พศ.สั่งตั้งโรงทานปรับเวลารถไฟฟ้า อว.มอบ ‘ชุดตรวจ’ ผลิตเอง-ราคาถูก
รัฐบาลพร้อมแล้ว ดัดแปลงโรงแรมของเอกชน-พุทธมณฑล เป็นโรงพยาบาลสนาม มีห้องรองรับทั่วประเทศแล้วกว่า 16,000 ห้อง หากเกิดวิกฤติระบาดหนักขณะที่ยอดผู้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาพุ่งกว่า 22ล้านคน ก.คลังใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) คัดกรองไม่มีซิกแซ็ก ด้านรัฐและเอกชนต่างพร้อมใจช่วยบริจาคของจำเป็นสู้ภัยโควิด-19 จำนวนมาก
รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งภาครัฐและเอกชนยังคงต้องเพิ่มความเข้มใช้มาตรการด้านต่างๆเพื่อป้องกัน-ช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ ป้องปรามตรวจจับผู้กักตุนสินค้าอุปโภค-บริโภคไว้ขายเกินราคา รวมถึงเตรียมใช้มาตรการดัดแปลงสถานที่ต่างๆเป็นโรงพยาบาลสนาม กรณีเกิดวิกฤติลุกลามมีผู้ป่วยจำนวนมาก
เตรียมโรงแรมเป็น รพ.สนาม
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง ที่ปรึกษา รมช.สาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้บริหารโรงแรมเดอะ พาลาสโซ และผู้บริหารโรงแรมปริ๊นซ์ตัน ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการดัดแปลงโรงแรมเป็นโรงพยาบาลสนาม นายสาธิตกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย เตรียมการปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นโรงพยาบาลสนาม 2 รูปแบบ คือโรงพยาบาลสนามที่ใช้พักฟื้นผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 และโรงพยาบาลสนามที่ใช้สังเกตอาการของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวัง รวมทั้งเตรียมทางเลือกให้กับผู้ต้องการกักตัวเองจากครอบครัว
...
เปิดรับผู้ป่วย 5 หลักเกณฑ์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า เกณฑ์ 5 ข้อในการรับผู้ป่วยเข้าพักในโรงพยาบาลสนามที่ใช้พักฟื้นคือ 1.ผู้ป่วยต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 วัน และมีผลภาพถ่ายรังสีปอดคงที่ 2.ผู้ป่วยยินดีให้ความร่วมมือ สื่อสารรู้เรื่อง ดูแลตนเองได้ดี ไม่ก้าวร้าว ไม่มีความเสี่ยงทางจิตเวช 3.ผู้ป่วยต้องไม่มีไข้หรือโรคประจำตัว 4. ผู้ป่วยต้องมียามาจากโรงพยาบาลครบตามแผนการรักษา และ 5. โรงพยาบาลต้นทางยินดีรับผู้ป่วยกลับไปรักษา หากอาการเปลี่ยนแปลง มีบุคลากรทางการแพทย์เฝ้าติดตามอาการทุกวัน ประมาณ 3-5 คน ต่อผู้ป่วย 100 คน ทุกห้องต้องมีเครื่องมือทางการแพทย์อย่างน้อย 2 ชิ้น คือ เทอร์โมมิเตอร์แบบอัตโนมัติและเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
คาดรองรับกว่า 1.6 หมื่นห้อง
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเสริมอีกว่า เกณฑ์ในการประเมินความเหมาะสมของโรงแรมที่เตรียมเป็นโรงพยาบาลสนาม แบ่งเป็น 5 หมวด ประกอบด้วย 1.โครงสร้างอาคารและวิศวกรรม ต้องมีความปลอดภัยโครงสร้างสมบูรณ์ไม่แตกร้าว 2.บุคลากร มีการจัดเตรียมบุคลากรสนับสนุน ที่ผ่านการอบรมอย่างถูกต้อง 3.มีความเพียบพร้อมทางด้านเครื่องมือแพทย์ วัสดุ อุปกรณ์สำนักงานและอื่นๆ 4.มีการจัดเตรียมยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลไว้อย่างเหมาะสม และ 5.จัดการสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับชุมชน มีระบบจัดการขยะติดเชื้อ บำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน ขณะนี้มีโรงแรมทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมแล้ว 132 แห่ง อยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติ คาดจะขยายจำนวนห้องพักฟื้นผู้ป่วยและผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังได้มากกว่า 16,000 ห้อง ประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ประกอบการโรงแรมที่สนใจจะเข้าร่วมลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ www.hss.moph.go.th โทร. 0-2193-7024, 7059, 7097 ในวันและเวลาราชการ
