หลังจาก พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ประกอบกับการแก้ปัญหาหวยแพง ของภาครัฐยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
โดยที่ผ่านมา แม้จะมีการเพิ่มจำนวนการพิมพ์สลากมาต่อเนื่อง จนในปัจจุบันอยู่ที่ 90 ล้านฉบับต่องวด และมีการรวมชุดสลากออกมาแล้วก็ตาม แต่การขายสลากเกินราคาก็ยังเป็นปัญหาที่ยังเห็นได้ในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ขณะที่ล่าสุด สำนักงานมีมติเพิ่มการพิมพ์สลากขึ้นเป็น 100 ล้านฉบับต่องวด ในงวดวันที่ 1 ส.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ที่ไม่สามารถ “การันตี” ได้ว่า ราคาสลากจะกลับมาขายที่ 80 บาทต่อฉบับได้
“การออกสลากแบบใหม่” รวมทั้งการรื้อฟื้น “หวยบนดิน 2 ตัว และ 3 ตัว” ซึ่งประสบความสำเร็จมากในช่วงที่ผ่านมา จึงกลายมาเป็น “ประเด็นใหม่” ที่ถกเถียงกันในสังคมไทยอีกครั้งว่าจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่
โดยเฉพาะเมื่อสำนักงานสลากฯ ระบุว่า พ.ร.บ.สลากฯใหม่เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ สำนักงานสลากฯออก “เกมขายหวย” ในรูปแบบใหม่ๆได้
ส่งผลให้ “คนไทยจำนวนมาก” รอคอยการออกสลากใหม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด และจะประสบความสำเร็จถูกใจ “คอหวย” เหมือนหวยบนดิน 2 ตัวและ 3 ตัวหรือไม่ “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ “พชร อนันตศิลป์” อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อตอบคำถามร้อนๆ คำถามนี้...
ทั้งนี้ ก่อนที่จะอ่านบทสัมภาษณ์ของ “ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลถึงแนวทางการดำเนินการครั้งใหม่นี้ ” “ทีมเศรษฐกิจ” ขอย้อนรอย “โครงการสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว” หรือ หวยบนดิน 2-3 ตัว ในสมัยรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการออกสลาก หรือเกมใหม่ๆ ที่ประสบความสำเร็จของไทย
“หวยบนดิน” เริ่มออกครั้งแรกในวันที่ 1 ส.ค.2546 มีวัตถุประสงค์ของการออกสลากเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวในช่วงนั้น เพราะรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาใหญ่ที่สุด คือ “การปราบปรามผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และเจ้ามือหวยใต้ดิน” ทำให้นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานสำนักงานสลากฯ นายชัยวัฒน์ พสกภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯในขณะนั้น รวมทั้งนายวราเทพ รัตนากร รมช.คลัง ในฐานะที่กำกับดูแล ตัดสินใจนำ “โครงการสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว” เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
นโยบายของการออกหวยบนดินมุ่งที่จะแข่งขันกับเจ้ามือหวยใต้ดิน ชูสโลแกนเด็ด “ไม่หนี ไม่เบี้ยวและจ่ายเต็ม” ทำการตลาดแบบหักคอเจ้ามือหวยใต้ดิน แถมยังซื้อง่าย ผ่านระบบออนไลน์หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ทันที โดยเกมแบบเดียวกันกับหวยใต้ดิน คือ หากถูก 3 ตัวตรง จ่ายบาทละ 500 บาท รางวัล 3 ตัวโต๊ดบน บาทละ 100 บาท และเลขท้าย 2 ตัว บน-ล่าง จ่ายบาทละ 70 บาท
เกมดังกล่าวถูกใจประชาชนและคอหวยอย่างมากถึงขั้นเลิกซื้อหวยใต้ดิน ส่งผลให้เจ้ามือหวยใต้ดินหลายเจ้าต้องปิดตัวไป ราคาสลาก กินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ในช่วงนั้น จากขายแพงลิบลิ่วคู่ละ 100-120 บาท ลดราคาขายเหลือคู่ละ 80 บาท และบางงวดขายคู่ละ 70-75 บาท ต่ำกว่าทุนก็เคยเกิดขึ้นแล้ว!
