ตลาดหุ้นเด้งทันที จีนก็คิด ‘ยาต้าน’ ได้ ของไทยก็ก้าวหน้าจ่อทดลอง-ใน ‘ลิง’

ความหวังเริ่มมา หลังบริษัทยาในสหรัฐฯประกาศผลการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในอาสาสมัครประสบผลดี ส่งผลหุ้นดีดขึ้นทันทีทั่วโลก ขณะที่ไทยผู้ติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ยังเป็นศูนย์ไม่ลง ล่าสุดพบเพิ่มอีก 2 รายในนราธิวาส ติดจากคนในครอบครัวที่ป่วยก่อนหน้า แต่ยอดตายยังเท่าเดิม ด้านองค์การเภสัชกรรมให้ความมั่นใจสำรองยา 7 ยาสำคัญในการรักษาโรคโควิด-19 มากเพียงพอ พร้อมเดินหน้าผลิตยาเอง คาดเริ่มได้ปี 64 ส่วนวัคซีนที่จุฬาฯทำร่วมกับ สธ.-วช. เตรียมทดสอบในลิงได้สัปดาห์หน้า

แม้ปัจจุบันไทยยังพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรง (โควิด-19) อย่างต่อเนื่อง แต่พบในจำนวนที่น้อยเป็นเลขตัวเดียว และไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่มมาตลอดสัปดาห์ ขณะเดียวกันก็มีความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสก่อโรคโควิด-19 ทั้งจากในต่างประเทศและในไทยออกมาให้ใจชื้น

ป่วยเพิ่ม 2 รายในนราธิวาส

ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 19 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย ว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย ทำให้ยอดสะสม 3,033 ราย หายป่วยสะสม 2,857 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 56 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย มาจาก จ.นราธิวาส เชื่อมโยงกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นพ่อที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก โดยรายแรกเป็นหญิงไทย อายุ 36 ปี เป็นลูกสาวและอีกรายเป็นชายไทย อายุ 42 ปี เป็นลูกเขย ที่ไปเฝ้าไข้พ่อ ซึ่งป่วยเป็นโควิด-19 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. มีการตรวจหาเชื้อครั้งแรกไม่พบเชื้อ และตรวจซ้ำวันที่ 14 พ.ค. พบว่าติดเชื้อโควิด-19 จากการสอบประวัติอาศัยอยู่ในบ้านกันแค่ 2 คน ไม่มีผู้สัมผัสใกล้ชิดรายอื่น

...

คนขอตรวจเชื้อเพิ่มขึ้น

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 จนถึงวันที่ 18 พ.ค. จำนวน 3,031 ราย มาจากการขอเข้าไปตรวจเอง 1,585 ราย หรือร้อยละ 52 รองลงมาคือ ติดตามผู้สัมผัส 1,186 ราย หรือร้อยละ 39 จะเห็นว่าหลังจากเราปรับเกณฑ์การเข้าตรวจเชื้อให้ง่ายขึ้น ทำให้มีผู้เดินทางมาตรวจมากขึ้น เพราะมีทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่สามารถตรวจได้มีกว่า 100 แห่ง หากใครมีอาการสงสัยเข้าไปตรวจได้ฟรี

ส่องฝรั่งเศสติดเชื้อพุ่งหลังเปิดเรียน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อ 4,891,330 เสียชีวิต 320,134 ราย ส่วนข่าวที่น่าสนใจจากต่างประเทศคือที่ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังมีการคลายล็อกให้เปิดสถานศึกษา ทำให้เด็ก 1 ใน 3 มาเรียน พบว่าในสัปดาห์เดียวมีการติดเชื้อ 70 ราย แต่ยังไม่มีการระบุแน่ชัดว่าเป็นนักเรียนหรือครู ดังนั้น เราต้องศึกษาและเรียนรู้จากประเทศอื่นๆเพื่อปรับใช้ ส่วนการเดินทางกลับประเทศไทยของคนไทยที่อยู่ต่างประเทศนั้นวันที่ 19 พ.ค. จะมีคนไทยกลับจากเนเธอร์แลนด์ 34 ราย ฝรั่งเศส 40 ราย ญี่ปุ่น 61 ราย จีน 33 ราย สหรัฐอเมริกา 216 ราย และวันที่ 20 พ.ค. รัสเซีย 78 ราย อาร์เจนตินา อุรุกวัย บราซิล ซึ่งเป็นนักเรียน นักศึกษา 58 ราย อินเดีย 219 ราย ชิลี 7 ราย

