วารสาร Mitochondrial DNA Part B : Resources ตีพิมพ์เมื่อ 12 กรกฎาคม 2563 ระบุโครงการทรัพยากรชีวภาพปลากัดแห่งชาติ (National Betta Bioresource Project) ของไทย สร้างความสำเร็จระดับโลก

สามารถถอดรหัสพันธุกรรมของจีโนมไมโทคอนเดรียที่สมบูรณ์ ของปลากัดป่ามหาชัย (Betta mahachaiensis) ได้เป็นครั้งแรกของโลก...มีจีโนมไมโทคอนเดรีย 16,980 คู่เบส

โดยพบข้อมูลสำคัญบนจีโนมเพื่อใช้สนับสนุนจัดทำฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อนุกรมวิธาน เอกลักษณ์ทางพันธุกรรม และการแพร่กระจายของปลากัดป่า ซึ่งอาศัยอยู่ในแหล่งธรรมชาติของประเทศไทย

นับเป็นจีโนมที่ 5 ของปลากัดป่า ต่อจากปลากัดอมไข่ภาคใต้ (B. simplex), ปลากัดภูเขาภาคใต้ (B. apollon), ปลากัดอมไข่น้ำแดงหรือป่าพรุ (B. pi) และปลากัดป่าภาคกลาง (B. splendens) ซึ่งได้รับการถอดรหัสพันธุกรรมโดยคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สมาคมปลากัด และ บริษัท วิชูโอ ไบโอเมดิคอล (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อศึกษาข้อมูลจีโนมปลากัดป่ามหาชัย ที่พบในประเทศไทยเท่านั้น มักอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำกร่อยบริเวณป่าจาก แถบ จ.สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม บางส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ

ที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์จากความเจริญทั้งในภาคอุตสาหกรรม คมนาคม ที่อยู่อาศัย ที่ขยายตัวจนคุกคามที่อยู่ตามธรรมชาติของปลากัดป่ามหาชัย

ข้อมูลจีโนมดังกล่าวจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญเพื่อต่อยอดการพัฒนาวิธีการพิสูจน์เอกลักษณ์ และเข้าใจกลไกวิวัฒนาการ จุดกำเนิดของปลากัด ป่ามหาชัย อนุรักษ์ปลากัดป่ามหาชัยพัฒนาให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ โดยไม่ต้องจับจากธรรมชาติ.

...