อย่างไรก็ตาม หวยบนดินออกได้เพียง 80 งวดเท่านั้น ตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค.2546 ถึงงวดวันที่ 16 พ.ย.2556 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 123,000 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานได้กำไร 73 งวด และผลขาดทุน 7 งวด เบ็ดเสร็จได้กำไรสุทธิประมาณ 30,000 ล้านบาท นำไปใช้จ่ายในโครงการด้านการศึกษา “หนึ่งทุนหนึ่งอำเภอ” และทุนอื่นๆของกระทรวงศึกษาธิการประมาณ 16,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือประมาณ 14,000 ล้านบาท นำส่งคลัง
ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้อง “ยกเลิก” ห้ามจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว เป็นเพราะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ที่บังคับใช้ในขณะนั้น ยังไม่เอื้ออำนวยให้สำนักงานสลากฯ ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวได้ ในที่สุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินว่า “หวยบนดิน” เป็นการดำเนินการที่ขัดกับกฎหมาย เพราะหวยบนดินกำหนดจ่ายเงินรางวัล 3 ตัวตรง สูงถึงบาทละ 500 บาท และ 2 ตัวบน-ล่าง ที่บาทละ 70 บาท เป็นการ “กินรวบ” ไม่ใช่ “กินแบ่ง” ตามที่กฎหมายกำหนด
ทำให้การออกหวยบนดิน “ยุติ” ไปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา!!
กลับมาที่ปี 2562 นายพชร เล่าที่มาของการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สำนักสลากฯ สามารถที่จะออกเกมใหม่ๆได้โดยไม่มีปัญหาซ้ำรอยกับหวยบนดิน 2-3 ตัวที่ผ่านมาว่า “ตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่สำคัญต้องการแก้ไขปัญหาสลากขายเกินราคา จึงเป็นที่มาของการแก้ไข พ.ร.บ. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 โดยมีสาระสำคัญคือ คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลสามารถพิจารณาออกเกมสลากรูปแบบใหม่ได้”
แนวคิด “การออกสลากรูปแบบใหม่” จึงถูกนำมาปัดฝุ่น อีกครั้ง เพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ให้กับประชาชนขึ้น ขณะเดียวกันก็มองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่จะเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล ขณะที่อีกวัตถุประสงค์หนึ่งคือ ต้องการดึงคนที่เล่นหวยเถื่อน หรือการพนันที่อยู่ใต้ดิน
เช่น หวยใต้ดิน พนันออนไลน์ หวยหุ้น หวยจากประเทศเพื่อนบ้าน กลับเข้ามาเล่นในระบบ ซึ่งถ้าสามารถทำได้จะทำให้มีเงินเข้าคลังจำนวนมาก นอกจากนั้น การสร้างเกมใหม่ขึ้นมายังส่งผลทางอ้อมให้ราคาสลากเดิมที่เป็นกระดาษลดลง และสามารถขายตามราคาหน้าสลากที่ 80 บาทต่อฉบับได้
อย่างไรก็ตาม นายพชรยืนยันว่า “การออกสลากรูปแบบใหม่จะแตกต่างจากยุค “ทักษิณ” อย่างสิ้นเชิง ผมจะไม่ออกสลากย้อนรอยอดีต ไม่กลับไปทำสลากแบบเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว เกมใหม่ที่จะออกมาหน้าตาจะไม่เหมือนของเดิม กติกาทุกอย่างจะเป็นรูปแบบใหม่ทั้งหมด แต่จะออกเป็นรูปแบบใดนั้นยังฟันธงไม่ได้ แต่ความน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ สลากรูปแบบตัวเลข ได้แก่ ลอตโต้ เพราะเป็นสลากที่ได้รับความนิยมทั่วโลก และมีการสะสมเงินรางวัลทบต้นทบดอก ทำให้มีมูลค่าสูง”
