คาดเริ่มใช้ช่วยแม่พิมพ์ ก.ย.นี้ รอถกสหกรณ์ออมทรัพย์เจ้าหนี้รายใหญ่
เมื่อวันที่ 1 ก.ค.นายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาหนี้ครูว่า จากการสำรวจเงินกู้ของแต่ละสถาบันทางการเงินพบว่า ครูเป็นหนี้กับธนาคารออมสินจำนวน 3.9 แสนล้านบาท ธนาคารกรุงไทยจำนวน 6 หมื่นล้าน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ประมาณ 6 หมื่นล้าน และสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 874,000 ล้านบาท ขณะนี้คณะทำงานของตนได้หารือร่วมกับสถาบันทางการเงินที่เป็นแหล่งเงินกู้หลักของกลุ่มข้าราชการครู ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อที่จะหาแนวทางช่วยเหลือเรื่องการชำระหนี้ของกลุ่มข้าราชการครู ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงเดือน ก.ย.นี้
โดยในส่วนของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์นั้น ตนได้มีการหารือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อที่จะประสานงานในการหารือร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจำนวน 109 แห่ง แบ่งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสหกรณ์ที่มีทุนมากกว่าหนี้ 2.กลุ่มสหกรณ์ที่มีหนี้มากกว่าทุน และ 3.กลุ่มที่อยู่นอกเหนือจากสหกรณ์จังหวัดโดยจะหารือภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องการลดดอกเบี้ย การจ่ายเงินต้น การพักชำระหนี้ เป็นต้น
ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู กล่าวอีกว่า เท่าที่พูดคุยกรมส่งเสริมสหกรณ์เองก็เข้าใจบริบทของการกู้ยืมเงิน และอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขระเบียบของสหกรณ์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งจะมีการกำหนดเป็นกฎกระทรวงเพื่อทำให้การดำเนินงานของสหกรณ์มีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเข้าไปดำเนินการในเรื่องใดนั้น ค่อนข้างที่จะทำได้ยากเนื่องจากติดขัดข้อกฎหมายต่างๆ และเท่าที่ได้มีการหารือเบื้องต้นทำให้ทราบว่าสหกรณ์บางแห่งไม่สามารถลดดอกเบี้ย หรือพักชำระหนี้ได้ เนื่องจากสหกรณ์มีภาระที่จะต้องจ่ายเงินปันผลให้แก่สมาชิก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ ศธ.กำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ คือ การแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาหนี้สินกับกลุ่มอื่นๆในอนาคต
...
ส่วนกรณีที่ศาลปกครองกลางพิพากษาเรื่องการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการครู เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ว่า เงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วต้องเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 นั้น ศธ.ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองกลางอย่างเคร่งครัด และการดำเนินการคือ หากต้นสังกัดของครูพบว่า มีการหักเงินชำระหนี้เกินร้อยละ 30 แล้ว หน่วยงานต้นสังกัดจะไม่ดำเนินการใดๆ กับเงินเดือนของครูอีก ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินที่จะต้องทวงถามการชำระหนี้จากลูกหนี้เอง.