ไทยยังเหนียว ปลอดติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศต่อเนื่อง 76 วัน โดยมีผู้ติดเชื้อใหม่ 3 ราย มาจาก 3 ประเทศ เป็นชาวต่างชาติ 2 คนไทย 1 ด้านกรมควบคุมโรค ยอมรับตอนนี้ไม่ได้จำกัดการเข้ามาของชาวต่างประเทศ แต่กำหนดอยู่ใน 3 ปัจจัย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ย้ำทุกรายต้องอยู่ในมาตรการควบคุมโรคเดียวกันคือกักตัว 14 วัน แต่คนต่างชาติให้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดในการเข้าสถานกักตัว ด้าน วช.ร่วมกับคมนาคม เผยหลังผ่อนปรนมาตรการต่างๆ คนไทยเดินทางมากขึ้นเกือบเป็นปกติ แต่ส่วนใหญ่เน้นใช้รถยนต์ส่วนตัวมากกว่าขนส่งสาธารณะ ส่วนสวนดุสิตโพลระบุประเทศฟื้นตัวเร็วเพราะคนไทยป้องกันตัวเองเคร่งครัด ขณะที่ติดเชื้อทั่วโลกยังระทึก จ่อพุ่งเกิน 20 ล้านคน ตายกว่า 7.3 แสนคน

ไทยยังคงรักษาสถิติไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศต่อเนื่องกว่าสองเดือน โดยยังพบผู้ติดเชื้อใหม่ 3 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักตัวเฝ้าระวังโรค และรักษาหายเพิ่มอีก 1 คน

พบผู้ติดเชื้อใหม่ 3 ราย

...

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 3 คน เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ ไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศเป็นวันที่ 76 ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,351 คน ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มอีก 1 คน รวมกลับบ้านสะสม 3,151 คน มีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 142 คน ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 คน

ต่างชาติป่วย 2 ไทย 1

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่รายที่ 1 เดินทางมาจากประเทศบังกลาเทศ เป็นชายชาวบังกลาเทศ อายุ 31 ปี อาชีพค้าขาย เดินทางถึงไทยวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เข้าพักในสถานกักตัวทางเลือกที่เป็นโรงแรม หรือ Alternative State Quarantine (ASQ) แห่งหนึ่งใน กทม. ผลตรวจพบเชื้อวันที่ 6 ส.ค. ไม่มีอาการ ผู้ป่วยใหม่รายที่ 2 เดินทางมาจากประเทศอินเดีย เป็นแม่บ้านหญิงชาวอินเดีย อายุ 41 ปี เดินทางมาถึงไทยวันที่ 2 ส.ค.เข้าพักในสถานกักตัวทางเลือกที่เป็นโรงแรม หรือ Alternative State Quarantine (ASQ) แห่งหนึ่งใน กทม. ผลตรวจพบเชื้อวันที่ 6 ส.ค. ไม่มีอาการ และผู้ป่วยรายที่ 3 เป็นหญิงไทย อายุ 30 ปี อาชีพพนักงานโรงแรม เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา ถึงไทยวันที่ 4 ส.ค. เข้าพักสถานที่กักตัวของรัฐใน กทม. ผลตรวจพบเชื้อวันที่ 7 ส.ค.ไม่มีอาการ

ให้ต่างชาติเข้าได้ไม่จำกัด

ต่อมา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยนั้น ปัจจุบันทาง ศบค.มีข้อกำหนดในการขยายกลุ่ม ผ่อนปรนให้ต่างชาติเข้ามาได้โดยไม่ได้จำกัดจำนวน เพื่อเป็นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ แต่จะมีการกำหนดและควบคุมอยู่ 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.ต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย จะต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ในสถานกักตัวทางเลือก (Alternative state quarantine) เท่ากับว่าการที่จะเข้ามาได้ต้องมีโรงแรมรองรับในการกักตัว ซึ่งส่วนนี้ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด 2.เที่ยวบินที่จะมายังประเทศไทย ขณะนี้ก็มีจำกัด จึงถือเป็นตัวจำกัดเรื่องอัตราการเข้ามาประเทศอยู่แล้ว และ 3.ต้องเป็นไปตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

ยันคุมเข้ม-จ่ายเงินเอง

“ปัจจุบันสถานกักตัวทางเลือก หรือ Alternative state quarantine มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยทุกแห่งจะต้องมีมาตรฐานในการควบคุมดูแลผู้ที่เดินทางเข้ามากักตัว ดังนั้นการเข้ามาของชาว ต่างชาติ เช่น กลุ่มครูในโรงเรียนนานาชาติ หรือกลุ่มนักธุรกิจ ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จึงไม่ได้มีการจำกัดจำนวนชาวต่างชาติแบบตายตัว แต่ทุกคนที่เข้ามาย้ำว่าต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และพักในสถานกักตัวทางเลือก ดังนั้นค่าใช้จ่ายทั้งหมดต้องออกเอง” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