เกมรูปแบบใหม่ๆ ที่สำนักงานสลากฯกำลังศึกษาอยู่ขณะนี้ จะถือเป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง และธรรมชาติของเกม ถ้าไม่มี รางวัลโบนัส และรางวัลพิเศษก็จะไม่มีแรงจูงใจในการซื้อ เสน่ห์ของเกมใหม่ที่จะออกมาจึงจะมี “รางวัลพิเศษ” หรือรางวัลแจ็กพอต ในลักษณะของสะสมเงินรางวัลเต็มได้หนึ่งงวด และ 50% อีกหนึ่งงวด
หมายความว่า สำนักงานสลากฯ จะสามารถนำเงินรางวัลที่ไม่มีคนถูกรางวัลในงวดที่ 1 ไปสมทบต่อในงวดที่ 2 ทำให้เงินรางวัลเพิ่มขึ้น 1 เท่า และหากในงวดที่ 2 ยังไม่มีคนถูกรางวัลอีก จะยกไปสมทบในงวดที่ 3 ในสัดส่วน 50% ขณะที่ส่วนที่เหลืออีก 50% จะนำส่งคืนคลัง หากงวดที่ 3 รางวัลแจ็กพอตยังไม่แตกอีก สำนักงานสลากฯอาจจะบังคับแตกก็ได้
โดย “เกมใหม่” ที่จะออกมานี้ คาดว่าจะดึงรายได้ จากการพนันนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบได้ประมาณเกมละ 50,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้คาดว่าจะนำรายได้ส่งคลังประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งยังถือว่าเป็นเม็ดเงินน้อยมากเมื่อเทียบกับผลสำรวจของสำนักงานสลากฯ ที่ระบุว่า มีเงินหมุนเวียนในหวยใต้ดิน 300,000-500,000 ล้านบาท
ดังนั้น ในอนาคต สำนักงานสลากฯ อาจออกสลากรูปแบบใหม่ มากกว่า 1 เกมก็เป็นได้ เพื่อดึงเงินจากหวยนอกระบบเหล่านี้ให้เข้ามาอยู่ในระบบ และบริหารจัดการรายได้ส่วนหนึ่งจัดสรรให้กับองค์กรการกุศลและคนพิการ โดยที่คนเหล่านี้ไม่ต้องมาขายสลากเอง
ส่วนกรณีที่สลากรูปแบบใหม่ จะยิ่งเพิ่ม “การมอมเมาเยาวชน” นั้น อยากให้ทุกฝ่ายสบายใจ เพราะวิธีการซื้อขายใหม่ “สามารถควบคุมอายุของคนซื้อได้” โดยกำหนดวิธีการซื้อ จะต้องดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ซึ่งแอปพลิเคชันจะสามารถแสดงสถานะของบุคคลที่จะซื้อ ซึ่งทำให้สำนักงานสลากฯสามารถควบคุมคนที่จะเข้ามาเล่นได้ ซึ่งปัจจุบันกำหนดบุคคลที่จะซื้อสลากใหม่ได้ต้องบรรลุนิติภาวะ หรือต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป
“บุคคลที่จะเข้ามาใช้แอปฯ ต้องลงทะเบียนโดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น ซึ่งระบบจะบันทึกข้อมูล แสดงสถานะบุคคลในการซื้อ รวมทั้งการซื้อผ่านแอปฯ จะสามารถกำหนดจำนวนผู้ซื้อได้ และตรวจสอบสถานะทางการเงินได้ เพื่อดูว่าเหมาะสมที่จะเล่นเกมหรือไม่ วิธีนี้จะคัดกรอง ผู้ที่มีคุณสมบัติและวุฒิภาวะในการเล่มเกมได้”
ขณะที่รางวัลของสลากรูปแบบใหม่อาจจะออกรางวัลอาทิตย์ละ 1 ครั้ง หรือออกรางวัลทุกวันที่ 10 และ 20 ของเดือน เพื่อเพิ่มความถี่ในการเล่นเกมให้มากขึ้น ขณะที่จำนวนเงินรางวัลสูงสุดจะเป็นเท่าไรนั้น จะต้องดูยอดการซื้อแต่ละงวดเพื่อนำมาคำนวณเงินรางวัลในแต่ละครั้งในลักษณะเดียวกับการออกลอตโต้ในต่างประเทศ โดยจะจัดสรรแบบกินแบ่ง แบ่งเป็นเงิน รางวัล 60% รายได้นำส่งคลัง 23% และอีก 17% เป็นค่าบริหารจัดการ
โดยจะไม่จ่ายเงินรางวัลเกินกว่าจำนวนที่สำนักงานสลากฯขายได้ในแต่ละงวด แตกต่างจากสลาก “กินรวบ” ของหวยใต้ดิน คือ กินมาก่อนทั้งหมดแล้วจ่ายคืนเมื่อถูกรางวัล!!