สำรอง “ยาฟาวิพิราเวียร์” 4 แสนเม็ด

ต่อมาที่กระทรวงสาธารณสุข ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า สำหรับการจัดหายารักษาโรคโควิด-19 นั้น มียาที่ใช้ร่วมกัน 7 ตัว โดย อภ.ผลิตเอง 5 รายการ ประกอบด้วย 1.ยาคลอโรควิน รักษาโรคมาลาเรีย สำรองไว้ 1.8 ล้านเม็ด 2.ยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสม โลพินาเวียร์ และริโทรนาเวียร์ (Lopinavir/ Ritonavir) สำรองไว้ 30.6 ล้านเม็ด 3.ยาต้านไวรัสเอดส์ดารุนาเวียร์ (Darunavir) สำรองไว้ 1.9 ล้านเม็ด 4.ยาต้านไวรัสเอดส์ริโทรนาเวียร์ (Ritonavir) สำรองไว้ 1.9 ล้านเม็ด 5.ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยาปฏิชีวนะใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย สำรองไว้ 3.4 ล้านเม็ด

ส่วนยาอีก 2 รายการคือ ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน ได้จัดซื้อจากผู้ผลิตในประเทศแล้ว 1.09 ล้านเม็ด และยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาสำคัญตัวหนึ่งที่ใช้ในการรักษา อภ.และกรมควบคุมโรค ได้มีการจัดซื้อแล้ว 187,000 เม็ด กระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆแล้วประมาณ 100,000 เม็ด ยังคงมียาสำรองในคลังของ อภ.ประมาณ 87,000 เม็ด และจะส่งมอบเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคมเพื่อสำรองไว้อีก 303,860 เม็ด ซึ่งจะทำให้มียาฟาวิพิราเวียร์ใช้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

ผลิตยาเองไว้ใช้ระยะยาว

ภญ.นันทกาญจน์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เพื่อความยั่งยืนทางยา องค์การเภสัชกรรมยังได้มีการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ เข้ามาใน ประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตยาขนาด 200 มิลลิกรัม ได้ภายในเดือน ม.ค.2564 จากนั้นประมาณปลายปี 64 จะรวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นขึ้นทะเบียน และประมาณต้นปี 65 คงได้ผลิตออกมาเพื่อจำหน่ายได้ ซึ่งจะทำให้มียาสำรองไว้ใช้ในอนาคต เพราะคาดว่าโรคโควิด-19 คงอยู่กับเราไปอีกนาน

วางแผนผลิต-จัดหาวัคซีนโควิด-19

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภญ.นันทกาญจน์กล่าวว่า ทั่วโลกมีการพัฒนาวัคซีนกันตลอด เช่นเดียวกับไทยที่มีหลายหน่วยงานร่วมกันพัฒนาทั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่กำลังพัฒนาในสัตว์ทดลอง ส่วนขององค์การเภสัชกรรมมีการวางแผนหลายแนวทาง ตั้งแต่ไปซื้อวัคซีนจากประเทศที่สามารถผลิตได้มาบรรจุในไทย หรืออาจไปขอซื้อสูตรมาผสมเองในประเทศ เป็นต้น

...

