เปิดขายซองประมูลทีวีดิจิตอลวันที่ 2 คึกคักกว่าวันแรก เอกชนสนใจมาซื้อซอง 16 ราย 23 ซอง รวม 2 วัน 23 ราย 34 ซอง ขณะที่ กสท.โล่งไม่ต้องขยายเวลาซื้อซอง...

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. นายพยุงศักดิ์ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด กล่าวว่า เตรียมซื้อซองเอกสารการประมูลทีวีดิจิตอล 2 ซอง คือ ช่องข่าว และช่องทั่วไป (วาไรตี้) ระดับความคมชัดสูง (เอชดี) ส่วนเรื่องที่หลายบริษัทเตรียมซื้อซองการประมูลหลายซองนั้น มองว่า เป็นเรื่องของขั้นตอนการทำแผนธรุกิจ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.เงินเข้าประมูล 2.แผนรายได้ 3.แผนคืนทุน 15 ปี

"ที่บริษัทต้องเลือกซื้อ 2 ซอง ก็สอดคล้องกับเอกชนรายอื่นที่ซื้อหลายซอง เพราะความไม่ชัดเจนของการกำหนดวันประมูลในแต่ละประเภทรายการ รวมถึงราคาโครงข่ายที่ยังไม่กำหนดออกมา ส่วนจะชนะการประมูลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะในวันแข่งขันการประมูล ที่ต้องดูความรุนแรงในการแข่งขัน"

สำหรับการลงทุนรองรับทีวีดิจิตอล วอยซ์ทีวี ได้พูดคุยกับเจ้าของโครงข่ายทั้ง 4 โครงข่ายไว้เบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกโครงข่ายไหน เพราะต้องดูราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพ และการแข่งขันด้วย

นายสุรการ ศิริโมทย์ ผู้ช่วยประสานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินการลงทุน บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย ไทยรัฐออนไลน์ว่า สาเหตุที่เลือกซื้อซองช่องทั่วไป สแตนดาร์ด และไฮเดฟฟิเนชั่น ถือเป็นกลยุทธ์การลงทุน ที่บริษัทเตรียมไว้เพราะข้อกำหนดของ กสทช.หลายเรื่องไม่ชัดเจน

"ที่เลือกซื้อหลายซอง อยากให้ใช้ว่าเป็นกลยุทธ์มากกว่าเผื่อเลือก เพราะคณะกรรมการของบริษัทเตรียมแผนต่างๆ ไว้ เพื่อมุ่งหวังให้เป็นบริษัทที่มีคุณภาพและบริหารต้นทุนอย่างเหมาะสม เพราะทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่าย และราคาตั้งต้นก็แตกต่างกัน และไม่รู้ว่าจะจบลงที่ราคาเท่าไร แต่บริษัทได้เตรียมเงินไว้ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท" ผู้ช่วยประสานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินการลงทุนเวิร์คพอยท์ กล่าว

สำหรับความพร้อมในการออกอากาศหลังการประมูล บริษัทมีความพร้อมประมาณ 80-90% มาตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะในเรื่องของสตูดิโอ ที่บริษัทมีอยู่แล้ว 8 สตู ส่วนผังรายการในช่วงแรกจะเน้นผลิตเองและซื้อเข้ามา ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรให้มาร่วมผลิต

นายวิทเยนทร์ แสนห้าว ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเข้าซื้อ 3 ซอง คือ ช่องทั่วไป สแตนดาร์ด ช่องทั่วไป ไฮเดฟฟิเนชั่น และช่องเด็ก ส่วนรายละเอียดอื่นๆ อยู่ในฝ่ายของโทรทัศน์ที่จะเข้าร่วมการประมูลต่อไป

นายรัตนบุรี อติศัพท์ กรรมการผู้จัดการ สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ กล่าวว่า บริษัทสนใจซื้อ 1 ซอง ประเภท ข่าว ส่วนเรื่องงบประมาณการประมูลอยู่ที่คณะกรรมการเป็นฝ่ายกำหนด ขณะที่เรื่องโครงข่ายยังไม่ตัดสินใจเลือก เพราะต้องดูความชัดเจนทั้งเรื่องราคาและคุณภาพ และไม่มีความกังวลเรื่องการเข้าประมูล พร้อมทำตามกฎกติกาการประมูลของ กสทช. และยืนยันสู้เต็มที่

