การที่บรรดานักบรรพชีวินวิทยาได้ขยายการสำรวจไปในแหล่งขุดค้นซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ทำให้มีการค้นพบสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตใหม่ๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการพบไดโนเสาร์ พร้อมชี้ให้เห็นว่าความหลากหลายของไดโนเสาร์นั้นมีสูงกว่าที่คิดไว้ก่อนหน้านี้ และเชื่อว่ายังไม่พบอีกหลายๆสายพันธุ์
ล่าสุด ทีมวิจัยที่นำโดยพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์นิวเม็กซิโกในสหรัฐอเมริกา และ ดร.นิค ลองริช จากมหาวิทยาลัยบาธในอังกฤษ เผยผลการศึกษาซากฟอสซิลไดโนเสาร์ที่พบเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในฟาร์มปศุสัตว์ของ เท็ด เทอร์เนอร์ ผู้ก่อตั้งสถานีข่าวซีเอ็นเอ็น ทีมวิจัยระบุว่า เป็นพวกไทรเซอราทอปส์ ไดโนเสาร์กินพืชในตระกูลเซอราทอปซิด มีแผงเกราะและเขาขนาดใหญ่ แต่ฟอสซิลนี้เป็นไทรเซอราทอปส์สายพันธุ์ใหม่ ไม่เคยพบในอเมริกาเหนือมาก่อน ได้รับการตั้งชื่อว่า เซียร์ราเซอราทอปส์ เทอร์เนอรี (Sierraceratops turneri) เชื่อว่ามีชีวิตอยู่ในดินแดนที่เป็นนิวเม็กซิโกทุกวันนี้ เมื่อประมาณ 72 ล้านปีก่อน
ซากของเซียร์ราเซอราทอปส์ เทอร์เนอรี ประกอบด้วยชิ้นส่วนของกะโหลกศีรษะและโครงกระดูก พบในหินยุคครีเตเชียสตอนปลาย ลักษณะสำคัญที่ทำให้มันต่างจากไดโนเสาร์มีเขาชนิดอื่นก็คือเขาที่อยู่เหนือดวงตา แม้จะสั้นแต่ก็ใหญ่ อีกทั้งลักษณะทางกายวิภาคของกะโหลกศีรษะขนาดใหญ่ ยาวประมาณเมตรครึ่ง และมีความยาวตัวโดยรวมราว 4.6 เมตร ทั้งนี้ การเปรียบเทียบคุณสมบัติของเซียร์ราเซอรา ทอปส์ เทอร์เนอรี กับไดโนเสาร์เซอราทอปซิดส์อื่นๆ จะช่วยให้ติดตามความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการกับไดโนเสาร์มีเขาตัวอื่นๆได้.
Credit : New Mexico Museum of Natural History & Science