที่เข้ามาเป็นตำรวจก็หวังที่จะเติบโตก้าวหน้า โดยยึดหลักความดีความชอบ ทำงานดีต้องได้ดี นี่ล้วนเป็นสิ่งที่ข้าราชการอยากได้
แต่...เมื่อมาดูความเป็นจริง
การเริ่มต้นเป็นตำรวจจะเข้ามาเป็นได้ 2 ทาง คือ เริ่มจากการมาเป็นตำรวจสัญญาบัตร จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ จบปริญญาจากมหาวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง และอีกส่วนเริ่มจากประทวน และสอบเลื่อนขั้นเป็นสัญญาบัตร
สำหรับตำรวจชั้นประทวน จะรับสมัครคนที่จบ ม.6 (อายุ 18) หากสอบติดตำรวจแล้ว ผ่านการอบรมอีก 8 เดือน ผ่านการอบรมเสร็จ มาเป็นตำรวจ หากคิดตามก็จะทราบว่า เด็กอายุ 19 ปี ติดยศ สิบตำรวจตรี มีอำนาจทางกฎหมาย และ ปืน ได้เงินเดือนน้อยกว่าแรงงานขั้นต่ำ (ประมาณ 1 หมื่นบาท)
“ด้วยวุฒิภาวะ และเงินเดือนอันน้อยนิด ต้องมาดูแลประชาชนที่ฝากความหวังไว้ เราไม่ได้ดูแคลนตำรวจที่เพิ่งเข้ามาทำงาน เพราะของแบบนี้มันอยู่ที่นิสัยส่วนตัวและการเลี้ยงดู ฉะนั้น หากคิดจะปฏิรูป ควรจะปรับปรุงระเบียบตรงนี้ไหม...ต่างประเทศเขารับ อนุปริญญา หรือคนที่มีประสบการณ์แล้ว การเป็นตำรวจมันต้องรู้ชีวิตของคนอื่นด้วย”
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวต่อว่า เมื่อเข้ามาแล้วก็ไม่มีสวัสดิการอะไร ทั้งเงินเดือน และสิ่งของ...
เมื่อพูดถึงตรงนี้ จึงถามว่า สวัสดิการแบบนี้ แต่มีปืน มีอำนาจ เหมือนบีบให้ตำรวจบางคนกลายเป็นโจรหรือไม่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า เอาจริงๆ บางครั้ง เวลาเราเปิดสอบตำรวจ ก็มีคนแห่เข้ามาสมัครมากมาย 1 ตำแหน่ง มีคนสมัคร 1,000-2,000 คน
“เชื่อว่าแรกเริ่มเดิมทีตอนที่เขาเข้ามา ไม่ได้คิดว่าจะเข้ามาเป็นโจร แต่เขาเข้ามาทำงาน แต่พอมาอยู่ในแวดวงตำรวจแล้ว หรือด้วยความประพฤติเฉพาะบุคคล (บางคน) อยากได้ใคร่ดี ตัวเองมีอำนาจและปืน มันก็เลยอาจจะพาให้คนคนนั้นลงต่ำ หรืออีกแบบ คนที่ผ่านอบรมแล้ว เป็นตำรวจแล้ว..ไม่มีใครจะวางแผนว่า วันหน้าจะไปเป็นโจร ของแบบนี้เป็นตัวตน บุคคลใฝ่ต่ำ คนพวกนี้ไม่ได้เป็นตำรวจโดยชีวิตจิตใจ เพียงแต่ใส่เครื่องแบบตำรวจเท่านั้น”
ค้างคาหลายปี แต่ก็ปฏิรูปตำรวจไม่ได้ เพราะ...?
