เมื่อโลกไม่ใช่ใบเดิมอีกต่อไป... แต่เป็นโลกที่ทุกคนต้องใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ เพราะ ณ วันนี้ เป็นโลกของโควิด-19 ที่มีวิวัฒนาการและกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง

การ “ถอดรหัสพันธุกรรมและการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19” จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุด “การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเพื่อให้เกิดความหลากหลายตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการจนมีมนุษย์หลายเชื้อชาติที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างกัน แต่เนื่องจากไวรัสมีจำนวนตัวอย่างพันธุกรรมที่น้อยกว่ามนุษย์หลายพันล้านตัวอย่าง และมีอายุสั้นกว่ามาก ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย”

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยลักษณะทางพันธุกรรมและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทย จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงงานวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่เพื่อหาวิธีการควบคุม

...

โดยงานวิจัยการถอดรหัสพันธุกรรมฯ ได้มีการเก็บตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งพื้นที่กักกันโรค ตั้งแต่การระบาดในระลอกแรกและระลอกใหม่ พบว่าโควิด-19 มีหลายสายพันธุ์ และเป็นภัยพิบัติที่ค่อนข้างจะรุนแรงในรอบ 100 ปี

“สิ่งที่เราติดตามและกลัวมากคือการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม และกลายพันธุ์เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ เชื่อว่าเริ่มตั้งแต่ ต.ค.-พ.ย.2563 แล้ว แต่อังกฤษเริ่มสังเกตพบเมื่อ ธ.ค.2563 โดยจากการศึกษาวิจัยทางพันธุกรรมและระบาดวิทยาเชิงโมเลกุลของเชื้อโควิด-19 พบการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 501 ซึ่งทำให้ไวรัสจับกับผิวเซลล์ของมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้แพร่กระจายและระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ระบาดไปทั่วโลกก่อนหน้านั้น แต่สายพันธุ์อังกฤษไม่มีผลต่อระบบคุ้มกันหรือภูมิต้านทาน เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษจึงได้กลายเป็น Variants of Concern (VOC) วาระสำคัญของวงการแพทย์ทั่วโลกที่ต้องให้การพิจารณาในทันที” ศ.นพ.ยง ระบุ

ทั้งนี้ การวิจัยในช่วงต้น พบการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ที่เป็นวาระสำคัญของวงการแพทย์ทั่วโลกอีก 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้เมื่อเดือน ต.ค. 2563 ชื่อสายพันธุ์ B.1.351 (GH, G) ซึ่งพบว่าไวรัสจับเซลล์ได้ดีขึ้น ติดเชื้อง่ายขึ้น และอาจหนีภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนเนื่องจากพัฒนาโดยใช้ไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม อีกสายพันธุ์พบที่บราซิลเมื่อเดือน ธ.ค.2563 ชื่อสายพันธุ์ P.1 (GR) ที่พบว่าระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จับไวรัสสายพันธุ์นี้ได้น้อยลง

“ต่อมาได้เก็บรวบรวมตัวอย่าง RNA ในช่วงเดือน ธ.ค.2563 ถึง มี.ค.2564 และได้ถอดรหัสทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ Partial genome หรือรหัสพันธุกรรมบางส่วนเสร็จสิ้นแล้วจำนวนทั้งสิ้น 106 ตัวอย่าง และ Complete genome หรือรหัสพันธุกรรมแบบสมบูรณ์ เสร็จสิ้นแล้วจำนวน 6 ตัวอย่าง เบื้องต้นพบว่าโควิด–19 ทั่วโลกมี 8 สายพันธุ์หลัก คือ S, L, V, G, GH, GR, GV และ GRY ขณะที่ประเทศไทยมี 6 สายพันธุ์ คือ S, G, GH, GR, GV และ GRY โดยพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมไปทีละเล็กทีละน้อย และเราก็รู้อีกว่าไวรัสก่อโควิด-19 คงไม่หมดไปจากโลกนี้อย่างแน่นอน เพราะขณะนี้มีผู้ป่วยจากทุกประเทศทั่วโลกกว่า 100 ล้านคน เมื่อไม่หมดไป การจะทำให้โรคนี้สงบลงได้ คือ ให้ทุกคนมีภูมิต้านทาน แล้วเมื่อติดเชื้อต้องไม่ก่อโรค หรือก่อโรคให้น้อยที่สุด” ศ.นพ.ยง กล่าว

...

ขณะที่ วช. หน่วยงานวิจัยหลักของประเทศไทย นอกจากสนับสนุนการ “ถอนรหัสพันธุกรรมและการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19” ยังได้สนับสนุนงานวิจัยอื่นที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่เกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต

“วช.ได้สนับสนุนการวิจัยเร่งด่วนตามความ ต้องการของประเทศ ตามความต้องการของผู้ใช้งานทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยให้ทุนวิจัยเร่งด่วนเพื่อศึกษาทำความเข้าใจทางด้านพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ โดยใช้ข้อมูล Bigdata เป็นต้น พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย ยารักษาโรค และวัคซีนในการป้องกันโดยร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดในการขยายผลและใช้ต่อคือ เอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนต้นแบบสำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนรูปแบบใหม่ที่สามารถผลิตได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนที่นำมาใช้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ง่าย จึงเป็นเทคโนโลยีที่ตอบรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อกลายพันธุ์ และรองรับการพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีการต่อยอดโดยขณะนี้ได้เริ่มทำการทดสอบวัคซีนที่ผลิตโดยคนไทย “ChulaCov19” ในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยทดลองฉีดให้อาสาสมัคร จำนวน 4 ราย เบื้องต้นทั้งหมดไม่พบผลข้างเคียง และการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 “NDV-HXP-S” ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated) โดย NDV-HXP-S เป็นวัคซีนโควิด-19 ตัวแรกของไทยที่ได้รับการอนุมัติจาก อย. ให้เริ่มการทดสอบทางคลินิกในมนุษย์ได้ โดยเริ่มการทดสอบเฟส 1 ในอาสาสมัครรายแรก ซึ่งองค์การเภสัชกรรมเคยใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโดยนักวิจัยไทยจะถูกนำไปใช้และขยายผลต่อเพื่อให้ประเทศมีวัคซีนภายในประเทศไม่ต้องพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศได้ในอนาคต” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าว

...

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง

และในปีงบประมาณ 2565 วช.ได้จัดทำกรอบการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมสำหรับรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 และโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตพร้อมทั้งฟื้นฟูสังคม และเศรษฐกิจให้กลับมาสู่สภาวะปกติได้ในเวลาอันรวดเร็ว

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่า เมื่อโลกไม่ใช่ใบเดิม ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ มนุษย์ต้อง “อยู่เป็น” และต้องเรียนรู้ที่จะเอาชนะโรคร้ายที่คาดไม่ถึง ด้วยการ ต้องสร้าง “ภูมิคุ้มกันทุกด้าน” ในตัวเรา

และแน่นอนงานวิจัยจะเป็นกุญแจสำคัญในการคลี่คลายไขรหัสพันธุกรรมของโควิดเพื่อแก้วิกฤติที่เกิดขึ้น เพื่อทุกคนจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่อย่างปกติได้ในที่สุด.

...

ทีมข่าวอุดมศึกษา