- “อนุทิน” แจงชัดๆ ปมจัดหาวัคซีนโควิด-19 รัฐบาลแทงม้าตัวเดียวจริงหรือ
- โต้ครหาจัดซื้อล่าช้า ไทยตกขบวน คนไทยจะได้เริ่มฉีดเข็มแรกเมื่อไร
- ข่าวดี ไทยพัฒนาวัคซีนด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก เตรียมวิจัยในคนระยะแรก
หนึ่งประเด็นที่น่าจับตา และต้องติดตามอย่างมากในช่วงเวลานี้ แน่นอนคงหนีไม่พ้นเรื่อง “วัคซีนโควิด-19” ที่ถูกพูดถึงอย่างหนาหูว่าประเทศไทย “ตกขบวน?” เพราะประเทศอื่นๆ รวมถึงเพื่อนบ้านบางประเทศเขาเริ่มฉีดกันแล้ว จัดหาล่าช้าไปไหม ผูกขาดบริษัทใดเป็นพิเศษหรือไม่ และคำถามอีกมากมายเกี่ยวกับวัคซีน
รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงสาธารณสุข เสี่ยหนู - อนุทิน ชาญวีรกูล พร้อมอาจารย์หมอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกทีมแถลงใหญ่ถึงความคืบหน้าเรื่องวัคซีนโควิด-19 ในวานนี้ (10 ก.พ. 2564) ร่ายยาวนานกว่าชั่วโมงแจงละเอียดยิบ ว่า กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการทุกวิถีทางที่จะจัดหาวัคซีนให้คนไทยทุกคน โดยมีหลักการคือ ต้องมีประสิทธิภาพดีที่สุด ปลอดภัยสูงสุด คุ้มค่า และเหมาะสมมากที่สุดกับไทย
ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข ผ่านกรมควบคุมโรค เราจัดหาวัคซีน 63 ล้านโดส เป็นที่เรียบเรียบแล้ว เพื่อฉีดให้คนไทย และการได้รับวัคซีนก็เป็นการเพิ่มควาปลอดภัยให้สุขภาพคนไทย รวมถึงยังทำให้ไทยผ่านพ้นการระบาดของโควิด-19 ไปได้ด้วยดี
...
รัฐบาลแทงม้าตัวเดียว?
“คำพูดว่าทำไมรัฐบาล หรือกระทรวงสาธารณสุข เลือกแทงม้าตัวเดียวนั้น นี่คือบทพิสูจน์ว่าเราไม่ได้แทงม้าตัวเดียว เราติดต่อกับผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลกแทบทุกราย เรายืนยันการสั่งซื้อจัดหาวัคซีนให้คนไทยทุกคนในจำนวนที่มีความเพียงพอ และก่อให้เกิดความปลอดภัยกับทุกคนเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้รอการจัดส่ง ขอย้ำ การสั่งซื้อในจำนวน 63 ล้านโดส รัฐบาลไทยได้ทำสัญญาหรือออกใบสั่งซื้อวัคซีนเหล่านั้นให้ประชาชนคนไทยเรียบร้อยแล้ว การจัดส่งเป็นไปตามตารางเวลาในเงื่อนไข”
วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) จากจีน จำนวน 2 ล้านโดส ในเดือน ก.พ.นี้ จะมีการจัดส่งลอตแรก 2 แสนโดส มี.ค. 8 แสนโดส และ เม.ย. อีก 1 ล้านโดส พร้อมคาดว่าในปลาย พ.ค. หรือ มิ.ย. วัคซีนจากแอสตราเซเนกาที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะเริ่มทยอยส่งออกมาในลอตแรกที่เราสั่งไป 26 ล้านโดส ซึ่งไทม์ไลน์ทุกอย่างมีความต่อเนื่องกัน ทั้งที่แผนแรกจะเริ่มฉีดวัคซีนให้คนไทย มิ.ย. ปีนี้ แต่เมื่อมีการระบาดในระลอก 2 เกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคนไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้จัดหาเพิ่มให้พี่น้องประชาชนอุ่นใจ พร้อมขอร้องให้ทุกคนยังใช้ชีวิตแบบ New Normal คือ สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และรักษาระยะห่าง และด้วยความพยายามทุกวิถีทาง มั่นใจว่าเราสามารถจัดหาวัคซีนในเบื้องต้นให้กับกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดความกังวล ซึ่ง 2 แสนโดสแรกจากจีน คาดว่าจะมาถึงไทยปลาย ก.พ. นี้ หลังจากตรวจคุณภาพและแผนการผลิต จะนำมาใช้ได้ใน มี.ค. เป็นต้นไป
แจงปม “ซิโนแวค” ยังไม่ขึ้นทะเบียนในไทย