ทีมข่าวฯ ถาม อะไรคือ อุปสรรคสำคัญต่อการปฏิรูปตำรวจ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ยืนยันว่าไม่มีอุปสรรคขัดขวาง แต่อยากให้ยืนยันชัดเจนก่อนว่า จะปฏิรูปเรื่องอะไร ปฏิรูปอย่างไร เราต้องรู้ 2 อย่างนี้ก่อน ค่อยมาถึงคำว่าติดขัดเรื่องอะไร เป็นเพราะคนหวงอำนาจ เพราะนโยบาย หรืองบประมาณ
แสดงว่าส่วนหนึ่งของปฏิรูปไม่ได้ เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ? พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ยอมรับว่า ใช่ ทั้งในเรื่องสวัสดิการต่างๆ อุปกรณ์การทำงาน ปืนก็ไม่มี
“ที่ผ่านมา มีการเสนอของบซื้อปืนให้ตำรวจออกไปทำงาน แต่ล่าสุด ส.ส.ขอให้ตัดงบส่วนดังกล่าวออก เพราะยกตัวอย่างว่าตำรวจเอาไปใช้ในทางที่ไม่ดี โดยยกตัวอย่างคนเลวๆ ไม่นึกถึงคนดีๆ บ้างเลยที่เขาเพิ่งจบมาหลักร้อยถึงพันคน ซึ่งเชื่อว่ามีคนดีๆ เยอะกว่า”
ส่วนหนึ่งที่ล่าช้า เพราะปัญหาการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่งด้วยไหม ที่ทำให้การปฏิรูปล่าช้า เพราะยึดติดในโครงสร้างอำนาจแบบเก่า พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายเป็นระบบ มีกฎกติกาวางไว้ทั้งหมด แต่กฎที่วางไว้ยังไม่ดี ไม่ครอบคลุมพอ เพราะยังมีช่องทางให้คนทำมาหากินวิ่งเต้นได้ เข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่
“ปัญหามันอยู่ที่ระบบการแต่งตั้ง เราก็ต้องแก้บางส่วน ถามว่ามีกลุ่มคนมาขัดขวางไหม เชื่อว่าไม่มี เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่าการปฏิรูปเกิดขึ้นได้ ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ก็มีการพูดถึงเรื่องพวกนี้ ท่านนายกฯ เองก็สนับสนุน”
แต่เมื่อปรับปรุงโครงสร้างส่วนนี้ลง จะทำให้อำนาจต่างๆ ของคนเดิมลดลง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ระบุว่า หลักจริงๆ มีหมด เสียอยู่อย่างเดียว คือกฎหมายบ้านเราบางครั้งตึงเกินไป ทำให้การบริหารยาก กฎระเบียบหย่อนเกินไป ก็กลายเป็นช่องทางทำมาหากิน
ซึ่งกฎบางข้อตึงมาก...แต่ก็มีติ่งให้ “ยกเว้น”
คำว่า “ยกเว้นได้” มันเป็นสิ่งที่เอามาใช้ ฉะนั้น การปรับปรุงเราจับตาในเรื่องพวกนี้ ซึ่งที่ผ่านมาถูกหยิบมาใช้ประโยชน์กันเป็นหลัก
ยกตัวอย่างการโยกย้าย หากเป็น
ระดับนายพล จะมี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กตช.
ระดับผู้บังคับการ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ระดับต่ำลงจากนี้ จะเป็นเรื่องของผู้บัญชาการ
ซึ่งระบบทุกอย่างถูกออกแบบมา แต่...ในประเทศไทย มักจะมีการพูดถึง “ระบบอุปถัมภ์” ซึ่งมันทำให้เกิดการกัดกร่อนในทุกระบบ ซึ่งปกติแล้ว มันควรจะเติบโตในระบบคุณธรรม แต่คนดีๆ ควรเจริญเติบโต ก็มาเจอระบบอุปถัมภ์เข้ามาอีก
“เอาจริงๆ นะ เราจะสกัดระบบอุปถัมภ์ออกออกให้หมดได้หรือไม่ ตัวผมเองก็ตอบไม่ได้ว่าจะทำได้แค่ไหน..”
