เรื่องจริงคนจนเสียภาษี มากกว่าเศรษฐี ชูไอเดียเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เรื่องจริงคนจนเสียภาษี มากกว่าเศรษฐี ชูไอเดียเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน

Date Time: 29 ก.ค. 2562 15:34 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • นักเศรษฐศาสตร์ เห็นใจรัฐบาลใหม่ใช้งบมาก แนะขยายฐานภาษีและเก็บเพิ่ม หลีกเลี่ยงวิกฤติคลัง ชงคิดภาษีจากฐานทรัพย์สิน เพื่อความเป็นธรรม หลังชนชั้นกลาง-คนรายได้น้อย แบกรับภาระภาษีมากกว่าคนรวย

Latest


นักเศรษฐศาสตร์ เห็นใจรัฐบาลใหม่ใช้งบมาก แนะขยายฐานภาษีและเก็บเพิ่ม หลีกเลี่ยงวิกฤติคลัง ชงคิดภาษีจากฐานทรัพย์สิน เพื่อความเป็นธรรม หลังชนชั้นกลาง-คนรายได้น้อย แบกรับภาระภาษีมากกว่าคนรวย

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลใหม่ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จำเป็นต้องขยายฐานภาษีและเก็บภาษีเพิ่ม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลัง โดยเสนอเพิ่มเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน ภาษีธุรกรรมออนไลน์ และทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อไม่กระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลางซึ่งแบกรับภาระภาษีมากอยู่แล้ว

“เมื่อเทียบสัดส่วนรายได้ มีความเข้าใจผิดว่าคนจนเสียภาษีน้อย หรือไม่เสียภาษี จริงๆแล้วคนจนนั้นเสียภาษีมากอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับรายได้ที่เขาได้รับ การจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้หรือภาษีเงินได้และฐานการบริโภคหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีระบบข้อมูลที่ดีและมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดเก็บได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้สัดส่วนภาษีต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ประมาณ 17-19% เท่านั้น เศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่ ไทยมีฐานภาษีแคบ ผู้ที่อยู่ในระบบภาษีมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบบภาษี ผู้ที่เสียภาษีอยู่ต้องแบกรับภาระมากเกินไป สัดส่วนของภาษีต่อจีดีพีของประเทศต่ำกว่าประเทศอื่นที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน ในส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทจำกัดขนาดกลางและขนาดเล็กต้องจ่ายภาษีมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่โดยสัดส่วนรายได้ เพราะรัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทขนาดใหญ่มากกว่า รวมทั้งกลุ่มทุนข้ามชาติด้วย เช่น สิทธิประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“ผู้มีรายได้สูงหรือมีฐานะร่ำรวยได้ประโยชน์จากสังคมและระบบเศรษฐกิจมาก ย่อมมีหน้าที่ต้องสละรายได้ให้แก่สังคมในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้มีรายได้น้อย เพื่อนำรายได้มาเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศและนำไปจัดสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย ระบบภาษีในประเทศไทยขณะนี้มีผลให้ผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลางต้องเสียภาษีมากกว่าคนที่มีฐานะร่ำรวย เมื่อเทียบสัดส่วนของรายได้”

นอกจากนี้ระบบภาษีของไทยยังมีข้อกำหนดเรื่องการลดหย่อนจำนวนมากและสลับซับซ้อน ไม่มีการเสียภาษีส่วนต่างของราคาทรัพย์สิน (Capital-gain Tax) ภาษีมรดกก็จัดเก็บไม่ค่อยได้ ฐานข้อมูลการถือครองทรัพย์สินไม่สมบูรณ์และไม่สามารถบูรณาการข้อมูลทรัพย์สินได้ทั้งระบบ

อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาและในอนาคต มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและระบบคมนาคมจำนวนมาก การเก็บภาษีลาภลอยมีความจำเป็นและต้องมุ่งเป้าหมายไปที่การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การขยายฐานรายได้ภาษี มีการจัดเก็บภาษีตามประโยชน์จากการลงทุนของรัฐที่ได้รับอย่างเป็นธรรม ในเบื้องตันจะมีการจัดเก็บภาษีลาภลอยจากบุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดิน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่

พร้อมย้ำว่าการเก็บภาษีลาภลอยจะช่วยสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจเพราะเป็นการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐ สังคมไทยนั้นอาจจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อภาครัฐในการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ไม่สูงนัก จึงไม่เอื้อให้ประชาชนยินดีจ่ายภาษีมากนัก ทั้งที่การเสียภาษีเป็นหน้าที่และผู้จ่ายภาษีมีส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศ ดังนั้นรัฐบาลควรทำประมาณการรายได้จากภาษีลาภลอย เพื่อสามารถวางแผนงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ดีขึ้น โดยสามารถลดการกู้เงินในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น โครงการระบบราง ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ เป็นต้น

ขณะเดียวกันหน่วยงานจัดเก็บภาษีควรดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายได้จากภาษีลาภลอยควรแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่ง มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้บำรุงรักษาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในพื้นที่ อีกส่วนหนึ่ง เก็บรายได้เข้ารัฐบาลกลางเพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในพื้นที่ซึ่งยังไม่มีการพัฒนา เพื่อให้ความความเจริญทางเศรษฐกิจและการพัฒนากระจายตัวไปยังพื้นที่ชนบท ไม่กระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล

“การเก็บภาษีแบบนี้เป็นไปตามหลักผลประโยชน์ คือ บุคคลหรือนิติบุคคล ควรจะจ่ายเงินให้รัฐในส่วนที่ได้ประโยชน์จากการลงทุน หรือการใช้จ่ายของรัฐ และหลักการนี้ยังอ้างอิงความเท่าเทียม คือ การใช้ประโยชน์จากบริการของรัฐ โดยคิดว่าการบังคับเก็บภาษีจากผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์ไม่น่าจะเป็นธรรม และภาษีลาภลอยนี้ก็ควรดูหลักความสามารถที่จะจ่าย ด้วยการปรับโครงสร้างภาษี หรือการปฏิรูปภาษีต้องเป็นกระบวนการเปิดเผยและให้เกิดการมีส่วนร่วม เพื่อให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ตรวจสอบถ่วงดุลกันเองผ่านกลไกรัฐสภา”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