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับข้อมูลมากมายจากผู้ผลิตจีน และทางจีนก็ได้ขึ้นทะเบียนการใช้วัคซีนซิโนแวคในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่ลำบากใจของ อย. ในการเร่งขึ้นทะเบียนให้ทันกับการมาถึงของวัคซีนลอตแรกนี้ ส่วนที่ช่วงนี้ห้ามเอกชนนำเข้าถือเป็นการผูกขาดวัคซีนหรือไม่ อนุทิน ก็ตอบสั้นๆ ชัดๆ ว่า “ไม่ถือ”
เทคโนโลยีไข่ไก่ฟักไปได้สวย เตรียมวิจัยในมนุษย์
ประเทศไทยเราไม่ได้แทงม้าตัวเดียวเหมือนอย่างที่มีคนพยายามพูดให้เกิดความสับสน สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่มีความตั้งใจจะผลิตใช้ในประเทศเพื่อสร้างความมั่นคง ยั่งยืน และพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด รวมถึงมีการสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ในการพัฒนาวัคซีน ซึ่งองค์การเภสัชกรรมก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้ร่วมพัฒนาวัคซีนกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสถาบัน PATH ของสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เราใช้ “เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก” ที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน และเป็นเทคโนโลยีหลักที่ได้รับความนิยมในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ มีองค์ความรู้และพื้นฐานการพัฒนาที่ดี สิ่งที่เรากังวลที่สุดคือเรื่องความปลอดภัยของผู้ได้รับวัคซีน ก็จะครอบคลุมอยู่ในเทคโนโลยีไข่ไก่ฟักนี้ด้วย ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่า 80% ของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ทั่วโลกในปี 2019 เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก วัคซีนที่ได้มีความปลอดภัยสูง มีคุณภาพ ประสิทธิภาพดี อีกทั้งมีต้นทุนการผลิตต่ำ และกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน
สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่องค์การเภสัชกรรม ร่วมกับสถาบันและพันธมิตรต่างๆ พัฒนามาตั้งแต่กลางปี 2563 ทำการทดสอบในสัตว์ทดลอง ผลปรากฏว่า “วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลดีและปลอดภัย” ขั้นตอนต่อไปคือเตรียมการศึกษาวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 1 ในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้ และหากมีการศึกษาวิจัยทางคลินิกครบทั้ง 3 ระยะ จะดำเนินยื่นขอขึ้นทะเบียนกับทาง อย. จากนั้นจะทำการผลิตที่โรงงานผลิตวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม
“ถ้าทุกอย่างไม่มีอุปสรรคหรือปัญหาหลักใดๆ ที่จะเกิดขึ้นขัดขวางกระบวนการนี้ ผลของการทดลองเป็นไปได้ด้วยดี ไม่นานนี้ประเทศไทยก็จะมีโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 เป็นแห่งที่ 2 ต่อจากโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ ที่กำลังผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความมั่นใจและความมั่นคงในเรื่องการเข้าถึงวัคซีนของประเทศไทย ประชาชนไทย และดีที่สุดคือ เราจะได้เป็นผู้ที่เป็น Donor ผลิตให้มากเพียงพอที่จะดูแลตัวเอง และดูแลเพื่อนบ้านในภูมิภาค หรือดูแลทุกประเทศที่มีความต้องการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ถ้าในบ้านเราสะอาดปลอดภัยไร้การระบาด และสามารถทำให้เพื่อนบ้านรอบๆ เรามีสภาพเหมือนกัน ก็เป็นการเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่างๆ ในการติดเชื้อ และการระบาดของโรคโควิด-19 ได้
