จากการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ภายใต้นโยบายรัฐบาล “ไทยแลนด์ 4.0” ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบัน กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ ตั้งแต่ระดับเล็กๆที่มีรูปแบบการค้าขายแบบดั้งเดิมไม่ซ้ำซ้อน “ซื้อมาขายไป” เช่น ร้านโชห่วย ร้านแผงลอยริมถนน ไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อยและขนาดกลางที่เปิดร้านขายสินค้าในห้างหรือศูนย์กลางการค้าต่างๆ
ในปัจจุบันร้านค้าหลายแห่งได้ทยอยปิดกิจการกันมากขึ้น เพราะไม่อาจต้านทานกระแสการเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเหล่าบรรดาแม่ค้าพ่อค้าหน้าใหม่ที่ประกาศขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ได้
โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้ เรียกว่า “Digital Disruption” (ดิจิทัล ดิสรัปชัน) หมายถึง การปฏิรูป หรือเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจแบบใหม่ จนส่งผลกระทบต่อกิจการ สินค้าและบริการที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ดังนั้น การเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่จึงมีความจำเป็นต้องมีความคิดก้าวหน้า ทันสมัย และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้น กิจการหรือธุรกิจเดิมที่สืบทอดจากรุ่นพ่อแม่ หรือกิจการค้าขายที่เคยทำมานานกว่า 10-20 ปี คงไม่สามารถอยู่รอดต่อไปได้
ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2562 เรื่อง “รูปแบบทำงานแบบคนรุ่นใหม่” หรือ NextGen Work มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะธุรกิจใหม่ๆที่คนรุ่นใหม่ชอบทำ และมีความ ต้องการที่จะอยากทำ
ทั้งนี้ สศช.ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของ “โลกาภิวัตน์” และ “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” ทำให้เกิดกิจกรรมเศรษฐกิจใหม่ๆมากมายที่คนรุ่นเก่าไม่รู้จัก ไม่เข้าใจธุรกิจในโลกยุคดิจิทัลเลย เช่น
เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ซึ่งหมายถึง การทำธุรกิจที่มีการแลกเปลี่ยน หรือแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เช่น Grab (แกร็บ) แพลตฟอร์มเรียก “รถโดยสาร” แกร็บไม่มีรถเป็นของตนเอง แต่เป็นตัวกลางในการให้ข้อมูลว่ามีใครที่ต้องการใช้บริการ และมีใครที่สามารถให้บริการได้บ้าง
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) หมายถึงการสร้างมูลค่าสินค้า หรือบริการที่เกิดจากความคิดของมนุษย์ และอาจนำไปผลิตสินค้าเป็น “อุตสาหกรรม สร้างสรรค์” (Creative Industry) เช่น Animation ในการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และโฆษณา
เศรษฐกิจแบบชั่วคราว (Gig Economy) มาจากคำแสลงในภาษาอังกฤษ Gig หมายถึงงานชั่วคราวของนักแสดง หรือวงดนตรีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ และเปลี่ยนไปเรื่อยๆไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง หรือ “ฟรีแลนซ์”
โดยผลสำรวจคนรุ่นใหม่ในช่วงอายุระหว่าง 18-65 ปี จำนวน 9,500 คนจากประเทศต่างๆทั่วโลก พบว่า 87% ของกลุ่มตัวอย่าง พร้อมที่จะทำงานแบบคนรุ่นใหม่ในอนาคต และมีบางคนระบุว่า ตนกำลังทำงานแบบคนรุ่นใหม่ ที่สำคัญมีจำนวนมากถึง 90% มีความสุขกับการทำงานแบบคนรุ่นใหม่
ขณะที่ในประเทศไทย สศช.นำผลสำรวจของ Fastwork ซึ่งเป็นเว็บไซต์บริการจัดหางานสำหรับฟรีแลนซ์และพนักงานประจำพบว่า แรงงานไทยมีลักษณะการทำงานแบบคนรุ่นใหม่มากกว่า 2 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นปีละ 300,000-600,000 คน
โดยเฉพาะคนเจเนอเรชันวาย (Y Generation) หรือ Gen-Y เกิดระหว่างปี 2524-2544 คนกลุ่มนี้เกิดมาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเตอร์เน็ต ทำให้ 1 ใน 3 ของคน Gen-Y มีแนวโน้มทำงานแบบ คนรุ่นใหม่สูงกว่าคนในกลุ่มอื่นๆ
โดยอาชีพที่ผู้ประกอบการหรือผู้ว่าจ้างนิยมจ้างบุคคลทำงานแบบคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย 4 อันดับแรก ได้แก่ กราฟิกดีไซน์ การตลาดออนไลน์และโฆษณา การทำเว็บและโปรแกรมมิง และงานเขียนและแปลภาษา
ดังนั้น การทำงานที่ชอบความอิสระ และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้ชอบความท้าทายและความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ทำให้โมเดลธุรกิจ กิจกรรมการตลาดและอื่นๆในขณะนี้ ต้องวางแผนและกำหนดเป้าหมายให้ตรงกับความต้องการ รสนิยมของผู้ซื้อให้มากที่สุด
อย่างธุรกิจบริการยอดฮิต “Delivery” เช่น แกร็บฟู้ด ฟู้ดแพนด้า หรือไลน์แมน ที่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์นั้น
ร้านที่เข้าร่วมต้องยินยอมเปิดช่องบริการพิเศษ เพื่อเอาใจลูกค้าหน้าใหม่แทนลูกค้าเก่าถือเป็นตัวอย่าง ฉายให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในวันนี้
ส่วนอนาคตเป็นอย่างไร ไม่สามารถคาดการณ์ได้.
วรรณกิจ ตันติฉันทะวงศ์