รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ตนและคณะวิจัยนำกระบวนการพ่นยิงด้วยอนุภาคละเอียด หรือ Fine shot peening ซึ่งเป็นกระบวนการปรับผิววัสดุให้มีคุณสมบัติแข็งแรงสูง ทนต่อการดัด งอระหว่างการรับน้ำหนัก แต่มีขนาดที่บางและน้ำหนักเบา นำมาประยุกต์ใช้กับวัสดุโลหะไทเทเนียมที่ฝังในร่างกายผู้ป่วย โดยได้ทำการทดลองค่าความแข็งแรงของวัสดุ ความทนทานต่อความล้าและการเปลี่ยนรูป แรงเสียดทาน ในแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ก่อนนำไปทดสอบในกระดูกเทียม และกระดูกอาจารย์ใหญ่ พบว่าวัสดุมีความแข็งแรงมากกว่าเดิมถึง 43% และทนแรงดัดได้มากขึ้นกว่า 40% เช่น สกรูขันกระดูกที่มีความสามารถในการยึด (Pullout Strength) สูงขึ้นอีก 70% โดยมีผู้ป่วยจำนวนกว่า 40 ราย ที่ได้รับการผ่าตัดพบว่าได้ผลดี ทำให้สามารถใช้งานในร่างกายได้นานขึ้น แก้ปัญหาสกรูที่ยึดกับกระดูกหลวมที่มักจะพบในผู้สูงอายุที่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนสกรู

รศ.ดร.อนรรฆกล่าวว่า แผ่นดามกระดูกและสกรูประสิทธิภาพสูงด้วยกระบวนการ Fine Shot Peening เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งนอกจากจะเป็นการออกแบบนวัตกรรมการรักษาแบบใหม่แล้ว ยังมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศกว่าครึ่ง อนาคตจึงคาดหวังอยากให้อุปกรณ์ได้รับเลือกในการบรรจุเข้าไปในรายการสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อประชาชนสามารถใช้สิทธิ์เพื่อการรักษากระดูกไหปลาร้าโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนต่าง.