เราต้องตั้งเป้าตั้งความหวังว่าเราต้องไปถึงจุดนั้น เป็นสิ่งที่น่ายินดี น่าภาคภูมิใจ และเป็นการลบข้อครหาว่าแทงม้าตัวเดียว นอกจากจะไม่ได้แทงม้าตัวเดียว เราจะเป็นเจ้าของคอกด้วย หากไม่มีอะไรผิดพลาด คาดว่าไม่นานจากนี้ องค์การเภสัชกรรมจะสามารถเริ่มขอรับทะเบียนตำรับยา และเริ่มผลิตวัคซีนโควิด-19 เพื่อใช้ในประเทศได้ โดยมีกำลังผลิตประมาณ 25-30 ล้านโดสต่อปี มั่นใจว่าจะมีภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมกันพัฒนาประสิทธิภาพในทุกมิติ ก็จะดียิ่งๆ ขึ้นไป”
ประกาศกร้าว “ไร้อิทธิพลทางการเมือง”
อนุทิน ยังให้คำยืนยันในนามของรัฐบาลและเจ้ากระทรวงสาธารณสุขด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขโดยการสนับของของนายกรัฐมนตรี พร้อมที่จะให้การสนับสนุนวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 รวมถึงมีนโยบายชัดเจนให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สนับสนุนผู้ที่มีความต้องการค้นคว้าพัฒนาผลิตวัคซีนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย แม้กระทั่งผู้ประกอบการภาคเอกชน พร้อมให้การสนับสนุนแบบสุดลิ่มทิ่มประตูเต็มที่ ขอให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นผลสำเร็จอย่างที่องค์การเภสัชกรรมทำอยู่
ขอให้ประชาชนไว้วางใจต่อกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่จะมีฉีดให้คนไทย ไม่มีอิทธิพลทางการเมือง ไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองใดๆ ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย มีคณะกรรมการทั้งวิชาการและการให้บริการทางสาธารณสุขคอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่มีอิทธิพลใดที่จะมาสั่งการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เรื่องวัคซีนโควิด-19 จะเอามาล้อเล่นกันไม่ได้ พร้อมขอความกรุณาประชาชนมั่นใจและอย่าได้ฟังหรือเชื่อคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ จากบุคคลที่ไม่มีความเกี่ยวข้องในการจัดหา จัดซื้อ พัฒนา และให้บริการวัคซีน เราทำกันอย่างเต็มที่มานานแล้ว
หน้ากากอนามัยยังเป็นวัคซีนที่ดีที่สุด
พร้อมย้ำถึงประเด็นการใส่หน้ากากอนามัยดีกว่าวัคซีนว่า เมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วก็ยังต้องสวมใส่หน้ากาก ยังต้องใช้ชีวิตวิถีใหม่ สิ่งที่ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลง เป็นสิ่งถูกต้อง ตราบใดที่วัคซีนยังมาไม่ถึง หรือแม้จะได้รับวัคซีนแล้วสิ่งที่ดีที่สุดและยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งคือการใส่หน้ากาก การได้รับวัคซีนจะทำให้ความรุนแรงของโรคลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยอยู่กับโรคโควิด-19 มา 14 เดือนแล้ว แต่เรามีความร่วมมือในการดำเนินมาตรการทางสาธารณสุข จึงสามารถป้องกันการระบาดได้เป็นอย่างดี การระบาดระลอกสองไม่ได้เกิดจากความไม่ร่วมมือของพี่น้องประชาชนชาวไทย แต่เกิดจากบุคคลบางกลุ่มกระทำผิดกฎหมาย นำเชื้อโควิด-19 เข้ามาแพร่ในประเทศไทย และหน้ากากอนามัยคือวัคซีนที่ดีที่สุด
“เราพร้อมที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ภารกิจของเราบรรลุเป้าหมายเพื่อสุขภาพที่ดีของพี่น้องประชาชน ขอให้มีความมั่นใจ เราไม่ท้อถอย ไม่เสียใจ ไม่ย่อท้อกับสิ่งที่ทำอยู่ เพราะคิดว่าเราได้เดินมาถูกทางแล้ว ทุกมาตรการที่ได้ใช้ ทุกสิ่งที่เราได้ปฏิบัติและกำลังจะปฏิบัติต่อไป ทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทั้งสิ้น ขอกำลังใจจากทุกๆ ท่านให้บุคลากรสาธารณสุขได้ทำงานอย่างเต็มความสามารถ มีขวัญกำลังใจที่ดี มีความทุ่มเทไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคใดๆ เพื่อให้พวกเขาให้บริการเราได้อย่างเต็มที่”
