หากกล่าวถึง 'จิม ทอมป์สัน' Jim Thompson หลายคนก็คุ้นเคยกับภาพจำของแบรนด์ผ้าไหมไทยสุดอมตะที่ใช้ชื่อตามผู้ก่อตั้งชาวอเมริกัน สินค้าไทยและแลนมาร์กดึงดูดนักท่องเที่ยว พร้อมกับสงสัยว่าตกลงแล้ว จิม ทอมป์สัน คือใคร? เป็นของไทยหรือของฝรั่ง? ดีไซน์หน้าตาผ้าไหมไทยในปัจจุบันเป็นเหมือนที่เราคิดหรือไม่
แบรนด์ จิม ทอมป์สัน เริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1951 โดย จิม ทอมป์สัน หรือ นายเจมส์ แฮร์ริสัน วิลสัน (James Harrison Wilson) ชายผู้คลั่งไคล้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสน่ห์ของประเทศไทย ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “King of Thai Silk” ราชาผ้าไหม ผู้ยกระดับกิจการทอผ้าพื้นเมืองของไทย
แม้เรื่องราวการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของ จิม ทอมป์สัน ในปี 1967 จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกเล่าควบคู่กันมากับการดำรงอยู่ของแบรนด์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิสัยทัศน์การณ์ไกลทางธุรกิจของเขาได้สร้างแบรนด์อมตะขึ้น ทำให้แบรนด์นี้เต็มไปด้วยเรื่องราวยากจะเลียนแบบ แถมยังฝากฝังเป้าหมายของแบรนด์มายังปัจจุบัน
จิม ชายหนุ่มชาวอเมริกันจากรัฐเดลาแวร์ ผู้สนใจงานศิลปะและศึกษาต่อด้านสถาปนิก ระหว่างนั้นในปี 1924 เกิดสงครามในยุโรปขึ้น จิมตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังป้องกันชาติ และถูกชักชวนให้เข้าร่วมหน่วยสืบสวนราชการลับ หรือ O.S.S (Office of Strategic Services) หรือ CIA (Cental intelligenct Agency) ในปัจจุบันนั่นเอง
จิมได้รับอิทธิพลหลักจากคุณปู่ที่เป็นนายพลแห่งกองทัพสหรัฐฯ และเดินทางประจำการทั่วโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียใต้ ทำให้จิมมีความสนใจใคร่รู้ในเรื่องภาษา ประวัติศาสตร์ และฝันที่จะเดินทางไปยังดินแดนอีกฟากหนึ่งของโลก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จิมได้รับภารกิจโดดร่มมายังประเทศไทย เพื่อต่อต้านกองกำลังญี่ปุ่น แต่สงครามกลับสิ้นสุดลงก่อน และต่อมาก็ได้ปลดประจำการจากกองทัพในปี 1946 และใช้ชีวิตอยู่ต่อในประเทศไทย
ช่วงแรกจิมได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าสถานียุทธศาสตร์ในกรุงเทพฯ ก่อนได้งานปรับปรุงโรงแรมโอเรียนเต็ลกรุงเทพฯ ก่อนที่จะเดินทางไปยังภาคอีสาน และพบกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไหมในครัวเรือน ที่ถือเป็นจุดสตาร์ตของเรื่องราวทั้งหมด หากถามว่า จุดเชื่อมโยงกับสิ่งทอเกิดขึ้นตอนไหน ต้องบอกว่า จิมเติบโตมาในบ้านที่ร่ำรวยจากธุรกิจสิ่งทอโดยพ่อของเขา เฮนรี เบอร์ลิง ทอมป์สัน (Henry Burling Thompson) นั่นเอง
จิมเดินทางศึกษาวัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิตตลาดผ้าไหมไทยทั่วประเทศ และค้นพบความงามของผ้าไหมไทยทอมือ ซึ่งแตกต่างจากผ้าไหมที่ผลิตจากเครื่องจักร เพราะขณะนั้นคนเริ่มนิยมการทอผ้าด้วยเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนถูกกว่า ซึ่งช่างทอผ้าที่ยังคงปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ย้อมด้าย และทอผ้าเอง เหลือเพียงไม่กี่ราย
ทำให้เกิดความสนใจอย่างจริงจังที่จะฟื้นฟูกิจการทอผ้าของไทยก่อนจะถึงจุดจบ โดยจิมเลือกปักหลักอยู่ที่ชุมชนบ้านครัว ริมคลองแสนแสบในเขตปทุมวัน ที่มีกลุ่มชุมชนเก่งเรื่องทอผ้าไหม และก่อตั้ง ‘บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด’ ขึ้น
จิมเริ่มต้นธุรกิจด้วยการรับซื้อผ้าไหมจากชาวบ้านที่ทอผ้าเองโดยตรงมาขายในนามของ ‘จิม ทอมป์สัน’ โดยผ่านการส่งเสริมสนับสนุนจากเขาเอง ที่คอยให้คำแนะนำ ตรวจสอบผ้า สอนธุรกิจ หาตลาดทั้งในและนอกประเทศ พร้อมกับส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยจิมนำผ้าไหมไทยไปเผยแพร่ในสหรัฐฯ ให้กับสื่อนิตยสารชื่อดังหลายเจ้าอย่าง Vogue และ Vaniy Fair สร้างพื้นที่ให้กับความงามของผ้าไหมไทยบนเวทีระดับโลกหลายครั้งจนผ้าไหมไทยเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากนักออกแบบตกแต่งภายใน ช่างออกแบบเสื้อผ้า กระทั่งช่วงทศวรรษ 1960 ผ้าไหมไทยก็เริ่มเป็นที่ชื่นชอบในระดับสากล
