ทดลองวัคซีนมีลุ้น คืบหน้าทั้งลิง-หนู

ลุ้นต่อ ไทยไร้ผู้ติดเชื้อในประเทศต่อเนื่อง 13 วัน แม้ยังพบผู้ติดเชื้อรายวัน โดยล่าสุด เจออีก 8 ราย แต่ล้วนอยู่ในกลุ่มที่เดินทาง กลับจากต่างประเทศ ขณะที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แจงความคืบหน้าการทดลองวัคซีนโควิด-19 “ชนิด mRNA” ในลิง 12 มิ.ย.นี้ รู้ผลเจาะเลือด หากมีภูมิต้านทาน ลุยฉีดเข็มสองต่อ ถ้ากระตุ้นภูมิดี ส่งผลิต 1 หมื่นโดสทดลองในคน ด้าน กรมวิทย์ก็มีข่าวดี ทดลองวัคซีนต้นแบบด้วยวิธี PRNT ในหนูได้ผลดี ขนาดเซรั่มเจือจาง 500 เท่ายังฆ่าเชื้อไวรัส ถึงครึ่งหนึ่ง ส่วนจีนใจป้ําประกาศยกวัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะทันที หากทดสอบจนพร้อมใช้งาน

การคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในไทย ที่ทำมาตลอด 5 เดือน นับตั้งแต่เจอผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อต้น ม.ค. ที่ผ่านมา ทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศต่อเนื่องมาเกือบสองสัปดาห์ พร้อมกับเริ่มมีความคืบหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

...

ไทยไร้ติดเชื้อในประเทศ 13 วัน

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. เวลา 11.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 8 ราย ทั้งหมดเดินทางกลับจากต่างประเทศ เข้าพักในสถานที่รัฐจัดไว้ให้ ขณะที่ผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 0 รายต่อเนื่องเป็นวันที่ 13 จากภาวะความเครียดก็เริ่มเปลี่ยนเป็นรอยยิ้มเล็กๆ บนใบหน้าของพวกเราในวันนี้ได้ ต้องขอบคุณทุกๆความร่วมมือของประชาชน ทั้งนี้ ภาพรวมของไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสมมีจำนวน 3,112 ราย แยกเป็นติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 668 ราย สถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ 175 ราย มีผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมรักษาหายแล้ว 2,972 ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 82 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ยังคงยอดเดิมที่ 58 ราย โดยประเทศไทยมีผู้ติดเชื้ออยู่อันดับที่ 81 ของโลก

8 ผู้ติดเชื้อใหม่มาจาก ตปท.

พญ.พรรณประภากล่าวอีกว่า ผู้ติดเชื้อ 8 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ โดยเป็นผู้กลับจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5 ราย เดินทางมาถึงไทยวันที่ 2 มิ.ย. ทุกรายเคยได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้ว ผลไม่พบเชื้อ กลับมาประเทศไทย ตรวจพบเชื้อทุกรายไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ โดยรายที่ 1 เป็นพนักงานบริษัท หญิง อายุ 38 ปี รายที่ 2 นักท่องเที่ยวชาย อายุ 37 ปี รายที่ 3 พนักงานสปา หญิง อายุ 38 ปี รายที่ 4 พนักงานนวด หญิง อายุ 23 ปี รายที่ 5 พนักงานขายอาหาร หญิง อายุ 24 ปี ขณะที่ผู้ป่วยรายที่ 6-7 กลับมาจากประเทศคูเวต เป็นชาย อายุ 46 และ 37 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางถึงไทยวันที่ 24 พ.ค. ตรวจวันที่ 27 พ.ค. ผลไม่พบเชื้อ ตรวจวันที่ 6 มิ.ย. ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใน จ.สมุทรปราการ ส่วนผู้ป่วยรายที่ 8 เดินทางมาจากประเทศอินเดีย เป็นชาย อายุ 52 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 5 มิ.ย. จากการคัดกรองที่สนามบิน พบว่ามีอาการไข้และไอ เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลใน จ.สมุทรปราการ