ตั้งโรงทานทั่วประเทศ 125 แห่ง
ที่วัดยานนาวา นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ตรวจเยี่ยมโรงทาน ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ร่วมแจกถุงยังชีพให้ประชาชนพร้อมนายเทวัญ หลังเสร็จสิ้น นายเทวัญกล่าวว่าโรงทานที่ตั้งขึ้นเป็นไปตามพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช ให้วัดที่มีศักยภาพ จัดตั้งโรงทานช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากวิกฤติครั้งนี้ ขณะนี้มีวัดต่างๆทั่วประเทศจัดตั้งโรงทานแล้ว 125 แห่ง เตรียมทยอยเปิดในพื้นที่ต่างๆอีกต่อเนื่อง แต่ละแห่งจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องการกันแพร่ระบาดเชื้อไวรัส
จ่อใช้พุทธมณฑลเป็น รพ.สนาม
นายเทวัญระบุด้วยว่า หารือกับนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.พศ. เพื่อเตรียมพื้นที่ในพุทธมณฑลเป็นโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ นายณรงค์ยืนยัน อาคารมีความพร้อมสามารถดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลสนาม ส่วนกรณีปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ รวมทั้งการฌาปนกิจศพของผู้ป่วยโควิด-19 ประชาชนและวัดไม่ต้องเป็นห่วง เพราะมีขั้นตอนปลอดภัย พระสงฆ์ไม่ต้องสัมผัสศพและมีการฆ่าเชื้อ ส่วนกิจกรรมต่างๆของวัดไม่ควรจัดงานให้คนมารวมตัวกันมาก ถ้างดได้ควรงด หากพระสงฆ์มีข้อสงสัย สอบถามได้ที่สำนักงาน พศ. หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ทั่วประเทศ
ยธ.ปรับห้องแล็บตรวจโควิด
ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่าสั่งการ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เร่งปรับปรุงห้องแล็บของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นห้องตรวจหาไวรัสโควิด-19 เพื่อสนับสนุนงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีแล็บตรวจหาเชื้อโควิด-19 ใน กทม. เพียง 28 แห่ง การเปิดแล็บดังกล่าวเพื่อตรวจบุคคลที่มีความเสี่ยง อาทิ กลุ่มนักโทษ จะทำได้รวดเร็วมากขึ้น ส่งผลถึงการยับยั้งแพร่ระบาด คาดใช้เวลาปรับปรุงแล็บอย่างเร็วที่สุด 1-2 สัปดาห์ และแล็บของสถาบันสามารถตรวจหาไวรัสได้ 200 รายต่อวัน
ใช้เอไอกรองผู้รับเงินเยียวยา
ขณะที่นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวถึงมาตรการเยียวยากลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้รับเงินชดเชยรายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ว่า ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนกว่า 22 ล้านคนแล้ว ในการตรวจสอบข้อมูล กระทรวงการคลังใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) คัดกรองคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน ส่วนผู้ยังที่ไม่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยา สามารถเข้าร่วม “โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน” โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ มีรายงานว่า สำหรับกลุ่มอาชีพที่ผ่านเกณฑ์คัดกรอง เนื่องจากมีฐานข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ชัดเจน ได้แก่ มัคคุเทศก์ โชเฟอร์รถแท็กซี่ ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล และผู้ขับรถ จยย.รับจ้าง ส่วนอาชีพอื่นๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
อว.ส่งมอบชุดตรวจหาไวรัส