แน่นอนว่าช่างทอผ้ากว่า 500 คน ในชุมชนมีฐานะที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้ธุรกิจผ้าไหมไทยเจ้าอื่นๆ ก็เริ่มสดใสขึ้นด้วยเช่นกัน
"พอเริ่มต้นได้ พวกเขาก็รู้ว่าสามารถทำรายได้จากการทำทำในแนวทางที่ถูกต้อง แม้ว่าบริษัทผ้าไหมไทยจะเริ่มด้วยเงินทุนค่อนข้างน้อย แต่กลับกลายเป็นข้อดี ในเมื่ออุตสาหกรรมนี้มีขนาดการผลิตที่ง่ายต่อความเข้าใจของช่างทอผ้า คนไทยจะทำงานหากพวกเขามีเหตุผล ควรเริ่มต้นขนาดเล็กๆก่อน อย่าเริ่มต้นด้วยโครงการใหญ่โตในครั้งแรก ที่เกินกว่าชาวบ้านจะมองออก"- จิม ทอมป์สัน
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน จิม ทอมป์สัน ปรับภาพลักษณ์แบรนด์อายุ 70 ปีให้มีภาพลักษณ์สดใหม่อีกครั้ง ด้วยการทำให้ผ้าไหมจิม ทอมป์สัน ล้ำสมัยขึ้นด้วยนวัตกรรม 'Easy Care Silk' ผ้าไหมซักได้ที่สามารถใส่เครื่องซักผ้าและรีดได้ด้วย ปรับรูปแบบสู่ ชุดผ้าไหม 'Ready-to-wear' สร้างภาพจำทันสมัย ลบภาพผ้าไหมโบราณดูแลยาก เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนเมืองในยุคปัจจุบัน
ในปี 2022 เป็นต้นมา จิม ทอมป์สัน เริ่มต้นปรับโฉมครั้งใหญ่ ทั้งภาพลักษณ์ร้านค้าสมัยใหม่ ปรับแผนธุรกิจสู่การเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ สร้างแหล่งท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์เดสติเนชันอย่าง Jim Thompson Heritage Quarter ที่ตั้งเดิมของ Jim Thompson House ที่ติดท็อปไฟว์สถานที่ท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ อีกด้วย
แฟรงก์ แคนเซลโลนี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มคนปัจจุบันที่มีเป้าหมายสานต่อให้ จิม ทอมป์สัน เป็นแบรนด์ลักชัวรี่จากฝั่งเอเชียที่ได้รับการยอมรับ ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘Beyond Silk’ ที่ทำให้แบรนด์ไปไกลกว่าการเป็นแบรนด์ผ้าไหมไทย ที่ไม่ได้เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์เก็บของโบราณ หรือขายผ้าไหมเหมือนในอดีตเท่านั้น
“แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ทรงอิทธิพลอย่าง ราล์ฟ ลอว์เรน (Ralph Lauren) หรือในฝั่งยุโรปเอง แบรนด์ จอร์จีโอ อาร์มานี (Giorgio Armani) ที่ต่อยอดจากธุรกิจแฟชั่นสู่ไลฟ์สไตล์ด้านอื่นๆ ทั้งของแต่งบ้าน ร้านอาหาร และโรงแรม มองกลับมาที่แบรนด์ จิม ทอมป์สัน ล้วนมีองค์ประกอบที่ครบถ้วนและมีศักยภาพก้าวเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ระดับโลกจากฝั่งเอเชีย”
ปัจจุบัน จิม ทอมป์สัน ประกอบ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจแฟชั่นผ้าไหม (Fashion) ที่กินสัดส่วนถึงสองในสามของรายได้ทั้งหมด ธุรกิจสินค้าผ้าตกแต่งบ้าน (Home Furnishing) อาทิ ผ้าตกแต่งผนัง ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ และผ้าปักประเภทต่างๆ ผ่านการออกแบบและผลิตขั้นสูงจากแบรนด์ และธุรกิจบริการ (Hospitality) ที่รวมร้านอาหารไทยร่วมสมัย คาเฟ่และบาร์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักต่อไปจากนี้
เป็นผู้ผลิต-จัดจำหน่าย เสื้อผ้าแฟชั่น ผ้าไหม และผ้าตกแต่งบ้าน รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีโชว์รูมจำหน่ายสินค้ากว่า 40 แห่งทั่วโลก มีเครือข่ายจัดจำหน่ายสินค้าผ้าตกแต่งของ จิม ทอมป์สัน อยู่ในกว่า 60 ประเทศ ตั้งบริษัทในเครือในต่างแดนถึง 2 แห่ง ได้แก่ Jim Thompson US และ Jim Thompson UK เพื่อตีตลาดยุโรปและตะวันออกกลาง โดยมีกำลังผลิตหลักๆ ในประเทศไทย ควบคุมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำวิจัย และทอผ้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ก่อตั้งพื้นที่แสดงศิลปะ The Jim Thompson Art Center จัดแสดงนิทรรศการ ภาพศิลปะ และ Jim Thompson Farm ที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมาที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกปีอีกด้วย