12 มิ.ย.รู้ผลเลือดลิงทดลอง

ส่วนความคืบหน้างานวิจัย “วัคซีนชนิด mRNA” ที่ศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ทุนสนับสนุนทดลองฉีดวัคซีนโควิด-19 ในลิงไปเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.พัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่าขณะนี้ได้เจาะเลือดลิงจำนวน 13 ตัวที่ได้รับวัคซีน เพื่อตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 แล้ว จากนี้ประมาณกลางสัปดาห์นี้หรือไม่เกินวันที่ 12 มิ.ย.จะทราบผลการเจาะเลือดว่าวัคซีนที่ฉีดเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือไม่ เลือดไปจับกับโปรตีนของเชื้อหรือไม่ เพื่อยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ในร่างกาย เป็นต้น ถ้าผลการเจาะเลือดออกมาดี มีภูมิต้านทานเป็นบวก จะฉีดต่อในเข็มที่สองในอีก 1 สัปดาห์ถัดไป และจะทราบผลเข็มที่สองประมาณวันที่ 23 มิ.ย.นี้

เข็มสองหากดีส่งผลิตหมื่นโดส

ผอ.พัฒนาวัคซีนโควิด-19 กล่าวอีกว่า การ ทดลองวัคซีนต้องลุ้น ถ้าผลออกมาไม่ดี ก็ต้องปรับ สูตรกันใหม่ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจากนี้ แต่ปกติการเจาะเลือดทุกสองสัปดาห์ปกติแล้วจะมีผลเป็นบวก ตั้งแต่สัปดาห์ที่สี่หรือหก อย่างไรก็ตาม ต้องมองเป็น บวกไว้ก่อน ถ้าได้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีก็จะประสาน ไปยังโรงงานผลิตวัคซีน เพื่อผลิตประมาณ 1 หมื่นโดส ประมาณเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นจะนำมาทดสอบในอาสาสมัครคนต่อไป

...

เผยผลวัคซีนต้นแบบในหนู

นอกจากนี้ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงการวิจัย พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันชีววัตถุ ได้ช่วยตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในหนูที่ได้รับวัคซีนต้นแบบ โดยวิธี plaque reduction neutralization test (PRNT) ซึ่งต้อง ทดสอบโดยใช้เชื้อไวรัสโควิด-19 ภายใต้ระดับความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 3 การทดลอง โดยนำซีรั่ม จากเลือดหนูที่ได้รับวัคซีนต้นแบบมาเจือจางที่ระดับต่างๆกัน จากนั้นนำมาผสมกับไวรัสโควิด-19 ก่อน นำไปใส่ลงในเซลล์แล้วนำไปบ่มในอุณหภูมิที่เหมาะสม นาน 6 วัน จากนั้นนำไปย้อมสีและตรวจนับจำนวนไวรัส ถ้าซีรั่มในเลือดไม่มีภูมิคุ้มกัน เซลล์ก็จะติดเชื้อ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าซีรั่มในเลือดมีภูมิคุ้มกันสามารถ ป้องกันเชื้อได้ ไวรัสที่อยู่ในเซลล์ที่มีการติดเชื้อจะลดลง อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งภูมิคุ้มกันที่ได้ ไม่สามารถ ระบุได้แน่ชัดว่าสามารถป้องกันโรคได้ดีหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนและยอมรับ

ซีรั่มเจือจาง 500 เท่ายังฆ่าเชื้อได้

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวเพิ่มเติม ว่า การดูภูมิคุ้มกันขึ้นดีหรือไม่ดีนั้น สามารถดูได้ จากการเจือจางซีรั่ม ถ้าเจือจางมากและพบการทำลาย เชื้อไวรัสโดยภูมิคุ้มกันในซีรั่มลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่ามีภูมิคุ้มกันสูงในหนู ซึ่งวัคซีนต้นแบบของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ส่งมาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบว่าสามารถเจือจางซีรั่มไปถึง 500 เท่า ยังสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ แสดงว่าในซีรั่มหนูมีภูมิคุ้มกันสูงต่อไวรัสโควิด-19 ขั้นตอนต่อไปวัคซีนต้นแบบนี้จะนำไปทดลองในลิง และในคนต่อไป

คาดเดายากใช้วัคซีนได้เมื่อใด

...

“ส่วนการจะได้ใช้วัคซีนเมื่อไหร่นั้น เป็นเรื่องของอนาคตยังไม่สามารถตอบได้ บางประเทศรายงานเร็วที่สุดต้นปี 2564 บางประเทศรายงานปลายปี 2564 ซึ่งการวิจัยพัฒนาวัคซีนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละขั้นตอนต้องทดสอบในสิ่งมีชีวิต ทำให้ผลที่ได้ มีความแปรปรวนของการทดสอบ จึงคาดการณ์ได้ยากว่าวัคซีนที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผลนั้น จะสำเร็จได้เมื่อใด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพทั้งบุคลากรและเทคโนโลยี ที่ไม่ได้เป็นรองนานาชาติมากนัก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานภาคอุดมศึกษาต่างๆมีความพร้อม เพียงแต่เราไม่สามารถดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียวได้ อย่างครบวงจร จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันในหลายภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 จนประสบความสำเร็จได้” นายแพทย์โอภาสกล่าว

