การแพร่กระจายเชื้อรากาโนเดอร์มา ก่อให้เกิดโรคลำต้นเน่าในต้นปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ปาล์มออกผลเล็ก ยังทำให้ต้นปาล์มยืนต้นตาย สร้างความเสียหายให้กับชาวสวนจำนวนมาก

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มีในหลายประเทศ รวมถึงพื้นที่ปลูกปาล์มในแถบภาคใต้ทั้งใน จ.ชุมพร นครศรีธรรมราช กระบี่ สุราษฎร์ธานี

“เชื้อรากาโนเดอร์มา ในระยะแรก มีรูปร่างลักษณะคล้ายเห็ดหลินจือ มีขนาดตั้งแต่ดอกเล็กไปจนถึงเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว เกิดอยู่ตามโคนต้นไม้ที่มีเนื้อแข็ง อาทิ มะพร้าว มะม่วง รวมทั้งปาล์มน้ำมัน โดยเชื้อดังกล่าวจะเข้าทำลายเนื้อไม้ ทำให้ปาล์มน้ำมันยืนต้นตายแล้ว หลังเชื้อดังกล่าวเจริญเติบโตเต็มที่ สปอร์จะเริ่มแตกกระจาย ปลิวฟุ้งไปตามสายลม หรือติดไปกับเท้าคนงาน ทำให้เกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างอีกด้วย”

...

ดร.กลอยใจ สำเร็จวาณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บอกอีกว่า หลังสปอร์เชื้อราเข้าทำลายรากต้นปาล์ม เนื้อเยื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงต้นปาล์มน้ำมัน จะออกผลเล็กลง ใบเปลี่ยนรูปและเหี่ยว กระทั่งต้นปาล์มเน่ายืนต้นตาย

เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรชาวสวนปาล์ม วช.จึงร่วมกับศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา จัดการอบรมให้ความรู้เรื่องการใช้เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถควบคุมเชื้อราในดินที่เข้าทำลายราก สาเหตุโรคลำต้นเน่า ให้ความรู้เกษตรกรชาวสวนปาล์มในพื้นที่ จ.ชุมพร และกระบี่

“ทีมวิจัยนำโดย รศ.ดร.อัจฉรา เพลงหนู ผอ.ศูนย์วิจัยภาคใต้ ได้ทำการวิจัยเก็บเชื้อราตัวดีจากโคนต้นปาล์มนำมาคัดเลือกหาจุลินทรีย์ ที่ทำหน้าที่ควบคุมเชื้อมาเพาะเลี้ยง กระตุ้นให้เกิดดอก จากนั้นนำไปทดสอบในพื้นที่ จ.ชลบุรี พบว่า สามารถควบคุมเชื้อราในดินที่เข้าทำลายราก สาเหตุโรคลำต้นเน่าได้ดี

แต่เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาของเชื้อตัวนี้ และเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้งานได้สะดวก เราจึงพัฒนาเชื้อแบคทีเรียให้อยู่ในรูปแบบชีวภัณฑ์แกรนูลพร้อมใช้ 2 สูตร คือชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus sp.(B-plam1) สำหรับควบคุมโรคลำต้นเน่า และชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus sp.(B-plam2) สำหรับเสริมสร้างการเจริญเติบโตของราก”

สำหรับวิธีการใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดโรคโคนเน่าในปาล์มน้ำมัน ดร.กลอยใจ บอกว่า เริ่มแรกเกษตรกรต้องเปิดหน้าโคนต้นปาล์มที่มีอาการโรคโคนเน่า จากนั้นนำชีวภัณฑ์แกรนูล B-plam1 สำหรับควบคุมโรคลำต้นเน่า ปริมาณ 20 กรัม ละลายในน้ำสะอาด 5 ลิตร นำไปฉีดโคนต้น (ปริมาณสารชีวภัณฑ์ที่ผสมสามารถฉีดพ่นต้นปาล์มได้ 2 ต้น)

โดยใช้พลาสติกคลุมปิดให้มิดรอบโคน ป้องกันการชะล้างจากน้ำฝน ระยะ 1–3 เดือน เชื้อราที่มีลักษณะเป็นดอกเห็ดจะเริ่มเหี่ยวตาย ปริมาณลดลง สังเกตรากใหม่ต้นปาล์มเริ่มเจริญ

จากนั้นฉีดพ่นด้วย B-plam2 สำหรับเสริมสร้างการเจริญเติบโตของราก โดยใช้วิธีการผสมเหมือนกัน จากนั้นให้นำดินมาถมบริเวณที่คว้านเนื้อ ต้นปาล์มเริ่มให้ผลผลิตได้ดังเดิม เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ 0-2561-2445 ต่อ 551.

ชาติชาย ศิริพัฒน์