ความเข้าใจโดยทั่วไปเกี่ยวกับระบบดาวเคราะห์ก็คือมีดาวฤกษ์แม่ อาจจะ 1 ดวงหรือ 2 ดวง ถูกโคจรรอบด้วยดาวเคราะห์หรือวัตถุอื่นๆ อย่างในระบบสุริยะของเราก็มีบรรดาดาวเคราะห์และวัตถุอื่นๆ โคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่ก็มีระบบดาวอีกชนิดหนึ่งที่หาได้ยากนั่นคือระบบดาว 3 ดวง และยังไม่เคยมีการค้นพบดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ 3 ดวง
ทว่าเมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเนวาดา ในนครลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา เผยว่า อาจสามารถระบุถึงดาวเคราะห์ดวงแรกที่โคจรรอบดาวฤกษ์ 3 ดวงได้ หลังจากใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุอัลมาอันทรงพลัง ที่สำหรับศึกษาวัตถุท้องฟ้าในช่วงความยาวคลื่นระดับมิลลิเมตรไปจนถึงต่ำกว่ามิลลิเมตร ตั้งอยู่ในชิลี วิเคราะห์ 3 วงแหวนฝุ่นก๊าซหรือจานฝุ่นก๊าซ ที่สังเกตพบรอบระบบไตรดาราที่ชื่อ GW Orionis ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวนายพราน ซึ่ง GW Orionis นั้นเป็นระบบดาวฤกษ์ 3 ดวง ที่อยู่ในวงแหวนที่มีความเอียง
จากการสร้างแบบจำลองที่ครอบคลุมของ GW Orionis นักดาราศาสตร์พบความเป็นไปได้ว่าพื้นที่ในจานฝุ่นก๊าซนั้นจะมีดาวเคราะห์มวลมากตั้งแต่หนึ่งดวงขึ้นไปแต่มองไม่เห็น ซึ่งคาดว่าจะสังเกตการณ์เพิ่มเติมจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุอัลมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อาจให้หลักฐานโดยตรงของปรากฏการณ์นี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะจะทำให้ทฤษฎีการก่อตัวดาวเคราะห์มีน้ำหนักแข็งแรงมากขึ้น.
(ภาพประกอบ Credit : ALMA (ESO/NAOJ/NRAO), ESO/Exeter/Kraus et al.)