ยะลาตรวจเชื้อ 47 ผู้กักตัว

สำหรับสถานการณ์ทั่วประเทศ ที่ศูนย์ขวัญแผ่นดิน ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา สถานที่กักตัวเฝ้าสังเกตอาการของผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียและพื้นที่เสี่ยง มีผู้ถูกกักตัวในศูนย์ 47 คน นายอาแซ กาเซ็ง สาธารณสุขอำเภอยะหา นำคณะปฏิบัติการ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ แพทย์ พยาบาล รพ.สมเด็จพระยุพราชยะหา เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ปะแต และ อสม. ไปเก็บสารคัดหลั่งในโพรงจมูก ของผู้ถูกกักตัวทั้ง 47 คน เพื่อส่งไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้านนายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผวจ.ยะลา เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ล่าสุดไม่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มติดต่อกัน มาแล้ว 27 วัน สรุปผู้ป่วยสะสม 133 ราย รักษาหาย 131 ราย และเสียชีวิต 2 ราย

...

496 คนไทยกลับเข้าประเทศ

ส่วนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศจัดเที่ยวบินพิเศษนำคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดในต่างประเทศ เดินทางเข้าประเทศไทยอีกกลุ่มใหญ่ โดยเวลา 11.45 น.คนไทยตกค้างที่อิสราเอล จำนวน 103 คน พร้อมเจ้าหน้าที่อิสราเอล 3 คน ที่มารับผู้ต้องหาส่งตัวข้ามแดน เดินทางถึงประเทศไทย และหลังการคัดกรองพบผู้โดยสารชาวไทยมีไข้ 5 คน จากนั้นเวลา 16.56 น. คนไทยที่ตกค้างในประเทศสิงคโปร์ จำนวน 175 คน เดินทางถึงซึ่งในจำนวนนี้ตรวจพบมีไข้ 7 คน ส่วนท่าอากาศยานดอนเมือง เวลา 16.10 น. กลุ่มคนไทยในประเทศฟิลิปปินส์ จำนวน 218 คน เดินทางกลับถึงประเทศไทย รวมมีคนไทยเดินทางกลับประเทศ 496 คน โดยผู้ที่ตรวจวัดแล้วมีไข้จะถูกส่งตัวไปที่ รพ.ใน จ.สมุทรปราการ ทันที ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปกักตัวตามสถานที่ที่รัฐกำหนดใน กทม.และ จ.ชลบุรี

ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 7 ล้านคน

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในต่างแดน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ว่ายอดผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลกเพิ่มเป็น 7 ล้านคน เสียชีวิตรวมมากกว่า 402,000 คน ขณะที่สหรัฐอเมริกา จุดศูนย์กลางการระบาดอันดับ 1 ของโลก มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นกว่า 1.98 ล้านคน เข้าใกล้ยอด 2 ล้านคนไปทุกขณะ เสียชีวิตในวันเดียว 749 คน ส่งผลให้ยอดเสียชีวิตรวมกลายเป็น 112,096 คน ตามด้วยอันดับ 2 บราซิล ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรวมมากกว่า 676,000 คน เสียชีวิตมากกว่า 36,000 คน และอันดับ 3 รัสเซีย ที่พบผู้ติดเชื้อรวม 467,600 คน เสียชีวิตรวม 5,859 คน

บราซิลปิดเว็บข้อมูลโควิด

นอกจากนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขบราซิลได้ปิดเว็บไซต์ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล ในช่วงคืนวันที่ 5 มิ.ย. ก่อนเปิดให้เข้าดูตามปกติในวันถัดไป แต่ลบข้อมูลเก่า เช่น การรายงานผู้ติดเชื้อในแต่ละรัฐทิ้งทั้งหมด เหลือเพียงยอดผู้เสียชีวิตรวม ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่และยอดรักษาหายในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งจากการติดตามสอบถามกระทรวงสาธารณสุขบราซิล ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็น และต่อมานายฌาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีบราซิล ชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ว่า ข้อมูลที่ทางการเก็บรวบรวมตั้งแต่เริ่มการแพร่ระบาด ไม่ได้สะท้อนถึงสภาพความเป็นจริงของสถานการณ์ในขณะนี้ และรัฐบาลอยู่ระหว่างหาทางรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะที่สมาคมนักข่าวบราซิลกลับมองว่ารัฐบาลต้องการปิดบังข้อมูล

