จากงานเสวนา CHULA the Impact ครั้งที่ 4 “นวัตกรรมอวัยวะเทียมระดับโลกฝีมือคนไทย” โดยกลุ่มภารกิจสังคมสัมพันธ์ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้น โดย ผศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ผู้ร่วมพัฒนานวัตกรรมอวัยวะเทียมจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ได้พัฒนานวัตกรรม “เท้าเทียมไดนามิก sPace” ซึ่งอยู่ในช่วงการทดลองทางคลินิก ระยะที่ 2 เป็นเท้าเทียมที่มีข้อเท้า ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติกว่าเท้าเทียมที่ผลิตจากไม้ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยตั้งใจจะผลิตเป็นเท้าเทียมไดนามิกแบบพรีเมียม เพื่อจำหน่ายภายใต้ start up ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงนำไปใช้ในโครงการเท้าเทียมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทำร่วมกับ รพ.จุฬาฯและสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ด้วย

“ประเทศไทยมีผู้พิการ 40,000 กว่าราย และ 99% ของทั้งหมดใส่เท้าเทียมที่คุณภาพไม่ค่อยดี การนำเข้าเท้าเทียมแบบพรีเมียมก็มีราคาแพง โดยการพัฒนาเท้ารุ่นพรีเมียมขึ้นมาทำให้ผู้พิการสามารถเดินและวิ่งได้ธรรมชาติและผ่านการทดลองทางการแพทย์และการทดสอบจนได้มาตรฐาน ISO 10328 จากประเทศเยอรมนีแล้ว” ผศ.ดร.ไพรัชกล่าว.

(ภาพประกอบจาก https://www.chula.ac.th/news/45469/)