ที่ผ่านมา ช่วงรัฐประหาร เหมือนจะเดินหน้าจริงจังเรื่องการปฏิรูปตำรวจ แต่ดูเหมือนเรื่องมันล่าช้าไปไหม พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ยืนยันมันเดินมาตามขั้นตอน จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ต้องย้อนไป กปปส. ที่บอกว่า ตำรวจใช้อำนาจเกินขอบเขต บางคนประพฤติไม่ดี ต้องปฏิรูปตำรวจ ควรไปอยู่ในท้องถิ่น....ซึ่งเรื่องนี้มันเกี่ยวกับโครงสร้างปกครองประเทศ ซึ่งต่อมีการเดินหน้าผลักดันเข้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญ 60 รวม 11 ด้าน ด้านหนึ่ง คือ กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับตำรวจ
หลังจากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ได้มีการเสนอและแก้ไข โดย ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขณะนั้น จากนั้นก็มีการเสนอเข้ามาที่รัฐสภา ซึ่งเวลานี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ในรัฐสภา โดยมีกรรมาธิการพิจารณา
“เราถูกตั้งคำถามว่าทำไมกฎหมายฉบับนี้ช้า อยากจะบอกว่ามันก็เดินตามขั้นตอนของมัน ที่ผ่านมา เราเจอสถานการณ์โควิด การพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ต้องประชุมร่วมรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. มี กมธ. มากกว่า 40 คน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีข้อจำกัดการประชุม เช่น ส.ส. และ ส.ว. มีประชุม วันจันทร์-อังคาร ส่วน ส.ส. ประชุมวันพุธและพฤหัสฯ ส่วนวันศุกร์ ส.ส.ก็จะลงพื้นที่ เมื่อการพิจารณากฎหมายสำคัญ ไม่สามารถประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อมีสถานการณ์แบบนี้ บวกกับเรื่องเร่งด่วน เช่น กฎหมายงบประมาณ แก้รัฐธรรมนูญ ทำให้การประชุม ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ เกิดการชะงัก แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะเร็วขึ้น”
ภาพการสอบสวนที่โหดร้าย ส่งผลต่อภาพลักษณ์ วอนขอความเป็นธรรมตำรวจดีๆ
ทีมข่าวฯ ถามอดีตตำรวจอย่าง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ถึงกรณีคลิป “ผู้กำกับโจ้” ที่กระจายไปทั่วโลกแล้ว ส่งผลต่อภาพลักษณ์ตำรวจหรือไม่ อดีตตำรวจเก่า ยอมรับว่ากระทบ แต่อยากจะขอความเป็นธรรม
“ผมเองเป็นอดีตตำรวจมา 37 ปี ตั้งแต่รองสารวัตร จนถึง รอง ผบ.ตร. ยศพลตำรวจเอก แม้ปัจจุบันตนจะเป็นข้าราชการบำนาญ เพราะถูกโอนย้ายมาเป็นอธิบดีดีเอสไอ และ ปลัดกระทรวงยุติธรรม แต่ผมเคยเป็นตำรวจ รู้ขั้นตอนการทำงาน ยิ่งอยู่สายสอบสวนคดีอาญา ดังนั้น จึงอยากให้ประชาชนแยกแยะ ตำรวจที่ไม่ดี มันเลวจากความประพฤติ หรือกมลสันดาน อยากให้มองว่าคนคนนั้น ไม่ใช่การกระทำของตำรวจ แต่เป็นการกระทำของคนที่มาใช้เครื่องแบบตำรวจ ที่ไม่มีจิตใจ วิญญาณ ถึงวันนี้ผมยังท่องคติตำรวจได้...”
“เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่
กรุณาปรานีต่อประชาชน
อดทนต่อความเจ็บใจ
ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก
ไม่มักมากในลาภผล
มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ดำรงตนในยุติธรรม
กระทำการด้วยปัญญา
รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต”
ตลอดชีวิตผมเห็นตำรวจที่ทำสิ่งดี เป็นสิ่งที่ผมพูดมากมาย แต่ถ้าบางคนไม่ใช่ ทำไม่ดี ก็อยากให้รุมถล่มไปเลย แต่ขอกรุณาอย่าเหมารวม เพราะยังมีตำรวจดีๆ อยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : sathit chuephanngam
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