ไทยเตรียมทดสอบวัคซีนในลิง

ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่าขณะนี้มีข่าวดีสำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ล่าสุดงานวิจัย “วัคซีนชนิด mRNA” ที่ศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ อว.มอบให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รับผิดชอบ ประสบความสำเร็จในระดับดีหลังทดสอบในหนูทดลองแล้ว โดยผลการคัดกรองเบื้องต้นที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าให้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า Neutralizing antibody ในระดับที่สูงถึง 1: 3000 ทั้งนี้ กำลังเตรียมจะทดสอบในลิงในประเทศไทยสัปดาห์หน้าต่อไป

มั่นใจไทยมีวัคซีนใช้เพียงพอ

รมว.การอุดมศึกษาฯกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ได้มีการประสานเตรียมการผลิตวัคซีนชุดแรกกับโรงงานผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เพื่อนำมาใช้ทดสอบในคนตามขั้นตอนมาตรฐานสากล รวมทั้งได้ประสานกับบริษัท Bionet Asia ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของไทย เตรียมการในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบ ซึ่งเชื่อว่าจะสำเร็จจนถึงขั้นสุดท้าย คือ ประเทศไทย สามารถผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยี mRNA ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่มากที่สุดในประเทศไทยและนำมาใช้ช่วยคนไทยในการป้องกันโควิด-19 ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เมื่อมีวัคซีนโรคโควิด-19 ใช้แล้ว ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆที่มีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอสำหรับคนไทย

5 ชาติทดลองในคนแล้ว

นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนได้สั่งการให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ระดมกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนให้มีการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนใช้งานได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอโดยใช้ 3 แนวทางควบคู่กันไป คือ การสนับสนุนการวิจัยในประเทศ การร่วมมือกับเครือข่ายนานาชาติ และการทำงานจตุรภาคี กับผู้ผลิต ภาควิชาการ ภาครัฐ และเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งได้ให้ทุนวิจัยเรื่องวัคซีนโควิด-19 แล้ว 5 โครงการในหลายสถาบัน ซึ่งหลายแห่งมีความก้าวหน้าจนถึงขั้นทดสอบในสัตว์ทดลองแล้ว อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คือการบริหารจัดการให้แน่ใจว่าจะมีวัคซีนใช้งานได้อย่างรวดเร็วและจำนวนเพียงพอ ซึ่งต้องเตรียมการทั้งด้านการวิจัยและพัฒนาและการผลิตควบคู่กันไป รวมทั้งการวางแผนถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่บริษัทผลิตวัคซีนในประเทศไทย ขณะที่ปัจจุบัน มีวัคซีนต้นแบบที่เข้าทดสอบในสัตว์ทดลองมากกว่า 150 ชนิดและอย่างน้อยมี 10 ชนิดที่เริ่มทดสอบในอาสาสมัครแล้วอย่างน้อย 5 ประเทศ คือ จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และแคนาดา

...

ทดสอบวัคซีนขั้นแรกได้ผล

วันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าการคิดค้นวัคซีนยับยั้งไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่มีหลายประเทศทั่วโลกกำลังทำอยู่ โดยที่สหรัฐอเมริกา บริษัทเวชภัณฑ์โมเดอร์นาร่วมกับสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อของสหรัฐฯ เผยรายละเอียดการทดสอบวัคซีนรุ่นใหม่เรียกว่า mRNA-1273 กับอาสาสมัคร 8 คนแรก จากทั้งหมด 45 คน ผลปรากฏว่า วัคซีนรุ่นทดลองที่ผลิตจากรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลให้ร่างกายของผู้ทดลอง ผลิตภูมิคุ้มกันต้านไวรัสที่มีคุณสมบัติคล้ายกับภูมิคุ้มกันในคนไข้ที่หายป่วยจากเชื้อโควิด-19 ขึ้นมาได้สำเร็จ

ลุยทดสอบต่อเดือน ก.ค.

นายทาล แซกส์ หัวหน้าทีมวิจัยของบริษัทโมเดอร์นา เผยว่า การทดสอบวัคซีนในหนูก่อนหน้านี้ แสดงผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจเช่นกัน สามารถยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสในปอดได้ กระนั้นขอย้ำว่า การทดสอบในมนุษย์ครั้งนี้ เป็นเพียงการฉีดวัคซีนเพื่อดูความปลอดภัยและผลกระทบข้างเคียงเท่านั้น โดยฉีดให้ในปริมาณน้อยหรือปานกลาง เพราะหากฉีดในปริมาณมากจะมีผลข้างเคียงตามมา แต่ไม่ขอเผยรายละเอียดเพิ่มเติม โดยผู้ที่รับวัคซีนในปริมาณน้อย ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านไวรัสในระดับเดียวกับคนไข้ที่หายป่วย ขณะที่ผู้รับวัคซีนในปริมาณปานกลาง ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านไวรัสในระดับที่มากกว่าคนไข้หายป่วย ส่วนการทดสอบเพื่อดูประสิทธิภาพที่แท้จริงของวัคซีน mRNA-1273 จะดำเนินการต่อไปในเดือน ก.ค.นี้

