คณะทำงานฯ คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เตรียมเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ หาข้อสรุปใน 7 ประเด็น ยันไม่ได้เอื้อประโยชน์เพื่อยืดอายุสัมปทาน โยนเอกชนกับรัฐวิสาหกิจเคลียร์โครงสร้างการให้บริการกันเอง...

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายแก้วสรร อติโพธิ ประธานคณะทำงานการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เปิดเผยว่า คณะทำงานได้สรุปประเด็นที่จะขอรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในร่างประกาศ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง “มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตหรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ...” โดยจะรับฟังความคิดเห็นใน 7 ประเด็น ได้แก่ เรื่องอำนาจทางกฎหมาย เนื้อหาความคุ้มครอง ค่าธรรมเนียมการคงสิทธิเลขหมาย ผู้มีหน้าที่ให้ความคุ้มครอง ระยะเวลาคุ้มครอง การหยุดให้บริการ และค่าธรรมเนียม

ประธานคณะทำงานการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ กล่าวว่า จากนี้คณะทำงานจะส่งคำอธิบายพร้อมประเด็นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นหน่วยงานราชการ อาทิ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง และรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเอกชนคู่สัญญาสัมปทานทั้งหมด สมาคมโทรคมนาคมต่างๆ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไป เพื่อศึกษาและให้ความคิดเห็นโดยสรุปส่งให้สำนักงาน กสทช.

นายแก้วสรร กล่าวต่อว่า คณะทำงานฯ ได้เตรียมแต่งตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นจำนวน 3 ท่าน ที่จะเป็นคณะกรรมการฯ ที่มีความเป็นกลาง โดยได้ทาบทามนายดิเรก เจริญผล ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานคณะอนุกรรมการเลขหมายโทรคมนาคม กสทช. และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ อีก 2 ท่าน

ประธานคณะทำงานการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากสัญญาสัมปทานแรกจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในวันที่ 15 กันยายนนี้ เป็นการสิ้นสุดสัญญาบริการคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ด้วยบทบาทของ กสทช. จึงต้องมีมาตรการกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และมีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเร่งโอนย้ายผู้ใช้บริการให้เสร็จภายในช่วงเวลาคุ้มครอง ซึ่งต้องไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน โดยระหว่างนี้ผู้ประกอบการจะไม่สามารถรับผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มเข้าสู่ระบบเดิมได้อีก ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวไม่ได้เป็นการต่ออายุสัมปทานและการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ตามมาตรา 45 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 แต่เป็นการกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

นายแก้วสรร กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงสร้างการให้บริการในระหว่างมาตรการการคุ้มครองนั้น ให้เอกชนกับรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่ร่วมกัน และไปปรึกษาเจรจาตกลงกันว่าจะใช้โครงสร้างใดในการให้บริการ เช่น ให้เอกชนเช่าใช้โครงข่าย หรือจะเป็นอีกทางหนึ่งคือให้โอนลูกค้ามาให้รัฐวิสาหกิจเข้าเป็นคู่สัญญาแทน ส่วนเอกชนก็เป็นผู้รับเหมารับงานบริการและการตลาดไปทำอีกส่วนหนึ่ง โดย กสทช.จะไม่เข้าไปกำหนดว่าจะต้องเป็นรูปแบบใด ซึ่งจะต้องสรุปรูปแบบการให้บริการหลังจากประชาพิจารณ์แล้ว 60 วัน

ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้ประกาศลงในเว็บไซต์ กสทช. เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเสนอความคิดเห็น ตามเอกสารแบบฟอร์มการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและส่งแบบฟอร์มสรุปความคิดเห็นมายัง กสทช. ภายในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต้องแจ้งความประสงค์ในแบบฟอร์มเพื่อขอเข้าร่วมนำเสนอความเห็นหรือให้ข้อมูลในประเด็นต่างๆ ด้วยวาจาต่อคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 25 กรกฎาคม ในเวลา 09.00-15.00 น. ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ เพื่อคณะทำงานฯ จะนำผลที่ได้รับจากการเปิดประชาพิจารณ์ไปปรับปรุงร่างฯ และนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อพิจารณาต่อไป.

...