วัคซีนไทยผลิตเองอาจได้ใช้ปี 65
ทางด้าน นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวเสริมถึงการผลิตวัคซีนโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรม ว่า สถาบัน PATH ส่งหัวเชื้อตั้งต้นของไวรัสที่วิจัยโดยโรงเรียนแพทย์ที่ Mount Sinai นิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยเทกซัส สหรัฐอเมริกา มาให้องค์การเภสัชกรรมโดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งสถาบัน PATH ได้รับทุนเบื้องต้นจากมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ (The Bill & Melinda Gates Foundation : BMGF) ซึ่งหัวเชื้อเกิดจากการจัดแต่งพันธุกรรม Virus Newcastle ให้มีโปรตีนส่วนหนามของโคโรนาไวรัส (Coronavirus Spike Protein) หรือเลียนแบบโควิด-19 ซึ่งไวรัสนี้ไม่ก่อเกิดโรค โดยนำมาเพิ่มจำนวนด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก เหมือนกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งการพัฒนาได้ผลดี ซึ่งวัคซีนแรกของไทยที่เข้าสู่ระยะวิจัยในคน และต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน จึงจะได้รับผล และหากเป็นไปด้วยดีก็จะดำเนินการจดทะเบียนเพื่อดำเนินการทางอุตสาหกรรมต่อไป หรือราวต้นปีหน้า
ส่วน นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม แสดงความมั่นใจเรื่องการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ว่ามีความพร้อมในการวิจัยในมนุษย์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย วัคซีนนี้ให้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงในไข่ไก่ฟัก และองค์การเภสัชกรรมยังมั่นใจในศักยภาพและกำลังการผลิต ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความพร้อมและปลอดภัย มีความเสถียรในการเก็บรักษาและขนส่ง ผลจากการทดลองในสัตว์ทดลอง และกระบวนการต่างๆ ที่จะวิจัยในมนุษย์ก็มีความพร้อมที่จะมีการวิจัยในเดือน มี.ค.นี้ นอกจากระยะสั้น คือการนำวัคซีนโควิด-19 จากจีนมาใช้ให้ทันเวลาแล้ว เรายังมองถึงระยะกลางและต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงของวัคซีนประเทศไทยด้วย
ทดสอบในคนระยะแรก มีทั้งวัคซีนจริงและหลอก
ขณะที่การทำวิจัยทางด้านคลินิก การทดสอบประสิทธิผลของวัคซีน นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ระบุในเรื่องนี้ว่า ศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มีประสบการณ์ในการทดสอบประสิทธิผลวัคซีนมานานกว่า 36 ปี ยกตัวอย่าง วัคซีนโรคเอดส์ วัคซีนมะเร็งปากมดลูก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล วัคซีนไข้หวัดนก วัคซีนโรคไข้เลือดออก เป็นต้น เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ทางศูนย์วัคซีนก็มีการเตรียมความพร้อมในการทดสอบวัคซีน โดยเข้าไปอยู่ในเครือข่ายการทดสอบวัคซีนระดับนานาชาติขององค์การอนามัยโลกเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่องค์การเภสัชกรรมได้วิจัยและพัฒนาวัคซีนร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ทางศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อนก็มีความพร้อมในการเริ่มทดสอบวัคซีนในระยะที่ 1 และระยะที่ 2