ปิดดีลจ่าย รพ.เอกชนรับคนไข้

ที่แอฟริกาใต้ มีรายงานการพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยยอดรวม 45,973 คน เสียชีวิต 952 คน ซึ่งวันเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้ได้บรรลุข้อตกลงกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนว่า หากเกิดสถานการณ์โรงพยาบาลรัฐ ไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยเพียงพอแล้ว จะเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลเอกชนที่จะรับผู้ป่วยไปแทน รัฐบาลจะเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายให้วันละ 950 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคน หรือประมาณ 30,400 บาท ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากการเจรจาไม่ลงตัวมาเป็นเวลาหลายเดือน

ฝรั่งเศสเพิ่มค่าปรับทิ้งหน้ากาก

ส่วนที่ฝรั่งเศส ยอดผู้ติดเชื้อรวมเพิ่มเป็น 153,634 คน เสียชีวิตรวม 29,142 คน ขณะที่ นายบรุน ปอร์ซง เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ตัดสินใจเพิ่มค่าปรับเรื่องการทิ้งขยะในที่สาธารณะ หลังพบว่าในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการทิ้งหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว ตามถนนหนทางกันเต็มไปหมดจนกลายเป็นภาพที่ไม่น่าดู โดยค่าปรับจะเพิ่มจาก 68 ยูโร หรือราว 2,400 บาท กลายเป็น 135 ยูโร หรือประมาณ 4,800 บาท และไม่ใช่การปรับเรื่องทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างเดียว ยังรวมไปถึงถุงมือและขยะอื่นๆด้วย

โสมขาวเชื้อลามเกิน 50 ต่อวัน

วันเดียวกัน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลีใต้ (KCDC) รายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 57 คน ถือเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ที่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมากกว่า 50 คน พร้อมระบุว่ายอดผู้ติดเชื้อรวมในประเทศอยู่ที่ 11,776 คน เสียชีวิต 273 คน จากจำนวนผู้ติดเชื้อดังกล่าว รักษาหายแล้ว 10,552 คน อยู่ระหว่างรับการรักษา 951 คน และผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ตรวจพบตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น พบว่ามีความเชื่อมโยงกับเหตุแพร่ระบาดระลอกใหม่ในย่านสถานบันเทิงอิแทวอน ศูนย์ส่งสินค้าเมืองบูชอน ไปจนถึงติดเชื้อจากการไปโบสถ์และเข้าซื้อของในร้านค้า

จีนยกวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะ

ที่ประเทศจีน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน รายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 2 สัปดาห์ ที่เกาะไหหลำ ทางภาคใต้ ทั้งพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศอีก 5 คน เท่ากับว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 6 คน ส่วนสำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานอ้างการเปิดเผยของนายหวัง จื้อกัง รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า จีนจะทำให้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะของโลก หากวิจัยและทดสอบจนสำเร็จพร้อมใช้งาน

มาเลย์โวคุมระบาดได้แล้ว

ด้านนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ออกแถลงการณ์ว่า รัฐบาลประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ โดยในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ จะยกเลิกมาตรการเข้มงวดเกือบทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการทำธุรกิจ รวมถึงการยกเลิกมาตรการห้ามเดินทางระหว่างรัฐ และจากนี้รัฐบาลจะทยอยเปิดเศรษฐกิจเป็นลำดับขั้นไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค. ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียรายงานยอดผู้ติดเชื้อรวมในมาเลเซียอยู่ที่ 8,303 คน เสียชีวิต 117 คน

ออสซีหวั่นชุมนุมทำโควิดลาม

ขณะที่นายเกรก ฮันต์ รมว.สาธารณสุขออสเตรเลีย ออกแถลงแสดงความกังวลต่อการชุมนุมสนับสนุนคนผิวสี ทั้งในนครเมลเบิร์น บริสเบน แอดิเลด และเมืองอื่นๆทั่วออสเตรเลียเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. เพราะจากการตรวจสอบพบว่า มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากกว่า 20,000 คน ทั้งผู้ชุมนุมยังละเลยคำเตือนทางด้านสาธารณสุข พร้อมหวังว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุม เพราะผลกระทบที่ตามมาอาจสาหัส โดยออสเตรเลียพบผู้ติดเชื้อรวม 7,250 คน เสียชีวิต 102 คน