• เด็กติดเชื้อโควิด-19 พ่อแม่ทำอย่างไร หมอไม่แนะนำให้ส่งตัวไป รพ.สนาม 
  • โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ เด็กติดเชื้อมากขึ้น ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีแสดงอาการ และโอกาสแพร่เชื้อน้อยกว่าผู้ใหญ่
  • พ่อแม่ติดโควิด-19 เหลือลูกไว้ลำพังในบ้าน จะต้องปฏิบัติอย่างไร

จากการติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย จะพบว่ามียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้จะเป็นการติดเชื้อจากคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว ทำให้หลายครอบครัวที่ต้องแยกจากกันชั่วคราว ทั้งในกรณีที่เด็กติดเชื้อโควิด-19 ต้องบอกลาพ่อแม่ไปเข้ารับการรักษา และภาพของหนูน้อยที่ต้องอยู่ลำพัง เนื่องจากผู้ปกครองต้องไปรักษาตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย

แต่ตามหลักการแล้วนั้น เมื่อเด็กติดเชื้อโควิด-19 แล้วจะถูกแยกจากผู้ปกครองจนกว่าจะรักษาหายหรือไม่ วันนี้ J. Mashare ได้สอบถามไปยัง แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ ตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขากุมารเวชกรรม เปิดเผยถึงกรณีนี้ว่า มาตรการในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จะต้องแอดมิตนอนที่โรงพยาบาลเพื่อดูแลรักษาและแยกตัวไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น

...

โดยปกติแล้วเมื่อไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วผลตรวจเป็นบวก ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ สถานที่ที่ตรวจจะต้องประสานหาเตียง ให้กับผู้ป่วย แต่ถ้าไม่มีเตียงให้โทรติดต่อเองที่เบอร์สายด่วน ได้แก่ 1668 / 1669 หรือ 1330 เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อให้มารับไปแอดมิตที่โรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการและดูแลรักษา

สำหรับสาเหตุหลักๆ ที่เด็กติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อมาจากครอบครัว เช่น พ่อแม่ ผู้ดูแล ซึ่งในปัจจุบันอาจจะมีข้อจำกัด เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก เมื่อตรวจพบว่าผลเป็นบวกแล้ว อาจจะยังไม่ได้เตียงทันที ดังนั้นระหว่างที่รอเตียง การดูแลกันภายในบ้าน สามารถปฏิบัติดังนี้

1. งดการออกจากบ้าน ลดโอกาสการแพร่เชื้อ

2. แยกกันอยู่ภายในบ้าน กรณีเด็กติดเชื้อโควิด-19 แต่ผลตรวจของพ่อแม่เป็นลบ จะต้องแยกเด็กให้อยู่ในห้องต่างหาก พร้อมทั้งแยกของใช้ส่วนตัว ที่สำคัญคือเชื้อนี้จะอยู่ในน้ำลาย เวลารับประทานอาหารจะต้องแยก จาน ชาม ช้อนส้อม และหากเป็นไปได้ควรแยกการใช้ห้องน้ำ

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ควรจะต้องได้รับการดูแลจากผู้ใหญ่ ซึ่งในเด็กที่ยังไม่มีอาการ โอกาสที่เด็กจะแพร่เชื้อให้กับผู้ใหญ่มีน้อยมาก ดังนั้นผู้ใหญ่จึงสามารถให้การดูแลเด็กได้ โดยใส่หน้ากากอนามัยทั้ง 2 ฝ่าย และให้เด็กล้างมือบ่อยๆ การทำเช่นนี้เพื่อไม่ให้เด็กที่ถูกแยกรู้สึกว้าเหว่จนอาจมีผลกระทบด้านจิตใจต่อเด็กได้