“จุดเด่นในการทดสอบครั้งนี้ คือ เป็นวัคซีนที่องค์การเภสัชกรรมมีส่วนร่วมในการพัฒนาและวิจัย เราจะดำเนินการทดสอบในอาสาสมัครที่เป็นคนไทย เพื่อนำประสิทธิผลที่ได้มาใช้ผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อฉีดในคนไทย การเตรียมความพร้อมทดสอบในระยะที่ 1 จะเป็นอาสาสมัครหลายกลุ่ม เป็นการศึกษาแบบไปข้างหน้า เป็นแบบสุ่ม ควบคุมด้วยยาหลอก และปกปิด โดยจะมีทั้งฉีดวัคซีนหลอก วัคซีนจริง และในบางกลุ่มจะมีการฉีดสารเสริมฤทธิ์วัคซีน (Adjuvant) เพื่อดูประสิทธิภาพ เราจะคัดเลือกในกลุ่มที่ดีที่สุดเข้าสู่ระยะที่ 2 ต่อไป”
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงพรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน รักษาการหัวหน้าศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน หัวหน้าโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่าระยะที่ 1 เป็นโครงการเพื่อการตรวจหาความปลอดภัย หาขนาดที่เหมาะสม และระดับภูมิต้านทานที่เหมาะสม จากนั้นนำขนาดที่ได้ทำการทดสอบเพื่อหาประสิทธิผลในอนาคตต่อไป วัคซีนโควิด-19 ที่องค์การเภสัชกรรมวิจัยพัฒนานั้น จัดเก็บที่ 2-8 องศาเซลเซียส มีความเสถียรในเรื่องอุณหภูมิค่อนข้างสูง เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัสที่ไม่ก่อโรคในคน ก่อโรคน้อยมากในนก ใส่ชิ้นส่วนของ Spike Protein ลงไป มีการพัฒนาใส่ Amino Acid คือ สารโปรตีน ให้มีความเสถียรและมีภูมิคุ้มกันที่กว้างขึ้น รวมถึงจะทำการทดสอบว่ามีหรือไม่มีสารเสริมฤทธิ์อันไหนจะดีที่สุด โดยจะเลือกสูตรที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจหาประสิทธิผลต่อไป พร้อมคาดหวังว่า วัคซีนที่มีสารเสริมฤทธิ์จะสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานที่กว้างขึ้น และต่อสายพันธุ์ที่อาจจะมีการกลายพันธุ์ในอนาคต
ขั้นตอนทดสอบในมนุษย์ 3 ระยะ
- ระยะที่ 1 จำนวน 210 คน เริ่มเดือนหน้าหรือต้น เม.ย. แบ่งหลายกลุ่ม มีทั้งฉีดวัคซีนหลอก วัคซีนจริงที่มีขนาดหลายโดส และบางกลุ่มให้สารเสริมฤทธิ์ หาขนาดที่เหมาะสมและความปลอดภัย ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน
- ระยะที่ 2 กลุ่มที่ได้ผลดีจากระยะที่ 1 จะเลือกมา 2 สูตร และเปรียบเทียบกับอาสาสมัครที่ไม่ได้รับอะไรเลย ทั้งหมด 250 คน คาดว่าระยะที่ 2 หากไม่คาดเคลื่อนจะเริ่มเดือน เม.ย. - พ.ค. 2564 จะสามารถให้ข้อมูลและขับเคลื่อนการทำงานในระยะที่ 3 ต่อไป
- ระยะที่ 3 เมื่อได้กลุ่มที่ได้ผลดีที่สุดจากระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการต่อประมาณปลายปี 2564
ทั้งนี้ ในไทยสามารถทดสอบในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ในวงจรเราเองได้อย่างสมบูรณ์ แต่ระยะที่ 3 ขึ้นอยู่กับจำนวนเคสของผู้ป่วยในประเทศด้วย ถ้าผู้ป่วยน้อยอาจจะต้องนำไปทดสอบที่ต่างประเทศ
หากจำเป็นพร้อมจัดหาเพิ่ม
นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ มีความยินดีที่เห็นความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แม้ ณ เวลานี้จะมีวัคซีนจำหน่ายหลายบริษัท แต่การที่เราจะดำเนินการเองภายในประเทศได้ จะเป็นหลักประกันในเรื่องของความมั่นคงและยั่งยืนในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติเตรียมการสนับสนุนทุนการวิจัยให้องค์การเภสัชกรรมและคณะเวชศาสตร์เขตร้อนไว้แล้ว ส่วนการจัดหาวัคซีนก็ยังสามารถจัดหาเพิ่มได้อีกหากจำเป็น รวมถึงยังมีวัคซีนอีกหลายเจ้าที่รอการประกาศผล ซึ่งจะมีวัคซีนออกมาอีกหลายบริษัท เพราะฉะนั้น การจัดหาวัคซีนในช่วงไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 เป็นการจัดหาวัคซีนที่เราจะพิจารณาความเหมาะสมได้มากขึ้นเรื่อยๆ
ฉีดวัคซีนช้า ทำเศรษฐกิจตกต่ำ?