ลองใช้ภูมิคุ้มกันซาร์สสู้โควิด-19

ขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างการเปิดเผยของนักวิจัยในสวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐฯ ว่าจากการนำตัวอย่างภูมิคุ้มกันของผู้ที่หายป่วยจากโรคซาร์สเมื่อปี 2546 มาทดสอบใช้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลปรากฏว่า ชุดภูมิคุ้มกันตัวอย่าง 8 ประเภทจากทั้งหมด 25 ประเภท มีประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสและเซลล์ของร่างกายที่ติดไวรัส ในจำนวนนี้มีภูมิคุ้มกันตัวอย่าง 1 ประเภท ทีมวิจัยให้ชื่อรหัสว่า S309 สามารถยับยั้งไวรัสก่อโรคโควิด-19 อย่างได้ผล และเมื่อนำ S309 ไปใช้ร่วมกับภูมิคุ้มกันตัวอย่างชนิดอื่นๆ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันตัวอย่าง สามารถเข้าเล่นงานไวรัสโคโรนา 2019 ประเภทต่างๆที่มีเปลือกโปรตีนแตกต่างกันออกไปได้โดยตรง ซึ่งถือเป็นการลดโอกาสที่ไวรัสจะกลายพันธุ์ อนึ่ง ทีมวิจัยระบุว่า การวิจัยครั้งนี้มีแนวคิดจากการที่โรคซาร์สและโควิด-19 เริ่มมาจากไวรัสโคโรนาเหมือนกัน และแม้จะเป็นการทดลองเพียงในห้องแล็บ ยังไม่ได้ทดสอบกับคน แต่เชื่อว่าจะพัฒนาต่อยอดได้

...

ทรัมป์อวยยาต้านมาลาเรีย

นอกจากนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนยาต้านโรคมาลาเรีย ไฮดรอกซีคลอโรควิน อีกครั้ง โดยระบุว่า ตัวเองทานยาตัวนี้ทุกวัน ติดต่อกันมาสัปดาห์ครึ่งแล้ว และสุขภาพแข็งแรงดี แม้จะมีเจ้าหน้าที่ในทำเนียบขาว ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า องค์การอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ (FDA) รวมถึง ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เคยเตือนว่าการใช้ยาดังกล่าวมีผล ข้างเคียงต่อหัวใจ และใช้ไม่ได้ผลกับโรคโควิด-19

จีนโชว์ยาต้านจากภูมิคุ้มกัน

ส่วนนายซันนี เซียะ ผู้อำนวยการศูนย์คิดค้นทางพันธุกรรมศาสตร์ขั้นสูง มหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีน เปิดเผยว่า ทีมงานอยู่ระหว่างคิดค้นยาต้านไวรัสโควิด-19 ชนิดใหม่ ที่ยังไม่ได้กำหนดชื่อชัดเจน โดยเป็นยาที่ผลิตจากสารภูมิคุ้มกันของคนไข้ที่หายป่วยจากไวรัสโควิด-19 จำนวน 60 คน ซึ่งการทดสอบใช้ยากับหนูที่ติดเชื้อไวรัสมานาน 5 วัน ได้ส่งผลให้จำนวนไวรัสลดลงถึง 2,500 เท่า พร้อมเชื่อว่ายาดังกล่าวจะทำให้ผู้ติดเชื้อฟื้นตัวเร็วกว่าปกติ ทั้งเกิดภูมิคุ้มกันป้องกันไวรัสระยะสั้น ทั้งนี้ ทีมวิจัยจีนเผยว่า จะทดสอบขั้นต่อไปในมนุษย์ที่ออสเตรเลีย และเชื่อว่าจะผลิตสำเร็จพร้อมใช้งานในช่วงสิ้นปีนี้