ให้ตรวจรายชื่อ ASQ ได้

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข อธิบายความหมายของโรงแรมที่ใช้เป็นสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine) คือสถานที่กักตัวที่ผู้เข้าพักเป็นคนที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งได้ปรับรูปแบบมาจากสถานกักตัวของรัฐ State Quarantine มีระบบเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขเช่นเดียวกัน ได้แก่ การคัดกรอง การกักตัวเฝ้าระวังอาการ 14 วัน ตรวจหาเชื้อและได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลคู่สัญญาตลอดระยะเวลาที่กักตัว โดยประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อโรงแรมที่เข้าร่วมเป็นสถานที่กักตัวทางเลือกได้จากเว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ http://covid-center.hss.moph.go.th/ 

...

คนใช้รถส่วนตัวมากขึ้น

ด้านศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ การวิจัยและพัฒนา และศูนย์ปฏิบัติการด้านคมนาคมและการขนส่งทั่วราชอาณาจักร ของ ศบค. โดยนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ได้เปิดเผยผลการศึกษาของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ว่า หลังจากรัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนคลายให้กิจการต่างๆสามารถกลับมาดำเนินการได้แล้ว ตามแนวทาง “หยุดโควิด แต่ไม่หยุดเศรษฐกิจไทย” พบว่า ปริมาณการเดินทางสูงขึ้นอย่างชัดเจน จากที่ลดลงต่ำสุดในเดือนเมษายน โดยเฉพาะการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นจนเกือบเหมือนปกติก่อนประกาศใช้มาตรการควบคุมต่างๆ สำหรับการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะค่อยๆเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แสดงให้เห็นว่าประชาชนเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นหลัก เนื่องจากลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินทางได้ง่ายกว่า

ใช้ขนส่งสาธารณะไม่เต็มร้อย

ด้านนายชัยวัฒน์กล่าวว่า การเดินทางโดย รถยนต์ส่วนบุคคล หลังจากลดลงต่ำสุดในช่วงปลายเดือนมีนาคม-เมษายนนั้น ในขณะนี้ได้กลับมาอยู่ในระดับร้อยละ 95 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี การเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะโดยรวมทุกรูปแบบ ปัจจุบันกลับมาอยู่ระดับร้อยละ 66 เมื่อเทียบกับต้นปีแล้ว ซึ่งการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะทางรางมีการฟื้นตัวเร็วกว่าทางถนน ทางเรือ และทางอากาศ ทั้งนี้ ในช่วงที่มีมาตรการเข้มงวดกับการเดินทางและประชาชนมีความกังวลเรื่องโรคโควิดอย่างมากนั้น การเดินทางทุกรูปแบบลดลงอย่างมาก ต่ำสุดในช่วงระหว่าง 1-15 เมษายน 2563 โดยทางรถยนต์ส่วนตัว มีปริมาณต่ำสุดที่ร้อยละ 52 เมื่อเทียบการเดินทางช่วงต้นปี และการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะโดยรวม มีปริมาณต่ำสุดที่ร้อยละ 21 หรือเพียงหนึ่งในห้าของช่วงปกติเท่านั้น และเมื่อแยกเป็นการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะในแต่ละรูปแบบแล้ว การใช้ระบบขนส่งสาธารณะทางถนน ปัจจุบันอยู่ในระดับร้อยละ 63 และทางราง อยู่ในระดับร้อยละ 79 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ส่วนการเดินทางทางอากาศ ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากที่เคยลดลงต่ำสุดเหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ นั้น (หยุดเกือบทั้งหมด) ขณะนี้ได้กลับมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 55 หรือประมาณครึ่งหนึ่งของสภาวะปกติแล้ว ส่วนการเดินทางทางน้ำ ยังต่ำกว่าการเดินทางแบบอื่นๆ ขณะนี้ยังอยู่ในระดับร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี

...

โควิดทำคนไทยดูแลสุขภาพเพิ่ม

ด้าน น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชนหลังมีโควิด-19 ระบาด โดยเปรียบเทียบก่อนและหลังมีโควิด-19 ระบาด ทำการสำรวจวันที่ 3-7 ส.ค.63 จำนวน 1,123 คน พบว่า พฤติกรรมด้านสุขภาพที่ประชาชนปฏิบัติมากขึ้น ได้แก่ การเอาใจใส่คนรอบข้าง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง ร้อยละ 80.59 รองลงมาคือ ซื้ออุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ร้อยละ 75.78 การดูแลรักษาความสะอาดเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว ร้อยละ 69.01 การเลือกอาหารการกิน ร้อยละ 67.85 การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ ร้อยละ 61.18 การทำความสะอาดบ้าน ร้อยละ 59.39 การเช็กสุขภาพ เช่น วัดไข้ วัดความดัน ร้อยละ 54.14