ในเรื่องนี้ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตอบว่า การฉีดวัคซีนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในกลุ่มประชาชน ถึงระดับที่จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อหรือเจ็บป่วยได้ เรื่องนี้ต้องดูระยะยาวพอสมควร พร้อมเปรียบการวิ่ง 4,000 เมตร วันนี้เราเพิ่งอยู่ที่ 20 เมตรแรก เพราะฉะนั้น ใครที่นำ 20 เมตรแรกไปนิดหน่อยไม่ได้หมายความว่าประสบความสำเร็จ หลักของวัคซีนก็เช่นกัน การที่เราเริ่ม 2 แสนโดส ไล่ไปจนถึง 26 ล้านโดส ที่จะเข้ามาปลายเดือน พ.ค. และบวกอีก 35 ล้านโดสที่จัดหาเพิ่ม เราจะทำให้เสร็จในปี 2564 เมื่อถึงเวลานั้นประเทศไทยอาจจะไม่ได้ช้ากว่าใครเลย และความครอบคลุมของการฉีดจนถึงระดับที่จะป้องกันโรคได้อาจจะมากกว่าหลายประเทศด้วยซ้ำ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่าคณะทำงานเกี่ยวกับวัคซีนนั้นประชุมและทำงานกันทุกวัน มีการจัดเตรียมการบริการ และซักซ้อมการทดสอบฉีดวัคซีนเสมือนจริงที่สถาบันบำราศนราดูร พบว่าประชาชนที่มารับบริการจะใช้เวลา 37 นาที ทำให้คำนวณได้ว่าแต่ละวันจะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงยังมีคณะทำงานติดตามอาการหลังฉีดวัคซีนด้วย ยืนยันว่าทุกคณะทำงานกันอย่างเข้มข้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
แม้หลายบริษัททั่วโลกจะผลิตวัคซีนโควิด-19 ออกมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไวรัสร้ายยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง คร่าชีวิตผู้คนในโลกใบนี้ไปมากมายถึง 2.3 ล้านราย (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ก.พ. 2564) หลายหลากประเทศก็ทยอยฉีดวัคซีนให้ประชากรของตัวเองแล้ว ส่วนพี่ไทยก็คงต้องรอกันต่ออีกหน่อย ปลายเดือน ก.พ.นี้ จะได้วัคซีนวิโนแวคจากจีนลอตแรก 2 แสนโดส และจะทยอยส่งให้จนครบ 2 ล้านโดส ก่อนที่วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาที่ผลิตในไทยจะได้ในช่วงปลาย พ.ค. และเริ่มฉีดของลอตนี้ราวๆ มิ.ย. รวมถึงวันนี้ ก็ยังมีเรื่องน่ายินดีที่วัคซีนซึ่งวิจัยและพัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม ร่วมกับหลายองค์กร มีสัญญาณที่ดีให้เห็นถึงขั้นเตรียมวิจัยและทดสอบในคน แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราทุกคนยังต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างทางสังคม งดเว้นกิจกรรมที่อาจจะเป็นความเสี่ยงของการแพร่ระบาดและติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และขอเป็นอีกกำลังใจให้ทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร รวมถึงคนไทยทั้งประเทศ ผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาดครั้งใหญ่นี้ไปได้เสียที
ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun