การค้นหาสิ่งมีชีวิตในอวกาศนั้นมักจะเน้นไปที่โซนหรือเขตที่สิ่งมีชีวิตจะอาศัยอยู่ได้ นั่นก็คือพื้นที่รอบดาวฤกษ์ที่มีดาวเคราะห์ โคจร และดาวเคราะห์เหล่านั้นน่าจะมีมหาสมุทรของเหลวซึ่งเป็นปัจจัยของสิ่งมีชีวิต ระบบดาวที่ถูกให้ความสนใจคือระบบดาวแทรพพิสต์วัน (Trappist-1) ที่มีดาวเคราะห์ 7 ดวงโคจรรอบดาวฤกษ์ คล้ายกับระบบสุริยะของเรา โดยค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2560
ระบบดาวแทรพพิสต์-วัน เชื่อกันว่ามีดาวเคราะห์คล้ายโลก 3 ดวงตั้งอยู่ในเขตเอื้ออาศัยได้ของสิ่งมีชีวิต แต่ก็เกิดความสงสัยว่าทำไมแทรพพิสต์-วันจึงมีดาวเคราะห์ที่เอื้ออาศัยอยู่ได้จำนวนหลายดวง ต่างจาก ระบบสุริยะของเราที่มีดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ทีมนักชีวดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ ในสหรัฐอเมริกาพยายามไขข้อสงสัยด้วยการสร้างระบบจำลองดาวเคราะห์ขนาดต่างๆ ที่โคจรรอบดวงดาว เพื่อศึกษาแรงดึงดูดและทดสอบว่าดาวเคราะห์มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไรในเวลาหลายล้านปี
การศึกษาใหม่แสดงให้เห็นว่าระบบดาวอื่นๆ อย่างแทรพพิสต์-วัน อาจมีดาวเคราะห์คล้ายโลกมากถึง 7 ดวง ในกรณีที่ระบบดาวไม่มีดาวก๊าซยักษ์อย่างดาวพฤหัส เพราะดาวพฤหัสมีผลกระทบอย่างมากต่อระบบสุริยะ เนื่องจากมีขนาดใหญ่และรบกวนวงโคจรของดาวดวงอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีการระบุว่าถึงระบบดาวเบตา ซีวีเอ็น (Beta CVn) อยู่ห่างออกไป 27 ปีแสง และไม่มีดาวเคราะห์คล้ายดาวพฤหัสอาศัยอยู่ ระบบดาวแห่งนี้ถูกจัดอยู่ในรายชื่อที่ต้องตรวจสอบว่ามีดาวเคราะห์ที่ตั้งในโซนอาศัยอยู่ได้จำนวนกี่ดวง.
(Credit ภาพ : NASA/JPL-Caltech)