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้แทนบริษัทสนามไบโอไซเอนซ์ มอบชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 20,000 ชุด ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โดยนายสุวิทย์ให้สัมภาษณ์ว่า อว.ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ วิจัยและพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีRT-PCR เป็นวิธีตรวจได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก มีเป้าหมายผลิตให้ครบ 1 ล้านชุด ภายใน 6 เดือน เพื่อให้รัฐบาลนำไปแจกตามโรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการต่างๆทั่วประเทศ
สธ.รับมอบของสู้วิกฤติ
ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข รับมอบผลิตภัณฑ์จากกลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อใช้ควบคุมป้องกันไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย เจลล้างมือแอลกอฮอล์ 100,000 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ซักผ้าและล้างห้องน้ำ 200,000 ชิ้น และเครื่องอุปโภค-บริโภค รวมมูลค่ากว่า 40 ล้านบาท พร้อมกันนี้ยังรับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากบริษัทไชน่าไทยทัวร์ ประกอบด้วยหน้ากากอนามัย 20,000 ชิ้น ถุงมือทางการแพทย์ 30,000 ชิ้น และชุดตรวจอุณหภูมิแบบดิจิทัล 20 เครื่อง
ยันจัดส่งตามความจำเป็น
นายอนุทินกล่าวว่าต้องขอบคุณผู้ใจบุญที่บริจาคสิ่งของเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันนี้ ของที่ได้รับบริจาคมาไม่ได้นำไปรวมกับสต๊อกกลาง แต่จะแยกออกมา มีคณะกรรมการตรวจสอบอย่างโปร่งใส เพื่อกระจายไปยังสถานพยาบาลต่างๆที่มีความจำเป็น สำหรับการบริหารจัดสรรเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เป็นสต๊อกกลางนั้น มี นพ.สุขุม กาญจนพิมายปลัดกระทรวงสาธารณสุขและอธิบดีกรมต่างๆหารือร่วมกัน เพื่อพิจารณาความต้องการของสถานพยาบาลต่างๆ ก่อนสรุปให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ส่งมอบตามความจำเป็นแต่ละพื้นที่ ส่วน นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีนักเทคนิคการแพทย์ รพ.ตราด ออกมาเปิดเผยข้อมูลการขาดแคลนหน้ากากอนามัยเพื่อใช้ตรวจผู้ต้องสงสัยติดไวรัสโควิด-19 เมื่อร้องขอไปถึงผู้บริหารโรงพยาบาล กลับถูกตั้งกรรมการสอบสวน ว่าเรื่องนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง ประสานไปยังโรงพยาบาลให้ชี้แจงเรื่องนี้โดยเร็ว
ตม.จับขายแมสก์เกินราคา
ที่สำนักงานตรวจคนเข้ามือง (สตม.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. ตำรวจ กก.สส.บก.ตม.3 ร่วมแถลงข่าวจับผู้ค้าหน้ากากอนามัยเกินราคา หลังสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ ศปอส.ตร. กรมการค้าภายในและหน่วยงานเกี่ยวข้อง จับกุมผู้ค้าหน้ากากอนามัยเกินราคา 3 คดี ผู้ต้องหา 4 คน ของกลางหน้ากากอนามัย 20 กล่อง รวม 20,250 ชิ้น โดยผู้กระทำผิดได้ขายในราคาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในพื้นที่ กทม.เบื้องต้นแจ้งข้อหาจงใจทำให้ราคาต่ำเกินสมควรหรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้า (หน้ากากอนามัย) ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ก่อนดำเนินการขยายผล
ระบบขนส่งปรับเวลาตามเคอร์ฟิว
ค่ำวันเดียวกัน หลังการประกาศเคอร์ฟิวที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 เม.ย. มีรายงานว่าระบบขนส่งสาธารณะทางรางทั้ง MRT, BTS และ Airport Rail Link มีมติจะปิดให้บริการในเวลา 21.30 น. ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) งดให้บริการเดินรถในเส้นทางสายยาวที่การเดินทางจะคาบเกี่ยวระยะเวลาเคอร์ฟิว ทำให้เส้นทางบริการ รฟท.กว่า 30 เส้นทาง ต้องหยุดให้บริการโดยปริยาย ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีการปรับเวลาให้บริการตั้งแต่เวลา 04.00 น. จนถึงเวลา 21.15 น.