ศาลธัญบุรีไม่ให้ประกัน 9 ผู้ต้องหา ป่วน บก.ตชด.ภ.1 ชี้กระทำการไม่เกรงกลัวกฎหมาย เสี่ยงแพร่เชื้อโควิด หากปล่อยไปอาจจะก่อเหตุอีก
เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2564 เวลา 11.00 - 13.00 น. ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรคลองห้า นำตัวผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรีมาส่งศาล พร้อมยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 เป็นคดีหมายเลขดำที่ ฝ 382-390 / 2564 ผู้ต้องหาได้แก่ 1. นายพรหมศร วีระธรรมจารี 2. นายแซม สาแมท 3. นายพริษฐ์ หรือ เพนกวิน ชิวารักษ์ 4. นายณัฐชนน ไพโรจน์ 5. นายสิริชัย นาถึง 6. นายชาติชาย แกดำ 7. นายภาณุพงศ์ จาดนอก 8. น.ส.ปนัดดา ศิริมาศกุล และ 9. นายธนพัฒน์ กาเพ็ง ตามลำดับ โดยพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 9 มีข้อหาดังนี้
ข้อหาที่ 1 มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ ในการกระทำความผิดนั้น (ผู้ต้องหาลำดับที่ 2 ไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการฯ)
ข้อหาที่ 2 ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่มีจำนวนรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน
ข้อหาที่ 3 ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมหรือกิจกรรมที่มี ความเสี่ยงการแพร่โรคในพื้นที่ที่ประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดและพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ข้อหาที่ 4 ร่วมกันกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป
ข้อหาที่ 5 ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่มีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดปทุมธานี ที่ 7022/2564 เรื่อง กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ข้อ 8
...
ข้อหาที่ 6 ร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต (ยกเว้นผู้ต้องหาลำดับที่ 2 และ 5)
ข้อหาที่ 7 ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ (ยกเว้นผู้ต้องหาลำดับที่ 1, 3, 6 และ 9)
พฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหาสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้จับกุม นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน กับพวก มาควบคุมที่ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 หมู่ 6 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.คลองห้า ต่อมาวันเดียวกัน (2 ส.ค.64) ได้มี นายพริษฐ์ หรือ เพนกวิน ชิวารักษ์, นายณัฐชนน ไพโรจน์, น.ส.ปนัดดา ศิริมาศกุล, นายภาณุพงศ์ จาดนอก, นายธนพัฒน์ กาเพ็ง, นายพรหมศร วีระธรรมจารี, นายชาติชาย แก้วดำ และนายสิริชัย นาถึง เป็นแกนนำหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการให้มีการมั่วสุมกัน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดย นายพริษฐ์ กับพวก มีการสลับกันขึ้นพูดปราศรัยบนรถที่มีเครื่องขยายเสียง โดยไม่มีการขออนุญาต มีการพูดปลุกเร้า กดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัว นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) กับพวกที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวอยู่ภายใน บก.ตชด.ภ.1 ออกมา และมีการก่อความวุ่นวายโดยใช้รถยนต์ปิดกั้นถนนลักษณะเป็นการขัดขวางการจราจร ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนวุ่นวายในบ้านเมือง ทั้งยังได้ปราศรัยโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่และรัฐบาล
เวลา 15.00 น. ทนายความของผู้ต้องหาลำดับที่ 1-9 ขอคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 1 และขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวน ศาลออกนั่งพิจารณาโดยมีบุคคลที่ผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการพิจารณาหน้า ห้องพิจารณาคดีที่ 9 ก่อนการไต่สวนศาลได้อ่านและอธิบายคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนและแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้ผู้ต้องหาทราบ
เวลา 21.00 น. ศาลอ่านคำสั่งคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาลำดับที่ 1, 3, 4, 5, 6, 7, 8 และ 9 พิเคราะห์พยานหลักฐานชั้นไต่สวนคำร้องและคำแถลงคัดค้านแล้ว เห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับ คดีมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี เมื่อผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นที่จะสอบสวน พนักงานสอบสวนชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกหมายขังได้ เมื่อพนักงานสอบสวนยังดำเนินการสอบสวนไม่แล้วเสร็จ กรณีมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนต่อไป จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้ตามขอ
เวลา 21.05 น. ศาลอ่านคำสั่งคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาลำดับที่ 2 พิเคราะห์พยานหลักฐานชั้นไต่สวนคำร้องและคำแถลงคัดค้านแล้ว เห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับ คดีมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะก่อเหตุอันตรายประการอื่น เมื่อผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นที่จะสอบสวน พนักงานสอบสวนชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกหมายขังได้ เมื่อพนักงานสอบสวนยังดำเนินการสอบสวนไม่แล้วเสร็จ กรณีมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนต่อไป จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้ตามขอ ศาลแจ้งสิทธิในการขอปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาลำดับที่ 1-9 ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาล
เวลา 21.40 น. ศาลอ่านคำสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาลำดับที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7 และ 8 ว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าตามข้อกล่าวหาผู้ต้องหาได้กระทำการโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวมในภาวะที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวงกว้าง ทั้งที่ผู้ต้องหาอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอื่นอันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย หากปล่อยชั่วคราวไปเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 108/1(3) ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว จึงไม่มีเหตุที่จะปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวน ให้ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งให้ผู้ต้องหาและผู้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว
เวลา 21.50 น. ศาลอ่านคำสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาลำดับที่ 9 ว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าตามข้อกล่าวหาผู้ต้องหาได้กระทำการโดยไม่เกรงกลัว ต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวมในสภาวะที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวงกว้าง หากปล่อยชั่วคราวไปเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 108/1(3) ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว จึงไม่มีเหตุที่จะปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวน ให้ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งให้ผู้ต้องหาและผู้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวทราบโดยเป็นหนังสือโดยเร็ว