อัยการสูงสุดรัฐเทนเนสซี เล่นงานหนัก ผู้ส่งออกยางรถยนต์ไทยใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในขั้นตอนการผลิต เผยเป็นคดีที่สองของไทยหลังบริษัทส่งออกกุ้งไปสหรัฐฯ เคยโดนกรณีเดียวกันไปเมื่อปีก่อน...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศดำเนินคดีและเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้ส่งออกไทยรายหนึ่ง ฐานใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในกระบวนการผลิตยางรถยนต์ที่ส่งออกไปจำหน่ายยังรัฐเทนเนสซี ซึ่งถือเป็นรัฐที่สี่ของสหรัฐอเมริกาที่บังคับใช้กฎหมายกับบริษัทต่างชาติที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยสำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐเทนเนสซี ระบุว่า บริษัทผู้ส่งออกยางรถยนต์ไทยรายดังกล่าวใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์ (Microsoft) ออโต้เดสก์ (Autodesk) และไทยซอฟต์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ (Thai Software Enterprises) ซึ่งเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์พจนานุกรม ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวได้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาและรัฐเทนเนสซี โดยกรณีนี้เป็นกรณีล่าสุดที่สำนักงานอัยการสูงสุดของสหรัฐฯ บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมต่อบริษัทต่างชาติซึ่งใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ (Unfair Competition Act : UCA)
นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทยให้ตระหนักถึงความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในสหรัฐอเมริกา โดยได้เตือนหลายบริษัทถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทย กรณีล่าสุดนี้ทางกรมฯ ได้เน้นย้ำให้เห็นว่าธุรกิจทุกประเภทจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจไม่ว่าในประเทศไทยหรือต่างประเทศ
นายวิคเตอร์ โดเมน แห่งสำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐเทนเนสซี ได้ออกประกาศว่า ล่าสุดได้มีการตกลงไกล่เกลี่ยคดีกับบริษัทยางรถยนต์จากประเทศไทยที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และสร้างความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมกับบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ในรัฐเทนเนสซีแล้ว โดยทางการรัฐเทนเนสซีได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการของไทยและสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเพื่อขอความสนับสนุนด้านหลักฐานทางกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ สำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย แมสซาชูเซตส์ และวอชิงตัน เคยบังคับใช้กฎหมายทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม เพื่อตอบโต้ผู้ประกอบการในประเทศไทย อินเดีย จีน และบราซิล ที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนเพื่อให้ได้มาซึ่งต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าอย่างไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการประเภทเดียวกันในสหรัฐฯ ซึ่งเลือกที่จะปฏิบัติตามกฎหมายของทั้งสามรัฐดังกล่าว
พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวว่า คดีนี้ถือเป็นครั้งที่สองที่ประเทศไทยตกเป็นเป้าหมายของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม และยังเป็นการเตือนภาคธุรกิจว่าจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้บริหารองค์กรธุรกิจควรใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะไม่ถูกตรวจสอบในอนาคต ทั้งนี้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่สูงถึง 72% ในประเทศไทยนับเป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในประเทศไทยและบริษัทไทยอย่างชัดเจน หวังว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป
นายสมพร มณีรัตนะกูล ในฐานะเจ้าของบริษัท ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และนายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวว่า เชื่อว่ากฎหมายเหล่านี้มีความเที่ยงธรรมและเป็นธรรม ทั้งยังเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการยอมจ่ายเงินซื้อซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กฎหมายเหล่านี้จะช่วยยกระดับนวัตกรรมในอนาคตที่สร้างสรรค์โดยบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ที่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนา
ทั้งนี้ยังมี The Open Computing Alliance (OCA) หน่วยงานระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิก เพื่อทำความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมโดยเน้นที่เทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา OCA ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้นำในภาคยานยนต์ของประเทศไทยเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง ขณะที่ กรมทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย บก.ปอศ. และสถานทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยได้ร่วมมือกับ OCA ในการส่งเสริมความรู้ให้แก่บริษัทไทยเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมและให้ข้อมูลเชิงลึกในการปฏิบัติตามกฎหมาย
นายปีเตอร์ ฟาวเลอร์ ผู้แทนสหรัฐฯ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การตกลงไกล่เกลี่ยคดีในครั้งนี้สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐเทนเนสซีมุ่งปกป้องอัตราการจ้างงานในรัฐด้วยมาตรการนี้ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจึงมีความสำคัญต่อธุรกิจในประเทศไทยและสหรัฐฯ เหมือนกัน ซึ่งจะต้องเดินหน้าหารือเพื่อยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป
นายไมเคิล มัดด์ เลขาธิการ Open Computing Alliance ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ขอเตือนบริษัทผู้ส่งออกในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิกเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมที่เข้มงวดมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา กฎหมายเหล่านี้กำหนดให้ผู้ประกอบการทุกคนต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ถูกลิขสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจทุกด้านหรือมีความเสี่ยงต่อการถูกยึดสินค้าที่ท่าเรือในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ยังมีการประมาณการว่า การใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายทั่วโลกทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์สูญเสียรายได้มากกว่า 63,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2554 โดยการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายเชิงพาณิชย์ในเอเชียอยู่ในระดับสูงสุด ประเทศจีนซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีการละเมิดลิขสิทธิ์ 77% สำหรับประเทศที่เป็นศูนย์กลางการผลิตในระดับภูมิภาคอย่างประเทศไทยมีการละเมิดลิขสิทธิ์ 72% อินโดนีเซีย 86% และเวียดนาม 81% มาตรการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยทำได้เพียงปกป้องชื่อเสียงและธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในระดับโลก เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน.
...