ตลาดหุ้นตอบรับข่าววัคซีน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จากข่าวความคืบหน้าวัคซีนและยาต้านไวรัสครั้งนี้ ได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นในเอเชียปรับตัวบวก โดยตลาดออสเตรเลียและฮ่องกงปรับตัวบวก 2 เปอร์เซ็นต์ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้บวก 2.3 เปอร์เซ็นต์ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นบวก 2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งเอสแอนด์พี 500 ดาวน์โจนส์และแนสแด็ก ปรับตัวบวกที่ 2.44-3.85 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงข่าวความคืบหน้าการผลิตวัคซีน mRNA-1273 ได้ส่งผลให้หุ้นบริษัทโมเดอร์นาของสหรัฐฯที่ยังเป็นผู้ผลิตยาต้านมาลาเรียคลอโรควินรายใหญ่ด้วย พุ่งขึ้นไป 20 เปอร์เซ็นต์

หุ้นไทยดีดรับข่าวดีด้วย

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยตลอดวันที่ 19 พ.ค.ว่า หลังจากมีข่าวความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ออกมา นักลงทุนเข้าไล่ซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน ดันดัชนีปรับตัวขึ้นแรงตลอดทั้งวัน ก่อนมาปิดทำการที่ระดับ 1,309.96 จุด บวก 23.42 จุด มีมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 78,863.55 ล้านบาท กองทุนในประเทศยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิหนักสุด 4,411.05 ล้านบาท โดยข่าวดีที่เป็นปัจจัยหนุนให้นักลงทุนกลับเข้ามาไล่ซื้อหุ้น เป็นเรื่องความคืบหน้าของวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น ดันราคาหุ้นกลุ่มพลังงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดหวังว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีการประชุมวันที่ 20 พ.ค. จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ลงสู่ระดับร้อยละ 0.50 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ถือเป็นปัจจัยหนุนการลงทุนในตลาดหุ้น

อุดรฯส่งตัวผู้ถูกกัก 102 คน

สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วประเทศ ที่ค่ายฮีโร่ อาคารหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.อุดรธานี ร่วมพิธีปล่อยตัวชาวอุดรธานี จำนวน 102 คน ที่เดินทางกลับจาก จ.ภูเก็ต หลังเข้าสู่การกักตัวครบ 14 วัน พร้อมมอบถุงยังชีพจากทางเหล่ากาชาดจังหวัด และหนังสือรับรองว่าบุคคลดังกล่าวได้เฝ้าระวังและสังเกตอาการครบตามระยะเวลา ที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนด บุคคลดังกล่าวสามารถประกอบอาชีพ ร่วมกิจกรรม หรือปฏิบัติภารกิจได้ตามปกติ สำหรับชาว จ.อุดรธานี เดินทางกลับมาจาก จ.ภูเก็ต มีทั้งสิ้น 470 คน ครบกำหนดกักตัว 207 คน ยังเหลือผู้ต้องกักตัวตามศูนย์ต่างๆ 263 คน

ดับบนรถไฟไม่ติดโควิด–19

ที่ จ.พิจิตร นพ.ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร กล่าวถึงกรณีนายวุฒิชัย ขันตามาตร อายุ 40 ปี คน กทม.โดยสารมากับรถไฟขบวน 201 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก มีอาการไข้และหมดสติขณะเดินทางมาถึงสถานีรถไฟบางมูลนาก อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร เหตุเกิดเวลา 16.00 น. วันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รีบนำตัวส่ง รพ.บางมูลนาก แพทย์ตรวจพบมีไข้สูง 39.3 องศาเซลเซียส ช่วยเหลือรักษาตามหลักวิชาการประมาณ 30 นาที แต่ชายคนดังกล่าวเสียชีวิตในเวลาต่อมา จากนั้นโรงพยาบาลเก็บสารคัดหลั่งไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามแนวทางปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข โดยส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต 3 นครสวรรค์ ผลเป็นลบไม่ปรากฏเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย

สตูลสกัดการแพร่ระบาด

ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางจังหวัดสตูล นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผวจ.สตูล เป็นประธานการประชุมศูนย์บัญชาการป้องกันสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จ.สตูล ครั้งที่ 9 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมโดยพร้อมเพรียง ส่วนการเตรียมความพร้อมการปฏิบัติศาสนกิจ เนื่องในวันตรุษอิดิ้ลฟิตรีของชาวไทยมุสลิมสามารถผ่อนปรนให้ปฏิบัติได้ตามประกาศจุฬาราชมนตรี สำหรับมัสยิดที่มีความพร้อม โดยเน้นย้ำการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และให้ปฏิบัติตามประกาศจุฬาราชมนตรีโดยเคร่งครัด

คนไทยจากยุโรปมีไข้ 2 คน

ส่วนบรรยากาศที่อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตลอดทั้งวันที่ 19 พ.ค. กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานนำคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังตกค้างอยู่ในประเทศต่างๆ เดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่เช้าจดค่ำ เริ่มจากเวลา 09.00 น. สายการบินเอแอลเอ็มแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ KL875 เที่ยวบินพิเศษจากกรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ นำคนไทย 34 คน เดินทางกลับประเทศ พบคนไทยที่เดินทางกลับมามีไข้ 1 คน นำส่งโรงพยาบาลตรวจหาเชื้อ ส่วนคนที่เหลือถูกพาไปกักตัวที่โรงแรมในพัทยา จ.ชลบุรี จากนั้นเวลา 12.30 น. กลุ่มคนไทยที่ตกค้างในประเทศฝรั่งเศส จำนวน 40 คน ได้อาศัยเครื่องบินขนส่งสินค้า สายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG933 เข้าประเทศ ในจำนวนนี้พบมีไข้ 1 คน ส่วนคนที่เหลือถูกเจ้าหน้าที่พาไปกักตัวที่โรงแรมบางกอกพาเลส ย่านมักกะสัน กทม.

2 คนไทยจากจีนมีไข้มาด้วย

จากนั้นเวลา 15.01 น. สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ได้ส่งคนไทยที่ทำงานและเรียนหนังสือในประเทศญี่ปุ่นกลับประเทศไทย ด้วยสายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ NH847 อีก 61 คน ไม่พบว่าใครมีไข้ นำส่งกักตัวที่โรงแรมจอมเทียนฮอลิเดย์อิน จ.ชลบุรี และโรงแรมเมอเวนพิค ถนนวิทยุ ต่อด้วยเวลา 17.10 น. คนไทยที่ตกค้างในนคร เซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 32 คนเดินทางกลับด้วยสายการบินสปริงแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 9C-8579 พบผู้โดยสารมีไข้สูง 2 คน นำส่งโรงพยาบาลทันที ส่วนคนอื่นๆถูกพาไปกักตัวเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่โรงแรมอิลิแกนซ์ เขตประเวศ โรงแรมเมอเวนพิค ถนนวิทยุ โรงแรมคิวว์ สุขุมวิท 79 และโรงแรมดิไอดอล เรสซิเดนท์ จ.ปทุมธานี

จากนั้นในช่วงค่ำ กลุ่มคนไทยที่ตกค้างในสหรัฐอเมริกาและตกค้างในเกาหลีใต้ อีกจำนวน 225 คน ได้เดินทางกลับมาด้วยสายการบินโคเรียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ KE651 เข้าสู่กระบวนการคัดกรอง และกักตัวที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ โรงแรมภัทรา ย่านพระราม 9 โรงแรมเมอเวนพิค ถนนวิทยุ โรงแรมคิวว์ สุขุมวิท 79 และโรงแรมดิไอดอล เรสซิเดนท์ จ.ปทุมธานี