ป้องกันตัวเข้มช่วยชาติฟื้นเร็ว

น.ส.พรพรรณกล่าวด้วยว่า ส่วนพฤติกรรมที่ปฏิบัติลดลงมากที่สุดคือ การไปสถานบันเทิง สถานที่แออัด ร้อยละ 76.58 รองลงมาคือ การใช้บริการรถสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ ร้อยละ 65.18 ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่าพฤติกรรมป้องกันโควิด-19 ด้วยตนเองอย่างเคร่งครัดของคนไทยเช่นนี้ เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมากว่า 2 เดือน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย

...

ต่างชาติแห่บินเข้าไทย

ส่วนการนำคนไทยจากประเทศต่างๆทั่วโลกกลับเข้าประเทศ รวมถึงชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตลอดวันที่ 9 ส.ค. มี 2 เที่ยวบินมาลงคือเวลา 16.40 น. สายการบินเมียนมาแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ UB2017 นำคนไทยในประเทศเมียนมา จำนวน 23 คน พร้อมด้วย นักการทูต นักธุรกิจ ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย และผู้เดินทางมารักษาตัว ชาวเมียนมา อินเดีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อเมริกัน และอังกฤษ จำนวน 32 คน รวม 55 คน เดินทางจากกรุงย่างกุ้งเข้าไทย และในเวลา 21.30 น. กลุ่มคนไทยที่ยังตกค้างในประเทศเกาหลีใต้ จำนวน 93 คน เดินทางเข้าไทยด้วยสายการบินโคเรียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ KE651 ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการคัดกรองโรคแล้วจะถูกนำไปสถานกักตัวของรัฐ (SQ) และสถานกักตัวทางเลือก (ASQ) รวมถึง รพ.ทางเลือก (AHQ) ใน กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และชลบุรี

ติดเชื้อจ่อ 20 ล้านคน

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั่วโลก สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ว่า ยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยอดรวม ณ ช่วงเย็นพุ่งไปกว่า 19.8 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 7.3 แสนคน แต่รักษาหายได้แล้วกว่า 12.7 ล้านคน ซึ่งสหรัฐอเมริกา ยังเป็นประเทศอันดับ 1 ของโลกที่มีผู้ติดเชื้อถึงกว่า 5.1 ล้านคน เสียชีวิตอีกกว่า 1.6 แสนคน

บราซิลดับทะลุแสนแล้ว

ขณะที่บราซิลกลายเป็นประเทศอันดับ 2ของโลกที่ยอดผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตมากที่สุด เพราะตัวเลขทะลุหลักแสนรายอยู่ที่ 100,543 ราย หลังกระทรวงสาธารณสุขเผยว่า พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 905 ราย และเป็น 1 ใน 2 ประเทศรวมสหรัฐอเมริกา ที่ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ในจำนวน 6 หลัก แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ตัวเลขจริงอาจมากกว่านี้ถึง 6 เท่า เพราะ ตรวจหาเชื้อไม่เพียงพอ ขณะที่นายดาวี อัลโคลอมเบร ประธานวุฒิสภา ประกาศในสภาให้มีการไว้ทุกข์ 4 วันเพื่อไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต ซึ่งยังไม่มีสัญญาณลดลง นับแต่การติดเชื้อที่ล่วงเข้าสู่เดือนที่ 6

ทรัมป์ลงนามคำสั่งกระตุ้น ศก.

ด้านประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้อำนาจลงนามคำสั่งพิเศษขยาย 4 มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งต้องตกงาน ธุรกิจร้านค้าที่ต้องรักษากฎเว้นระยะห่างทางสังคม และยังมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก รวมมาตรการข้อหนึ่งที่จะให้เงินกับผู้ที่ตกงาน สัปดาห์ละ 400 เหรียญสหรัฐฯ หลังพรรครัฐบาลรีพับลิกันกับพรรคฝ่ายค้านเดโมแครตเจรจากันล้มเหลวเรื่องแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ ซึ่งมีมาตรการช่วยเหลือไปแล้วก่อนหน้าและงบส่วนใหญ่สิ้นสุดลงเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวของทรัมป์อาจถูกคัดค้านเพราะสภาต้องควบคุมงบประมาณกลาง