3. งดการทำกิจกรรมร่วมกัน งดการสังสรรค์

4. เวลามีคนมาเยี่ยมที่บ้าน โดยเฉพาะเดินทางมาจากต่างจังหวัด ควรงดไปก่อน

5. วางแผนซื้อของใช้ที่จำเป็น ไม่ต้องออกไปบ่อยๆ

การดูแลเด็กติดเชื้อโควิด-19 ถูกส่งตัวไปรักษา


เมื่อทราบว่าเด็กติดเชื้อโควิด-19 จะต้องถูกรับตัวไปแยกไว้รักษาโรงพยาบาล และควรจะต้องมีคนเฝ้า ซึ่งผู้เฝ้าควรจะเป็นผู้ที่ไม่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิด-19 โดยควรจะเป็นผู้ไม่ติดเชื้อ มีร่างกายแข็งแรงดี ขณะเฝ้าจะต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือบ่อยๆ แยกของใช้ส่วนตัว ซึงทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้พิจารณาผู้เฝ้าตามความเหมาะสม

ทั้งนี้จากข้อมูลของประเทศไทย ในรอบ เม.ย. 2564 นี้ มีรายงานว่า 75% ของเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีอาการ จึงเป็นแค่แยกเด็กออกมาเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อ กรณีนี้เด็กสามารถอยู่ร่วมห้องกับผู้ปกครองที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ โดยเฉพาะถ้าผู้ปกครองไม่มีอาการเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ต้องลดโอกาสการแพร่เชื้อซึ่งกันและกัน โดยปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกันการแพร่เชื้อตามที่โรงพยาบาลกำหนดอย่างเคร่งครัด

แต่ในทางกลับกัน หากพ่อแม่ติดเชื้อโควิด-19 แต่เด็กไม่ติดเชื้อ กรณีนี้ พ่อแม่ต้องแยกไปรักษาโรงพยาบาล เด็กต้องอยู่ตามลำพัง กรณีนี้จะต้องขอความช่วยเหลือ เพราะเด็กจะต้องมีผู้ดูแล ไม่เช่นนั้นเด็กจะรู้สึกถูกทอดทิ้ง และอาจได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจต่อไป เบื้องต้นอาจติดต่อไปทางญาติคนอื่นๆ หากญาติไม่สามารถดูแลได้ เบื้องต้นจะต้องประสานกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อขอคำแนะนำ หรือ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในจังหวัด นั้นๆ เพื่อช่วยดูแลเด็กในกรณีเด็กไม่ติดเชื้อโควิด-19

...



"เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ควรถูกส่งไปอยู่โรงพยาบาลสนาม เด็กควรได้รับการดูแลในโรงพยาบาล อยู่ในห้องกับผู้ดูแล เนื่องจากโรงพยาบาลสนามมีอุปกรณ์ไม่พร้อม และเด็กอาจจะร้องกระจองอแง การดูแลเด็กอาจจะต้องอาศัยความเป็นส่วนตัว

ในกรณีที่โรงพยาบาลไม่มีเตียง อาจจะอยู่เป็น Hospitel ก็ยังพอไหว หรือโรงพยาบาลอาจจะจัดห้องไว้ส่วนหนึ่งสำหรับดูแลเด็กที่ไม่มีอาการ กักตัวจนครบกำหนด"

แพทย์หญิงจุไร กล่าวอีกว่า ขณะนี้เรามีเด็กป่วยโควิด-19 มากกว่ารอบที่ผ่านมา เพราะขณะนี้การแพร่ระบาดไปในวงของครอบครัว ส่วนใหญ่เด็กจะติดจากผู้ใหญ่ คนใกล้ชิดในบ้าน ในขณะนี้รายงานการติดเชื้อที่สงสัยการแพร่จากเด็กสู่เด็กมีน้อยมาก แต่ถ้าโรงเรียนเริ่มเปืดเทอมคงต้องติดตามดูข้อมูลกันอีกครั้งหนึ่ง

...