“อินเดีย-บราซิล” อมโรคจนน่าห่วง

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ยอดผู้ติดเชื้อรวมทะยานเป็น 4.91 ล้านคน เสียชีวิตรวมกว่า 320,000 คน โดยอันดับแรกของโลกได้แก่สหรัฐอเมริกา ติดเชื้อ 1.55 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 92,000 คน ตามด้วยรัสเซีย ติดเชื้อรวมกว่า 300,000 คน เสียชีวิตกว่า 2,800 คน ส่วนที่อินเดียจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศได้พุ่งทะลุ 100,000 คน และเสียชีวิตกว่า 3,200 คน ขณะที่บราซิลกลายเป็นประเทศที่พบการติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก ยอดผู้ติดเชื้อสะสมมีกว่า 255,300 คน เสียชีวิตรวมกว่า 16,800 คน โดยเป็นการเสียชีวิตรายใหม่ 674 คน ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตรายใหม่ของรัฐบาลบราซิล มิใช่จำนวนผู้เสียชีวิตจริง แต่เป็นการแถลงตามข้อมูลที่ทราบเท่านั้น ขณะที่ก่อนหน้านี้มีรายงานจากเมืองเซาเปาโลว่า ระบบสาธารณสุขใกล้ถึงจุดเกินจะรับมือไหวแล้ว ตามด้วยนครริโอ เด จาเนโร เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สื่อผู้ดีแฉยอดตายสูงกว่าที่คิด

ที่อังกฤษ สำนักข่าวรอยเตอร์รวบรวมข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ โดยพบว่า ยอดผู้เสียชีวิตจริงในสหราชอาณาจักร พุ่งสูงเกือบ 43,000 คน ขณะที่ยอดรวมของรัฐบาลอังกฤษ นับเพียงผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาล อยู่ที่ 34,796 คน ขณะที่รัสเซีย นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ลงนามคำสั่งอนุญาตให้นายมิคาอิล มิชุสติน นายกรัฐมนตรีรัสเซีย วัย 54 ปี กลับมาทำงานได้ตามปกติแล้ว หลังพักฟื้นจากการติดเชื้อโควิด-19 มาตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศสและเยอรมนีมีแผนตั้งกองทุนช่วยเหลือประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ฟื้นฟูจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นมูลค่า 500,000 ล้านยูโร หรือกว่า 17.4 ล้านล้านบาท

จีนจ้างเกษตรกรเลิกเลี้ยงสัตว์ป่า

ส่วนที่จีนยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 6 ราย โดย 3 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ ส่งให้ยอดสะสมอยู่ที่ 82,960 ราย เสียชีวิตสะสม 4,634 ราย นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังเสนอจะให้เงินสดเกษตรกรหลายร้อยราย แลกกับการเลิกเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเพื่อใช้เป็นอาหาร หลังตลาดค้าสัตว์ป่าเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ถูกระบุ เป็นต้นตอเชื้อไวรัสมรณะ ขณะที่ฮ่องกงมีผู้ติดเชื้อสะสม 1,056 ราย เสียชีวิตสะสม 4 ราย และรัฐบาล สั่งขยายเวลาห้ามฝูงชนออกมาชุมนุม ไปจนถึง 4 มิ.ย. ทำให้ชาวฮ่องกงไม่สามารถชุมนุมรำลึกเหตุกวาดล้างผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี

สิงคโปร์ขอโทษแจ้งเตือนผิด

วันเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์แถลงขอโทษประชาชน 357 คน ที่หายป่วยจากโควิด-19 หลังทางการผิดพลาดไปบอกว่าพวกเขาติดเชื้อรอบสอง ทั้งที่ไม่เป็นความจริง โดยสิงคโปร์พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 451 ราย รวมเป็น 28,794 ราย เสียชีวิต 22 ราย ส่วนเมียนมา พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 8 ราย จากชาวเมียนมา 120 คน ที่เดินทางกลับจาก มาเลเซียและถูกกักตัวอยู่ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 191 ราย เสียชีวิต 6 ราย ขณะที่นิวซีแลนด์ ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แต่รัฐบาลยังไม่ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ทั้งหมด มีแค่อนุญาตให้ร้านค้า ร้านอาหารและร้านกาแฟเปิดได้ภายใต้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด ต่างจากออสเตรเลียพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 8 ราย รวมติดเชื้อสะสม 7,068 ราย และผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมสะสม 100 ราย แต่ทางการยังยืนยันที่จะเปิดโรงเรียนเต็มรูปแบบ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ รัฐที่มีประชากรมากที่สุดในสัปดาห์หน้า หลังอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง