คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน เสนอ 5 ข้อ กรณีซิมส่อดับจากการหมดอายุสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz...

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. มีรายงานว่า ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้จัดให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น “ทางออกผู้บริโภค กรณีซิมดับ จากการหมดอายุสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 HHz” และออกแถลงการณ์ระบุว่า เนื่องจากวันที่ 15 กันยายน 2556 จะเป็นการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งให้บริการโดยบริษัททรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (มหาชน) ซึ่งหมายความว่าหลังจากวันดังกล่าว ใครจะมาแตะต้องคลื่นนี้ไม่ได้ ถือว่าผิดกฎหมายทันที ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ซิมดับได้ อย่างไรก็ตามเราขอยืนยันว่า ในฐานะคณะทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เราไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ซิมดับ ซึ่งเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้บริการ และเห็นว่าคลื่นต้องเข้าสู่ระบบการให้ใบอนุญาตเพื่อให้เกิดการแข่งขัน แต่คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน มีข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นสำคัญดังนี้คือ

การที่ กสทช. ออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... เป็นการยืดอายุการให้บริการซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ให้บริการ และเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการดำเนินการล่าช้า จนถึงการไม่ดำเนินการเพื่อให้เกิดการประมูลคลื่นได้ทันก่อนการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของ กสทช. โดยใช้ผู้บริโภคจำนวนกว่า 17 ล้านเลขหมายเป็นตัวประกัน จากปัญหาซิมดับ

เนื่องจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เป็นเหตุการณ์ที่ทราบล่วงหน้า และมีการเสนอความเห็นให้ข้อมูลเตือน กสทช. ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้จากหลายฝ่าย รวมถึงคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ที่ได้มีการเชิญผู้ให้บริการททั้ง 2 ราย เพื่อหารือปัญหาการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2555 เพื่อให้เกิดการเตรียมการในการแก้ไขปัญหา ซึ่งตัวแทนจากทั้งสองบริษัทระบุว่า ยังไม่ได้รับความชัดเจนจาก กสทช. ว่าจะจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานหรือไม่

ต่อมา แม้ว่า กสทช. จะได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า 1800 และคณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าว ได้มีข้อเสนอให้กับ กสทช. ตั้งแต่เดือนมกราคมหรือเป็นเวลา 9 เดือนก่อนเหตุการณ์สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ที่เสนอให้มีการจัดประมูลคลื่นให้เร็วที่สุด รวมถึงการเสนอแผนในการเยียวยาผู้ใช้บริการ เช่น การโอนย้ายผู้ใช้บริการเพื่อป้องกันปัญหาซิมดับ ฯลฯ และที่สำคัญคือ คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. เห็นว่า การพิจารณาขยายระยะเวลาในการใช้งานคลื่นความถี่ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากกฎหมายของไทยระบุไว้ชัดเจนว่าการจะนำคลื่นไปใช้นั้นจะต้องด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น ดังนั้นจึงควรดำเนินการประมูลคลื่นความถี่อย่างเร่งด่วน

...

แต่เสียงเหล่านั้นก็ไม่ถูกนำไปพิจารณาเพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทั้งที่การประมูลคลื่นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุการณ์สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

ดังนั้น การที่ กสทช. ออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... จึงเป็นการสะท้อนการทำงานที่ล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ ของ กสทช. ในการปฏิบัติหน้าที่ที่ควรจะเป็นเพื่อการแก้ไขปัญหากรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันนี้ที่การประมูลคลื่นไม่สามารถดำเนินการได้ทันเหตุการณ์สิ้นสุดสัญญาแน่นอนแล้วนั้น คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน จึงมีข้อเสนอต่อสถานการณ์ปัจจุบันนี้คือ

1.    คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ขอให้มีการเร่งรัดการดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายให้เต็มตามศักยภาพคือ 300,000 เลขหมายต่อวัน

2.    กสทช. ต้องให้มีการเพิ่มประเด็นในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ให้มากกว่าที่กำหนด

3.    กสทช. ต้องเร่งตั้งคณะทำงานประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และกำหนดวันในการจัดการประมูลคลื่นโดยเร่งด่วน

4. บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองรายคือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (มหาชน) จะต้องคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ให้บริการ และในกรณีที่บริษัทจะตัดสัญญาณผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พรีเพดบริษัทจะต้องแจ้งผ่านข้อความสั้นให้ทราบล่วงหน้าก่อน 3 วัน พร้อมทั้งระบุจำนวนเงินคงค้างในระบบให้ผู้บริโภครับทราบและเพื่อให้ขอคืนเงินได้ด้วยอย่างชัดเจน

5. ขอให้ซุปเปอร์บอร์ดดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ในกรณีที่ กสทช. ไม่สามารถดำเนินการให้เกิดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ทั้งที่เป็นภาระหน้าที่ที่ทราบล่วงหน้ามาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเป็น กสทช.