หาดยุโรปแน่นรับหน้าร้อน

ส่วนในยุโรป ที่หลายประเทศผ่อนปรนการทำกิจกรรมต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามชายหาด แหล่งตากอากาศชื่อดัง ที่มีคนแห่มาเที่ยวหนาแน่นขึ้น โดยที่เยอรมนี มีการออกคำเตือนถึงหาดและทะเลสาบบางแห่งว่าอาจต้องปิดให้บริการอีกครั้งหากมีประชาชนไปเที่ยวมากเกินไป ด้วยขณะนี้ยุโรปกำลังอยู่ในช่วงหน้าร้อน โดยเฉพาะอังกฤษที่อุณหภูมิร้อนสุดในรอบ 17 ปี วัดได้ 36.4 องศาเซลเซียส ทำให้ริมชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ต่างเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ขณะที่ที่เบลเยียม เจ้าหน้าที่จับกุมกลุ่มวัยรุ่นหลายคนบริเวณริมหาดสถานตากอากาศบลันเกนเบิร์ก หลังเกิดเหตุวิวาทกับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากไม่ยอมปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับโรคโควิด-19 จนถูกนำตัวออกนอกพื้นที่

เดนมาร์กสั่งปิดโรงฆ่าสัตว์

ในฝรั่งเศส ทางการกรุงปารีส ออกกฎข้อบังคับให้ประชาชนที่มีอายุ 11 ปีขึ้นไปต้องใส่หน้ากากในพื้นที่ชุมชนหนาแน่นและจุดท่องเที่ยว เริ่มมีผลบังคับใช้เวลา 08.00 น. ของวันจันทร์ที่ 10 ส.ค.ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยอัตราการตรวจหาเชื้อแล้วผลเป็นบวกในกรุงปารีสอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เทียบกับทั่วประเทศที่พบโดยเฉลี่ยร้อยละ 1.6 เช่นเดียวกับอีกหลายเมืองใหญ่ ทั้งเมืองนีซ เมืองลิลล์ ที่แนะให้ประชาชนสวมหน้ากากเวลาอยู่นอกสถานที่ ส่วนที่เดนมาร์ก โรงงานเนื้อรายใหญ่ ดานิส คราวน์ ประกาศปิดโรงฆ่าสัตว์ใหญ่ หลังพบคนงานเกือบ 150 คน ติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19

กีวีครบ 100 วันไม่พบเชื้อ

กระทรวงสาธารณสุขนิวซีแลนด์ ประกาศครบ 100 วันที่ไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในประเทศ แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะเห็นตัวอย่างจากต่างประเทศ ที่เชื้อไวรัสมรณะกลับมาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและกระจายไปในหลายพื้นที่ที่เคยควบคุมอยู่ จึงต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอนาคต ซึ่งนับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อเดือน ก.พ. จนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรวม 1,569 คน เสียชีวิต 22 คน โดยพบผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ทำให้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบปกติ โดยไม่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม สามารถเข้าไปร่วมชมการแข่งขันกีฬาและการจัดงานต่างๆ แต่ยังเข้มงวดตามพรมแดนและให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศต้องกักตัว 14 วัน

ไฟไหม้ศูนย์คนไข้โควิดอินเดีย

ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวสลดรับอรุณ เมื่อช่วงเวลา 05.00 น.วันที่ 9 ส.ค.ตามเวลาท้องถิ่นอินเดีย เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงแรม สวารณะ พาเลซ ซึ่งเป็นศูนย์รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เมืองวิชัยวาทะรัฐอานธรประเทศ ตอนใต้ของอินเดีย โดยเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ในเวลาไม่นาน แต่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 คน ส่วนผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 22 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล คาดสาเหตุมาจากกระแสไฟฟ้าช็อต การเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้ นับเป็นเหตุไฟไหม้ครั้งที่ 2 ในเดือนนี้ โดยเมื่อสัปดาห์ก่อน เกิดเหตุเพลิงไหม้ ในห้องไอซียู ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในเมืองอาห์เมดาบัด รัฐคุชราต ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย

เอเชียติดเชื้อไม่นิ่ง

ส่วนในเอเชีย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (เอ็นเอชซี) เผยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 23 คน แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 15 คน และอีก 8 คนเป็นผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ ทำให้ทั่วประเทศมียอดผู้ติดเชื้อสะสมที่ 84,619 คน เสียชีวิตรวม 4,634 คน ที่ฮ่องกงพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 72 คน ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อกว่า 4,000 ราย โดย 63 คน ติดเชื้อภายในฮ่องกง เสียชีวิตรวม 51 คน ที่อินโดนีเซียติดเชื้อเพิ่มอีก 1,893 คน รวมติดเชื้อสะสม 125,396 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 65 คน รวมยอดตาย 5,723 คน ที่ญี่ปุ่นติดเชื้อเพิ่มอีก 331 คน รวมสะสมกว่า 45,000 คน เสียชีวิตรวม 1,039 คน ที่เกาหลีใต้ ติดเชื้อเพิ่ม 36 คน รวมสะสมกว่า 14,600 คน เสียชีวิต เพิ่ม 1 คน รวมเป็น 305 คน