ส่วนใหญ่คลัสเตอร์ในโรงเรียนมาจากผู้ใหญ่สู่เด็ก ซึ่งข้อดีของการติดเชื้อในเด็กคือ 3 ใน 4 เด็กจะไม่มีอาการ และ 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง แต่ที่ต้องระวังคือ เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี เพราะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีอาการรุนแรง อาจเป็นปอดบวมขึ้นมาได้

ทำไม เด็กแพร่เชื้อโควิด-19 น้อยกว่าผู้ใหญ่


สาเหตุที่เด็กแพร่เชื้อได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากตัวเชื้อในเด็กมีน้อย เด็กไม่ค่อยไอ ต่างจากผู้ใหญ่ที่มักจะไอ และผู้ใหญ่จะมีไวรัสอยู่ในระบบทางเดินหายใจค่อนข้างมาก และจากการศึกษาในหลายประเทศพบตรงกันว่า เด็กจะมีอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่ แพร่เชื้อน้อย แต่ไม่ใช่ว่าจะเด็กไม่แพร่เชื้อเลย เพราะมีรายงานว่า มีผู้ดูแลติดเชื้อมาจากเด็ก ซึ่งเป็นเด็กที่มีอาการค่อนข้างเยอะ

เตรียมพร้อมเปิดเทอม ติดอาวุธป้องกันโควิด-19


หลังจากเลื่อนการเปิดเทอมไปในเดือนมิถุนายน 2564 ในสถานการณ์เช่นนี้ คิดว่าเหมาะสม เพราะเรายังอยู่ในช่วงสถานการณ์ขาขึ้น ถ้าเราทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติตามมาตรการที่ภาครัฐแนะนำ ภายใน 1 เดือนเราจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง 

...

เมื่อเปิดเทอมแล้วก็ต้องใช้ชีวิตแบบ new normal หรือทำตามมาตรฐานใหม่ โดยทำตามมาตรการ D-M-H-T หรือวิธีป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ ดังนี้

D : Distancing เว้นระยะห่างระหว่างกัน เช่น ห้องเรียนอาจจะไม่แออัดกันเกินไป ผสมการเรียนในห้องและออนไลน์หมุนเวียนกันไป โรงเรียนจะต้องปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสม

M : Mask Wearing ควรใช้นโยบายใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา 100% สำหรับผู้ใหญ่ ส่วนในเด็ก แนะนำใส่หน้ากากอนามัยในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป

H : Hand washing ล้างมือบ่อยๆ จุดล้างมือ จุดตั้งแอลกอฮอล์

T : Testing ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าโรงเรียน ทั้งเด็ก ครู ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงเรียน ก่อนเข้าปฏิบัติงาน ที่สำคัญคือหากพบว่ามีไข้ ป่วย จะต้องรีบแจ้งทันที

เน้นย้ำประเด็นสำคัญที่ผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการสามารถแพร่เชื้อให้เด็กได้

เราจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันลดการแพร่ระบาด ในส่วนของเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ผู้ใหญ่ ครู ผู้ปกครอง จะต้องพยายามใส่หน้ากากอนามัยให้เคร่งครัด คนที่ไม่สบายเป็นไข้หวัด ควรลดการใกล้ชิดกับเด็กและผู้สูงอายุ และรีบไปตรวจหาเชื้อ เพราะบางครั้งอาจจะติดเชื้อไม่รู้ตัว เพราะคิดว่าไม่ได้ไปในที่เสี่ยงหรือใกล้ชิดใคร

ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม ไม่แพร่เชื้อจริงไหม?

สำหรับผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว มีข้อดีคือ จะช่วยลดความรุนแรง แต่โอกาสแพร่เชื้อยังมีแต่ก็จะน้อยลง ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วอาจจะแพร่ได้น้อยกว่าคนไม่ได้ฉีด แต่ก็ยังแพร่ได้ ดังนั้นจึงแนะนำไม่ไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ จนกว่าการระบาดในประเทศดีขึ้น จนกว่าจะผ่อนคลายได้ และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ควรรอเข้ารับการฉีดวัคซีนตามที่ภาครัฐแนะนำ.

ผู้เขียน : J. Mashare
กราฟฟิก : Sathit Chuephanngam