นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้มีข้อสรุปถึงการเปิดเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน 28 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดระลอกใหม่

โดย สพฐ.ยืนยันเปิดตามกำหนดเดิมที่จะเปิดเรียนในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ซึ่งเมื่อเปิดเรียนแล้วขอให้โรงเรียนทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตามแนวทางที่ สพฐ.และโรงเรียนกำหนด เช่น การสลับวันมาเรียน รวมถึงหากโรงเรียนในพื้นที่ไหนประเมินแล้วว่ายังไม่สามารถเปิดเรียนพร้อมกันทุกระดับชั้นได้ ขอให้โรงเรียนเลือกเปิดเรียนสำหรับเด็กระดับปฐมวัยกับประถมศึกษาก่อนเป็นลำดับแรก ทั้งนี้ โรงเรียนจะเปิดในวันที่ 1 ก.พ.นี้ได้หรือไม่นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระดับจังหวัดที่จะต้องประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวันก่อน

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า ส่วนที่ผู้ปกครองมีความกังวลว่าการเรียนผ่านออนไลน์ทำให้เด็กเรียนได้ไม่เต็มที่ และอาจไม่สามารถทำข้อสอบเพื่อเลื่อนชั้นได้นั้น เรื่องนี้ผู้ปกครองไม่ต้องกังวล เพราะ สพฐ.ให้นโยบายโรงเรียนทุกแห่งแล้วว่า การเลื่อนชั้นอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องสอบปลายภาคเรียนสามารถทำได้ แต่ครูผู้สอนต้องหาวิธีการประเมิน ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นการสอบ เช่นแจกใบงานฝึกหัดให้เด็กทำส่งได้ เป็นต้น ซึ่งครูจะต้องประเมินเด็กเป็นรายบุคคลแทน ขณะที่การสอบ โอเน็ตของเด็ก ป.6 และ ม.3 ในปีนี้นั้น สพฐ.ได้แจ้งประกาศแล้วว่า ไม่มีการนำคะแนนโอเน็ตมาเป็นผลต่อการเลื่อนชั้น หรือการสอบเข้าต่างๆ แต่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ยังต้องประกาศจัดสอบโอเน็ตอยู่ แต่เป็นความสมัครใจ โรงเรียนไม่มีสิทธิบังคับนักเรียนอย่างเด็ดขาด

...

“การสอบเข้าเรียนต่อ ม.1 และ ม.4 ในปีนี้ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง สพฐ.ได้ขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงการออกข้อสอบที่วัดความรู้ในตอนปลายของภาคเรียนที่ 2 เช่น สอบ ม.1 ก็ไม่ต้องนำความรู้ชั้น ป.6 มาใช้ในการสอบ หรือของ ม.4 ก็ไม่ต้องเอาความรู้ ม.3 มาใช้สอบ เป็นต้น เพื่อลดความกังวลของผู้ปกครองและนักเรียน” นายอัมพรกล่าว.