อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
โยนเรื่องทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ กทช.แนะควรทำให้เร็วที่สุด เพราะสำคัญกระทบความมั่นคงประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจ...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานกิจกรรมเนื่องในโอกาสคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.ครบรอบ 5 ปี (1ต.ค.2552) พร้อมกันนี้ ยังได้ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ บทบาทขององค์กรอิสระต่อการพัฒนาประเทศ โดยย้ำให้ กทช.ดำเนินการเรื่องมือถือระบบ 3จี (การให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3) และไวแม็กซ์ (การให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง) อย่างเร่งด่วน ในฐานะองค์กรอิสระ
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า นายกรัฐมนตรี ยังระบุอีกว่า ขณะเดียวกันเรื่องนี้ ประเด็นที่ท้าทายสำหรับ กทช.และเป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้าต่อ ถ้าไม่เดินหน้าจะมีความสูญเสียมากกว่า นอกจากนี้ ยังระบุถึงสมัยที่เป็นฝ่ายค้าน และได้ทวงเรื่องการคงสิทธิ์เลขหมาย หรือ นัมเบอร์พอร์ตอะบิลิตี้ ขณะที่ ขณะนี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เหลือแต่การทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์
นายอภิสิทธิ์ กล่าวภายหลังปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ บทบาทขององค์กรอิสระต่อการประเทศว่า เมื่อเวลา 8.00 น. วันนี้ (5 ต.ค.)ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที พร้อมด้วยผู้บริหารจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ได้เข้าพบ กรณี ร่างหลักเกณฑ์เอกสารเชิญชวนผู้สนใจลงทุนเข้าประมูลใบอนุญาต 3จี หรือไอเอ็ม ได้จำกัดสิทธิ์ทั้งสององค์กรเข้าประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ สำหรับให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี“
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ กทช.ในการดำเนินการเรื่องนี้ โดยมองว่าถ้า กทช.สามารถตอบได้ทุกคำถามในเรื่อง 3จี ก็ให้ดำเนินการต่อไป เพราะควรทำให้รวดเร็วที่สุด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่กระทบความมั่นคง และประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ในเรื่องยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน หาก 3จีเกิดล่าช้ากว่านี้ อาจต้องปรับไปสู่เทคโนโลยีใหม่ไปเลย และล้าหลังเทคโนโลยียิ่งต่อไปอีก
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการอนุญาตเปิดประมูล 3จี มีหลายแห่งที่เปิดประมูลไปแล้วและเกิดความผิดพลาด เพราะมุ่งเน้นเสนอค่าตอบแทนสูง ทำให้ปัญหาอยู่ที่ผู้ใช้บริการและประชาชน ส่งผลให้เกิดการยื่นเงื่อนไขปรับราคา และสุดท้ายเป็นความลำบากใจของผู้บริหารสัญญา โดยมองว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องคำนึงถึงการออกแบบประมูลตั้งแต่ต้น เนื่องจากทุนผู้ประกอบการไทย สู้ผู้ประกอบการที่มาจากต่างประเทศไม่ได้อยู่ แล้ว และก็มีรัฐวิสาหกิจเข้ามาถือหุ้น
ด้าน นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทรูพยายามเสนอ 2 ประเด็น ต่อนายกรัฐมนตรี ข้อแรก คือ ทำยังไงไม่ให้เกิดต้นทุนในการประมูล 3จี มากเกินไป โดยมีราคาอยู่ที่ประมาณ 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากถ้าเกินกว่านี้ถือว่า ราคาสูงจะเกินไป ส่วนประเด็นที่สอง คือ เรื่องหลักเกณฑ์ 3จี ที่ไม่ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมการประมูล
ส่วน พลเอกชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธาน กทช. กล่าวว่า 3จี จะยังคงเดินหน้าตามกรอบที่กำหนด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพราะที่ผ่านมาสูญเสียเวลามามาก หากมัวแต่รีรอ 3จีคงไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีก็ระบุว่า กทช.เป็นองค์กรอิสระที่สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานได้เต็มที่ โดยวันที่ 7 ต.ค.2552 นี้จะนำข้อคิดเห็นจากการประชาพิจารณ์ร่างหลักเกณฑ์ไอเอ็มเข้าสู่ที่ประชุม โดยคาดการณ์ว่าภายในปลายเดือน ต.ค.2552 จะสามารถประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้
ประธาน กทช.กล่าวด้วยว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี กทช.มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อให้เกิดการพัฒนากิจการโทรคมนาคม โดยมี 5 นโยบาย ได้แก่ 1.การจัดทำแผนแม่บท และประกาศกฎเกณฑ์วางรากฐาน 2.เริ่มเปิดเสรีกิจการโทรศัพท์พื้นฐาน และอินเทอร์เน็ต รวมถึงปรับปรุงเลขหมายกิจการโทรศัพท์ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.เริ่มระบบเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ต และขยายบริการอินเทอร์เน็ต 4.มุ่งเน้นภาระกิจด้านสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ อีกทั้ง ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึง โดยจัดตั้งสถาบันเฉพาะด้านขึ้น และ 5 ในปี 2552 มีแผนดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุชุมชน และคลื่นความถี่ 3จี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งการลงทุน และส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่เข้าตลาด รวมถึงหลอมรวมกิจการโทรคมนาคม
...