นางสาววรวีร์ วูวนิช รองกรรมการผู้จัดการ สายงานผลิต บริษัท 3เอ.มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า ซื้อ 1 ซอง เพราะมีความพร้อมและประสบการณ์ผลิตข่าว เพราะปัจจุบันได้ทำรายการข่าว 5 หน้า 1 บันเทิง 5 หน้า 1 กอสซิปบันเทิง 5 และข่าวค่ำ ททบ.5 และบริษัทได้มีการปรับเนื้อหาและรูปแบบรายการให้เข้ากับการออกอากาศระบบดิจิตอลด้วย

นอกจากนี้ ยังมี บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด ในนามนสพ.เดลินิวส์ เข้าซื้อซองประเภทข่าว 1 ซอง

นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการบริหารสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวว่า สาเหตุที่บริษัท ซื้อ 4 ซอง เพราะไม่แน่ใจว่าจะยื่นหมวดไหน และกลัวเสียโอกาส เพราะ กสทช. ไม่มีความชัดเจนทั้งราคาโครงข่าย และกฎระเบียบต่างๆ ในการทำรายการ และยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกโครงข่ายเพราะยังไม่มีรายละเอียด และยังไม่พบโครงข่ายที่ดีที่สุดในการในการลงทุนระยะเวลาถึง 15 ปี

"บริษัทกลัวเสียโอกาส ไม่เหมือนรายอื่นที่ซื้อน้อย เพราะเลือกมาแล้ว ว่าจะเข้าประมูลหมวดไหน แต่เรายัง ยืนยันแค่กลัวเสียโอกาส ไม่ได้ร่ำรวยอย่างกระแสข่าวที่ออกมา" รองกรรมการบริหาร ช่อง 3 กล่าว

นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า บริษัท คงไม่ทำรายการหลายช่อง เพราะการทำ 1 ช่อง ก็แย่แล้ว เป็นทีวีรายการต้อง 24 ชั่วโมง 7 วันไม่มีวันหยุด และการทำทีวี ต้องสร้างการจดจำ และความคุ้นเคยให้คนมาดูช่อง ถ้ามีหลายช่องก็คงลำบาก

สำหรับการเปิดจำหน่ายซองการประมูลทีวีดิจิตอลวันที่ 2 มีผู้สนใจเข้าซื้อจำนวน 16 ราย  จำนวน 23 ชุด ประกอบด้วย 1.หมวดเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีผู้ซื้อจำนวน  4 ราย ได้แก่ บริษัท ไทยทีวี จำกัด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท เนชั่น คิดส์ จำกัด

2. หมวดข่าวสารและสาระ มีผู้ซื้อจำนวน 8 ราย ได้แก่ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด บริษัท ไทยทีวี จำกัด บริษัท โมโน เจนเนอเรชั่น จำกัด บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด, บริษัท ไอ-สปอร์ต มีเดีย จำกัด และบริษัท 3เอ. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และ บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด

3.หมวดทั่วไปแบบความคมชัด ปกติ (ทั่วไป SD) มีผู้ซื้อจำนวน 7 ราย ได้แก่ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด บริษัท ไทยทีวี จำกัด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด และบริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด

4. หมวดทั่วไปแบบความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) มีผู้ซื้อเอกสารการประมูลจำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด และบริษัท โมโน ทีวี จำกัด

สำหรับการเปิดซื้อซอง 2 วัน ที่ผ่านมา มีผู้ซื้อซองรวมทั้งหมด รวม 34 ช่อง แบ่งเป็นหมวดเด็ก 5 ซอง หมวดข่าว 10 ซอง ทั่วไป (SD) 11 ซอง และ ทั่วไป (HD) 7 ซอง คิดเป็นเงินจำนวน 34 ล้านบาท นำส่งเข้าสำนักงาน กสทช. ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 2.38 ล้านบาท นำส่งเข้ากระทรวงการคลัง

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า การซื้อของเอกชนเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ และมั่นใจในกระบวนการที่เป็นไปตามประกาศ กสทช.

ส่วนกรณีที่เอกชนหลายราย มองว่า กสท.ตั้งใจจะหาเงิน เพราะไม่ได้กำหนดวันประมูลของแต่ละหมวดที่แน่นอน ทำให้ต้องซื้อหลายซองนั้น ประธาน กสท. กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่ากำหนดวันประมูลไม่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อซองของเอกชน การซื้อซองเพื่อให้มีสิทธิยื่นซองในหมวดหมู่ที่ตนเองซื้อ และ กสท.จะกำหนด วัน และ ลำดับ การประมูล หลังการยื่นซอง เพราะต้องทราบก่อนว่ามีผู้ยื่นเท่าไร และไม่กังวลว่าเอกชนจะยื่นครบหรือไม่ เพราะเอกชนต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ

...