เนื่องจากหลักการสำคัญ คือ “การกินแบ่ง” ซึ่งจะกำหนดรางวัลชัดเจนภายใต้สัดส่วนที่กำหนด ซึ่งถือเป็นวิธีที่เป็นธรรมที่สุด ทั้งกับผู้ซื้อ และผู้ขาย วิธีนี้จึงไม่ใช่การเล่นพนัน 100% แต่เป็นการเล่นเกมร่วมกัน โดยมีสำนักงานสลากฯเป็นตัวกลาง กำหนดกติกากลางขึ้นมาต่างจาก “สลากกินรวบ” ที่คนได้ประโยชน์จะเป็นเจ้ามือคนเดียว ซึ่งเป็น “การพนัน”
ส่วนปัญหาใหญ่ของสลากคือ ราคาแพง หรือยังมีการขายเกินราคาฉบับละ 80 บาทนั้น สำนักงานสลากฯได้ดำเนินการแก้ปัญหาด้วยวิธีการ ต่างๆมาโดยตลอด เช่น การยกเลิกโควตานิติบุคคล การเพิ่มโควตาให้องค์กรการกุศลและคนพิการ การลงทะเบียนผู้ค้าสลากตัวจริง การยกเลิกรางวัลแจ็กพอต 30 ล้านบาท เพิ่มรางวัลนำจับสำหรับคนขายเกินราคาเป็น 1,000 บาท เพิ่มโทษคนขายเกินราคาเป็น 10,000 บาท เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม สามารถแก้ปัญหาสลากราคาแพงได้บางส่วนเท่านั้น
ปัจจุบันสำนักงานสลากฯ ได้จัดทำสลากรวมชุด (คละเลข) แบบ 2-2-1 จำนวน 5 เล่ม คือ เล่มสลากที่พิมพ์เหมือนกัน 2 เล่มคู่ และ 1 เล่มเดี่ยว เพื่อป้องกันผู้ค้ารวมชุดสลาก จากเดิมที่มีการรวบเลขได้มากกว่า 30 ชุด ลดลงเหลือ 2 ชุด หรือสูงสุดไม่เกิน 15 ชุด
จากผลการดำเนินการดังกล่าว ที่ถือว่าประสบความสำเร็จได้ดีระดับหนึ่ง ทำให้เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลได้เพิ่มเพดานการพิมพ์สลากจาก 90 ล้านฉบับ เป็น 100 ล้านฉบับ หรือเพิ่มขึ้นอีก 10 ล้านฉบับ เพื่อเติมสลากชุด 2-2-1 ในตลาดให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ขายสลากลดการซื้อสลากรวมชุดจากพ่อค้าคนกลาง ที่เป็นสาเหตุให้ต้นทุนสลากที่รับซื้อมาเป็นทอดๆสูงขึ้น และทำให้มีโอกาสที่ราคาสลากในตลาดลดลงมาอยู่ที่ใบละ 80 บาทได้
ขณะที่การเพิ่มขึ้นของจำนวนสลากจะเป็นการลดโอกาสถูกรางวัลของคนซื้อหวยหรือไม่นั้น นายพชร กล่าวว่า “แม้จะเพิ่มปริมาณสลาก แต่โอกาสถูกรางวัลยังคงเป็น 1 ใน ล้านฉบับ หรือ 0.0001% เหมือนเดิม เพราะมีโอกาสถูกรางวัลที่ 1 เพียง 1 รางวัล ดังนั้น หากมีสลาก 100 ล้านฉบับก็มีโอกาสถูกรางวัลที่ 1 จำนวน 100 ฉบับ”
ขณะเดียวกัน การออกสลากรูปแบบใหม่ก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้ราคาสลากลดลงได้ เนื่องจากจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายพชร ยืนยันทิ้งท้ายว่า แม้จะมีสลากรูปแบบใหม่ แต่จะทำควบคู่ไปกับการออกสลากใบเช่นเดิมและไม่ให้แย่งลูกค้าสลากกันแน่นอน เนื่องจากสลากรูปแบบใหม่จะมี “เงินรางวัลไม่สูงกว่าสลากใบ”
“สลากแบบใหม่จะเป็นเหมือนรายได้เสริม เป็นไปไม่ได้ที่จะปล่อยให้รางวัลของเกมใหม่สูงกว่าสลากใบ ที่ถือเป็นอาชีพหลัก ผมจะไม่ยอมเอาของใหม่มาแลกกับของเก่า ผมไม่กล้าเสี่ยงขนาดนั้น สำนักงานสลากฯผลิตสลากใบมาแล้ว 80 ปี ผมจะกล้าเอาของใหม่มาทดแทนในระยะเวลา 1-2 ปี เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว”.
ทีมเศรษฐกิจ